วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

เตรียมการฝึกซ้อมสวนสนาม ประเด็นท่าวันทยาวุธขณะเคลื่อนที่

ประเด็นท่าวันทยาวุธ  ขณะเคลื่อนที่  
คำบอกคำสั่ง  ใช้คำบอกคำสั่งว่า  "ระวัง  แลขวา  ทำ"
คำบอกคำสั่ง  ตกเท้าขวาทั้งหมด    
๑. "พัน ๕"  คำบอกคำสั่งลงเท้าขวา  (ตกเท้าขวา) เท้าซ้ายฟรี (ก้าวปกติ)
๒."ระวัง" คำบอกคำสั่งลงเท้าขวา เท้าซ้ายฟรี (ก้าวปกติ)   มือขวายกกระบี่ปฏิบัติในท่าวันทยาวุธจังหวะที่ ๑  มือซ้ายพลิกจับฝักกระบี่ลักษณะทิ้งดิ่ง
๓."แลขวา" คำบอกคำสั่งลงเท้าขวา (ตกเท้าขวา) เท้าซ้ายฟรี (ก้าวปกติ)
๔."ทำ" คำบอกคำสั่งลงเท้าขวา   แต่ยังไม่ปฏิบัติ เท้าซ้ายฟรี (ก้าวปกติ)
๕.เมื่อเท้าซ้ายถึงพื้น    มือขวาวาดกระบี่ลงในท่าวันทยาวุธจังหวะที่ ๒  สลัดหน้า(ทั้งใบหน้า)มองประธาน  พร้อมนับ ๑  (เป็นก้าวที่ ๑)

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

คนขายเสรีภาพ

ขณะนายกฯอภิสิทธิ์เดือดเนื้อร้อนใจที่ "มีคนอยู่ดีๆ มาว่าว่าผมขายชาติ" (รายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์", เว็บไซต์ คมชัดลึก, 8 สิงหาคม 2553) ผมกลับคิดว่าเรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับอนาคตการเมืองไทยและหลายประเทศในโลกอยู่ที่อาการ "ขายเสรีภาพ" มากกว่า

นี่เป็นประเด็นหลักของหนังสือซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักวิเคราะห์การเมืองอังกฤษ-อเมริกันอย่างกว้างขวางเรื่อง Freedom for Sale : How We Made Money and Lost Our Liberty (เสรีภาพสำหรับขาย : เราทำมาหาเงินและสูญเสียเสรีภาพไปได้อย่างไร-ตีพิมพ์ในอังกฤษเมื่อกันยายน ค.ศ. 2009, และฉบับอัพเดตออกในอเมริกา มีนาคม ศกนี้) เขียนโดย จอห์น แคพเนอร์และกำลังแปลเป็นภาษาอิตาเลียน, รัสเซีย, อาหรับ ฯลฯ

แคพเนอร์เป็นชาวอังกฤษที่เกิดในสิงคโปร์เมื่อ ค.ศ.1962 ประกอบอาชีพเป็นนักเขียนนักวิจารณ์และผู้ประกาศข่าว

เขาเคยเป็นผู้สื่อข่าวประจำกรุงเบอร์ลิน (ช่วงกำแพงเบอร์ลินแตกและเยอรมนีรวมประเทศ) และมอสโก (ช่วงรัฐประหารโดยแกนนำคอมมิวนิสต์หัวเก่าล้มเหลวและระบอบโซเวียตล่มสลาย) ให้หนังสือพิมพ์ Daily Telegraph และสำนักข่าว Reuters อยู่เกือบ 10 ปี (ค.ศ.1984-กลางคริสต์ทศวรรษ 1990) ก่อนจะกลับอังกฤษมาเป็นหัวหน้าผู้สื่อข่าวการเมืองให้หนังสือพิมพ์ Financial Times และนักวิจารณ์การเมืองให้สำนักข่าว BBC

เขาประสบความสำเร็จสูงสุดในวิชาชีพหนังสือพิมพ์เมื่อเข้าเป็นบรรณาธิการการเมือง (จาก ค.ศ.2002) และเลื่อนเป็นบรรณาธิการใหญ่ของนิตยสาร New Statesman (ค.ศ.2005-2008) โดยปรับปรุงนิตยสารจนยอดขายขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี เขาได้รางวัลต่างๆ อาทิ :

