สรุปย่อ ป.วิ.อาญา
ผู้เสียหาย ( มาตรา 2(4))
ความหมาย
- ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2(4) ผู้เสียหาย หมายถึง ผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดอาญา ฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งผู้มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา 4,5,6 หรือ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา หมายถึง กรณีที่มีการกระทำความผิดทางอาญาฐานใดฐานหนึ่งเกิดขึ้น บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดดังกล่าว และบุคคลนั้นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
- ผู้เสียหายโดยนิตินัย หมายถึง ผู้ที่ไม่มีส่วนในการกระทำผิด หรือ ไม่เป็นผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน หรือ รู้เห็นในการกระทำผิด หรือ ไม่เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ที่ผิดกฎหมายนั้นด้วย
- ผู้เสียหายต้องเป็นบุคคล หรือนิติบุคคล เท่านั้น
ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง
ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง ได้แก่ ผู้ถูกหลอกลวง และเจ้าของทรัพย์ที่ถูกฉ้อโกง (ฎ.4684/28 ป. ) เรื่องนี้ จำเลยหลอกลวงลูกค้า และเอาเงินเฉพาะส่วนที่เกินราคาสินค้าไป ผู้ที่ถูกหลอกลวงก็คือลูกค้าที่ซื้อสินค้า และเงินส่วนที่เกินก็เป็นของลูกค้า ลูกค้าจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของสินค้าแต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าสินค้าที่ลูกค้าจ่ายเกินนั้น การที่จำเลยในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมรับเงินไว้ จึงไม่ถือว่าเป็นการรับไว้แทนโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย
- ผู้ถูกหลอกลวง เป็นผู้เสียหายฐานฉ้อโกงได้ แม้จะมิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ (ฎ.1341/95) เช่นการหลอกลวงให้ทำนิติกรรมที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ผู้ถูกหลอกลวงเป็นผู้เสียหาย แม้ผู้อื่นจะเป็นผู้ทำนิติกรรมตามที่จำเลยหลอกลวงก็ตาม (ฎ.1931/14) หรือผู้อื่นเป็นผู้ส่งทรัพย์ให้ก็ตาม (ฎ.1064/91)
- ผู้ดูแลรับผิดชอบทรัพย์ ก็เป็นผู้ถูกหลอกได้ จึงเป็นผู้เสียหาย (ฎ. 1352/44)
- จำเลยเอาเช็คไปปลอมลายมือชื่อของผู้รับเงินสลักหลังโอนให้จำเลย แล้วนำไปหลอกลวงธนาคารให้จ่ายเงิน เป็นการกระทำต่อธนาคาร ไม่ได้กระทำต่อผู้รับเงิน ดังนี้ธนาคารและเจ้าหน้าที่ธนาคารซึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพย์ ที่ถูกหลอก เป็นผู้เสียหายฐานฉ้อโกง ส่วนผู้ที่มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค ไม่ใช่ผู้เสียหายฐานฉ้อโกง แต่เป็นผู้เสียหายฐานปลอมเอกสาร (ฎ.2193/34)
- กรณีการรับฝากเงิน ผู้รับฝากมีสิทธินำเงินที่รับฝากไปใช้ได้ เพียงแต่มีหน้าที่ต้องคืนเงินแก่ผู้ฝากให้ครบจำนวนเท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 672) หากมีผู้มาหลอกลวงเงินจากผู้รับฝากไป ผู้รับฝากก็ยังมีหน้าที่คืนเงินให้แก่ผู้ฝาก ผู้ฝากจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ผู้รับฝากที่ถูกหลอกเป็นผู้เสียหาย (ฎ. 87/06 ป. )
- เรื่องบัตร เอ.ที.เอ็ม. มี 2 กรณี คือ
1. กรณีที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของเจ้าของบัญชีเงินฝากในคำขอใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม จากนั้นได้นำบัตรเอที่เอ็ม ไปถอนเงินจากธนาคาร เงินที่ได้มาเป็นเงินของธนาคาร ไม่ใช่เงินของผู้ฝาก (ลูกค้าไม่ได้ขอออกบัตรเอทีเอ็ม) ธนาคารเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์ ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม
2. กรณีจำเลยหลอกลวงเอาบัตรเอทีเอ็มที่แท้จริงจากลูกค้าของธนาคาร แล้วนำไปถอนเงินจากตู้เบิกเงินด่วน ถือว่าเงินที่ได้เป็นเงินของลูกค้าแล้ว ลูกค้าเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง (ฎ.671/39)
- กรณีความเสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง ต้องเป็นความเสียหายโดยตรงจากการหลอกลวงของผู้กระทำผิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าการหลอกลวงของจำเลยเป็นผลให้โจทก์ถูกจำเลยฟ้องเป็นคดีแพ่ง มิใช่ความเสียหายโดยตรงจากการหลอกลวง โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ. 1357/33)
ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานฉ้อโกง
- ผู้เสียหายมอบเงินให้จำเลยไปให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บุตรของตนเข้ารับราชการโดยไม่ต้องสอบ อันเป็นการหลอกลวงผู้เสียหาย ถือว่าผู้เสียหายใช้ให้จำเลยกระทำผิด ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย(ฎ.1960/34) (เรื่องนี้หลอกเอาเงิน อ้างว่าจะนำไปให้เจ้าพนักงาน) แต่ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายให้เงินจำเลยไปเพื่อให้จำเลยนำไปให้เจ้าพนักงานกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อช่วยบุตรของตนได้เข้าทำงานโดยไม่ต้องสอบ เช่นนี้ เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย(ฎ.4744/37) ( เรื่องหลังนี้จำเลยหลอกผู้เสียหายว่าจะช่วยให้บุตรผู้เสียหายเข้ารับราชการโดยไม่ต้องสอบ โดยไม่ปรากฏว่าจะนำเงินไปให้เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องกับการรับสมัครสอบ ส่วนเรื่องแรกปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายมอบเงินให้จำเลยเพื่อนำไปให้เจ้าพนักงานฯ ถือว่าวัตถุประสงค์ผิดกฎหมาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย)