- รางวัล Journalist of the Year และ Film of the Year ในปี ค.ศ.2002 จาก Foreign Press Association สำหรับภาพยนตร์สารคดีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่เขาทำให้ BBC เรื่อง The Ugly War

- รางวัล Book of the Year ในปี ค.ศ.2003 จากหนังสือพิมพ์ Times, Sunday Times และ Observer สำหรับหนังสือของเขาเรื่อง Blair"s Wars

- รางวัล Current Affairs Editor ประจำปี ค.ศ.2006 จาก British Society of Magazine Editors

- ล่าสุดหนังสือ Freedom for Sale ของเขาก็ได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายเพื่อชิงรางวัล Orwell Prize อันทรงเกียรติเมื่อเดือนพฤษภาคมศกนี้

ปัจจุบัน จอห์น แคพเนอร์ เป็นหัวหน้าผู้บริหารของ Index on Censorship อันเป็นองค์การส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกทั่วโลกของอังกฤษ ที่พัฒนาขึ้นมาจากนิตยสารชื่อเดียวกันตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 
 
คำถามหลักของแคพเนอร์ใน Freedom for Sale คือ : -

"ทำไมผู้คนมากหลายทั่วโลกไม่ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรม, สภาพการณ์, ภูมิศาสตร์, หรือประวัติศาสตร์ใด, ดูเหมือนเต็มใจจะสละเสรีภาพบางอย่างเพื่อแลกกับความมั่นคงหรือเจริญรุ่งเรือง?"

คำถามนี้กระแทกใจเขาเมื่อปลายปี ค.ศ.2007 จากนั้นแคพเนอร์ก็ออกเดินทางสำรวจแสวงหาคำตอบไปหลายประเทศทั่วโลก ได้แก่ สิงคโปร์ จีน รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย อิตาลี อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

เกณฑ์ในการเลือกของเขาคือ เป็นประเทศภายใต้ระบอบอำนาจนิยม (authoritarianism - 4 ประเทศแรก) ไปจนถึงเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy - 4 ประเทศหลัง) ที่ล้วนยอมรับเงื่อนไขของโลกาภิวัตน์

โดยหลีกเลี่ยงประเทศภายใต้ระบอบทรราชที่ปกครองด้วยปากกระบอกปืนอย่างไม่อินังขังขอบฉันทานุมัติของประชาชนอย่างพม่า เกาหลีเหนือ ซิมบับเว ฯลฯ และประเทศที่มีเงื่อนไขเฉพาะพิเศษ เช่น อิสราเอลที่ยึดครองและขัดแย้งอยู่กับปาเลสไตน์, แอฟริกาใต้ภายหลังระบอบแบ่งแยกสีผิวซึ่งยังคงมรดกความเหลื่อมล้ำแตกแยกระหว่างชนต่างสีผิวอยู่, เวเนซุเอลาภายใต้ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ที่อาศัยทรัพยากรน้ำมันอันอุดมดำเนินนโยบายประชานิยมเอียงซ้ายและต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา ทำให้กลุ่มทุนต่างๆ และคนชั้นกลางแปลกแยกเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล เป็นต้น

แคพเนอร์ใช้สิงคโปร์ในฐานะถิ่นกำเนิดซึ่งเขาผูกพันทางจิตใจเป็นพิเศษ เป็นเสมือนต้นแบบของการขายเสรีภาพด้วยแนวคิด "ข้อตกลงที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร" หรือ "การได้อย่างเสียอย่าง" (the unwritten pact or tradeoff) ซึ่งทำให้เพื่อนฝูงชาวสิงคโปร์ของเขา - ทั้งที่เคยเดินทางท่องเที่ยวมาแล้วทั่วโลกและจบอุดมศึกษาชั้นสูง - กลับปกป้องระบบที่ยกย่องความสำคัญของการเหนี่ยวรั้งจำกัดเสรีภาพปัจเจกบุคคลเพื่อแลกกับสิ่งที่เรียกว่า "ประโยชน์ส่วนรวม"

แรกเริ่มเดิมทีเขาคิดว่านี่เป็นกลุ่มอาการทางการเมืองเฉพาะตัวของโลกตะวันออกที่มองต่างมุมและกำลังลุกขึ้นมาท้าทายโลกตะวันตกอย่างฮึกเหิมในทำนอง "นโยบายมุ่งมองบูรพา" (Look East Policy) ของอดีตนายกฯมหาธีร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซีย หรือ "ค่านิยมเอเชีย" (Asian values) ของอดีตนายกฯลี กวน ยู แห่งสิงคโปร์

แต่เมื่อเพ่งสำรวจพินิจอย่างลึกซึ้ง แคพเนอร์ก็พบว่า อ้าว, เราทำกันอย่างนั้นทั้งนั้นนี่หว่า ไม่ว่าตะวันออกหรือตะวันตก, อำนาจนิยม กึ่งอำนาจนิยมหรือเสรีประชาธิปไตย, ขงจื๊อหรือคริสต์, สิงคโปเรียนหรือแยงกี้..เราต่างก็ใกล้เคียงกันกว่าที่คิดและยอมเสียสละเสรีภาพของเราเพื่อแลกให้ได้เงินมาด้วยกันทั้งนั้น 
 
ในความหมายนี้ ข้อตกลงขายเสรีภาพจึงเป็นสากล ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบางวัฒนธรรมหรือระบอบการเมือง

แน่นอนรูปธรรมการคลี่คลายขยายตัวของข้อตกลงขายเสรีภาพย่อมผันแปรไปบ้างตามสภาพการณ์, วัฒนธรรมและอัตราเร่งที่แตกต่างกัน พูดง่ายๆ เราต่างก็เลือกเสรีภาพที่เราพร้อมจะเสียสละชนิดต่างๆ กันไปในแต่ละประเทศของตน

บางประเทศก็ยอมสละเสรีภาพในการแสดงออก (เช่น สิงคโปร์)

บ้างก็สละสิทธิ์ในการโหวตไล่รัฐบาลออกจากตำแหน่ง (เช่น จีน)

บ้างก็สละศาลตุลาการที่เที่ยงธรรมไม่ลำเอียง (เช่น กัมพูชาและมาเลเซีย)

บ้างก็สละความสามารถที่จะดำเนินชีวิตปกติโดยไม่ถูกสปายสายลับดักฟังสอดแนมล้วงอ่านหรือกล้องวงจรปิดตามส่องดู (เช่น อเมริกาและอังกฤษ)

บ้างก็ยอมเสียสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะเพื่อแสดงความเห็นทางการเมือง (เช่น พื้นที่ภายใต้ประกาศภาวะฉุกเฉินยืดเยื้อทั่วโลก) ฯลฯ

เพราะเอาเข้าจริงข้อเหนี่ยวรั้งจำกัดสิทธิเสรีภาพเหล่านี้มันกระทบแค่คนจำนวนน้อย ซึ่งก็ล้วนแต่เป็น "พวกตัวป่วน ชอบหาเรื่อง ก่อความวุ่นวายมือไม่พายเอาตีนราน้ำแถมโคลงเรืออีกต่างหาก" หรือ "พวกไม่รักชาติ ไม่สมานฉันท์ ไม่รู้ใช่คนไทยหรือเปล่า?" อาทิ นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่วิจารณ์รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ หรือยิงคำถามและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ภาพลักษณ์ของบรรดา ฯพณฯ และประเทศชาติเสียหาย, นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนผู้ว่าความให้สื่อมวลชนเหล่านี้หรือปกป้องผู้ต้องหาที่ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานหรืออุ้มหายหรือทำร้ายจนถึงแก่ความตาย, พวกเอ็นจีโอ, นักการเมืองฝ่ายค้าน, แกนนำเสื้อสี.....

ขณะที่คนส่วนใหญ่ 99% ของประเทศไม่เห็นเค้าเดือดเนื้อร้อนใจอะไรด้วย ต่างก็ดำเนินชีวิต ทำมาหาเงิน เดินห้างติดแอร์เย็นฉ่ำช็อปปิ้งตามใจชอบเป็นปกติ...แล้วพวกมึงแค่ไม่กี่คนจะโวยวายทำไรฟะ?

ข้อตกลงขายเสรีภาพโดยเนื้อหาจึงเป็นการขายเสรีภาพสาธารณะ (public freedoms) อันเกี่ยวกับพฤติกรรมในพื้นที่สาธารณะ อย่างเช่น เสรีภาพในการชุมนุม, เสรีภาพในการรวมตัวก่อตั้งสมาคมและองค์การ, เสรีภาพในการพูด, เสรีภาพในการเลือกตั้งในระบบหลายพรรค ฯลฯ หรือนัยหนึ่งเสรีภาพในการเคลื่อนไหวกดดันอย่างแข็งขันให้เกิดผลต่อเรื่องส่วนรวมร่วมกัน - ซึ่งก็คือสิ่งที่ ฯพณฯ มักเรียกว่าเสรีภาพในการก่อความวุ่นวายนั่นเอง

เสรีภาพสาธารณะแบบนี้มีใครที่ไหนอยากใช้หรือ? ใครสักกี่คนกันที่ต้องการหาญกล้าลุกขึ้นท้าทายบรรดา ฯพณฯ ผู้นั่งเรียงแถวหน้าสลอนประกาศคำสั่งและแถลงข่าวอยู่บนจอทีวีเหล่านั้น?

มิสู้ขายมันทิ้งเพื่อแลกกับเสรีภาพเอกชน (private freedoms) ในอันที่จะดำรงชีวิตโดดเดี่ยวเหี่ยวๆ เห่ยๆ เหมือนอะตอมของตัวเองดีกว่า อย่างเช่น เสรีภาพในการเลือกโรงเรียนให้ลูก, เสรีภาพในการเดินทางท่องเที่ยว, เสรีภาพในการแสดงออกได้ตามใจในเงื่อนไขพื้นที่เอกชนของตัว, เสรีภาพในการดำเนินวิถีชีวิตเอกชนของกูแบบที่กูปรารถนา, เสรีภาพในการแต่งกายทำผมลงรอยสักบนเนื้อตัวตามแฟชั่น, เสรีภาพในการซื้อหาบ้านช่องรถราข้าวของเครื่องใช้, และเหนืออื่นใดคือเสรีภาพในการทำมาหาเงินและจับจ่ายใช้เงิน

นี่ไม่ใช่หรือเสรีภาพที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา? มีแค่นี้ก็ "ฟรี" พอแล้วไม่ใช่หรือ?

แคพเนอร์วิเคราะห์ว่าในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา พลังการเมืองที่รองรับข้อตกลงขายเสรีภาพดังกล่าวในประเทศต่างๆ มักประกอบด้วยพันธมิตรของ [ผู้นำการเมือง+ภาคธุรกิจ+คนชั้นกลาง] ถึงไม่ระบุชัดเป็นลายลักษณ์อักษรโต้งๆ แต่ข้อตกลงนี้ก็ดำรงอยู่ในรูปชุดความเข้าใจที่ชัดเจนทว่าแนบเนียนไม่โฉ่งฉ่าง ประเด็นสำคัญของข้อตกลงดังกล่าวในทางปฏิบัติก็คือ จำนวนผู้ได้ประโยชน์จากมันจะต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้นและรัฐต้องยืดหยุ่นพลิกแพลงพอที่จะตอบสนองความต้องการต่างๆ ของพวกเขา

ความต้องการที่ว่าก็ได้แก่รัฐต้องช่วยค้ำประกันและอุดหนุนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน, กฎหมายนิติกรรม-สัญญา, การปกป้องสิ่งแวดล้อม, การเลือกไลฟ์สไตล์ต่างๆ, และสิทธิในการเดินทาง ทว่าเหนืออื่นใดในยุคโลกาภิวัตน์ทางการเงินนี้คือ รัฐต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในอันที่จะทำมาหาเงินและเก็บสะสมเงิน

และเพื่อช่วยให้การขายเสรีภาพดำเนินไปได้อย่างสะดวกกายสบายใจก็ต้องมีลัทธิบริโภคนิยมเป็นยาสลบหรือยาชาช่วยกล่อมประสาททางการเมืองให้มึนตึ้บสงบลงได้ชะงัดนักแล