- *** หลอกลวงให้ผู้เสียหายเอาเงินมาเข้าเล่นการพนันเพื่อโกงบุคคลอื่น เป็นการเข้าร่วมกระทำผิดด้วย (ฎ.1813/31) หลอกลวงว่าจะขายธนบัตรปลอมให้(ฎ.711/93) หรือทำพิธีปลุกเสกเหรียญ ร.5 แล้วหลอกลวงเอาเงินเพื่อจะพาไปซื้อหวยใต้ดินหากถูกจะแบ่งเงินกัน (ฎ.1343/49) กรณีเหล่านี้เป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์ผิดกฎหมาย จึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย แต่ถ้าหลอกให้ผู้เสียหายเล่นการพนันเพื่อเอาเงินจากผู้เสียหายโดยตรง ไม่ได้หลอกให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเล่นการพนันเพื่อต้มหรือโกงบุคคลอื่นแล้ว ผู้เสียหายมิได้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วย จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ.3327/32) เพราะการหลอกให้เล่นการพนันคดีนี้เป็นแผนหรือวิธีการหลอกลวง***
ผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ
- ความเสียหายฐานเบิกความเท็จและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ตาม ป.อาญา มาตรา 177, 180 ส่วนได้เสียในความผิดทั้งสองฐานนี้ก็คือ "ผลแห่งการแพ้ชนะคดี" ดังนั้นปกติแล้วผู้ที่ได้รับความเสียหายจึงน่าจะเป็นคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ได้รับความเสียหายโดยตรงนั้นเอง หรือเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ไม่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกคดี (ฎ.533/41,4804/31,1033/33) เพราะ มาตรา 177 และ 180 มุ่งคุ้มครองเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมและคู่ความ ให้ได้รับผลในความยุติธรรมในคดีเป็นสำคัญ ไม่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก อย่างไรก็ตามหากการเบิกความหรือการแสดงพยานหลักฐานเท็จมีผลไปกระทบสิทธิของบุคคลภายนอก ทำให้บุคคลภายนอกเสียหาย เช่น คู่ความในคดีเบิกความเท็จ เป็นผลให้บุคคลภายนอกต้องสูญเสียที่ดินไป ดังนี้บุคคลภายนอกเป็นผู้เสียหายได้ (ฎ.2224/36)
- คู่ความในคดีที่จะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จได้ จะต้องเป็นตัวความที่แท้จริง ส่วนทนายความของตัวความไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ.17092524 ป.)
- ผู้ที่เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ก็เป็นคู่ความย่อมเป็นผู้เสียหาย ในความผิดฐานเบิกความเท็จได้ (ฎ.892/16)
- กรณีแม้จะเป็นคู่ความในคดี แต่ก็ไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จ หรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จได้ เช่น การเบิกความเท็จในชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา หรือในชั้นร้องขอเลื่อนคดีในชั้นไต่สวนเพื่ออนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ เป็นต้น ถือเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคู่ความฝ่ายนั้นกับศาล ไม่เกี่ยวกับคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะเป็นเท็จคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ. 555/14, 1050/18,297/08,2572/25)
- สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาว่าเป็นโมฆะแล้วนั้นไม่มีผลมาแต่ต้น ดังนั้นแม้จำเลยจะเติมข้อความในสัญญาและเบิกความเท็จ โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสาร และเบิกความเท็จ (ฎ. 1313/31)
- การที่จำเลยเบิกความเท็จหรือฟ้องเท็จในคดีอาญา แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้อง โจทก์ก็เป็นผู้เสียหาย (ฎ.3963/43)
ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ
- แม้ความผิดฐานแจ้งความเท็จจะเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน แต่ราษฎรก็อาจเป็นผู้เสียหายได้ ถ้าได้รับความเสียโดยตรง เช่น ข้อความเท็จนั้นมีผลทำให้ราษฎรต้องถูกดำเนินคดีอาญา (ฎ.2415/35,2625/36)
- ** จำเลยเสนอหลักประกันในการขอทุเลาการบังคับตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 231 อันเป็นเท็จ โดยแจ้งหลักประกันมีราคาสูงเกินจริง ทำให้ศาลหลงเชื่อจึงรับไว้เป็นหลักประกันและอนุญาตให้ทุเลาการบังคับ ทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับคดีได้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา ถือว่าโจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จแล้ว (ฎ. 2221/15)
ข้อสังเกต หลักประกันในการขอทุเลาการบังคับนี้ ภายหลังหากโจทก์ชนะคดี โจทก์ก็มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีกับหลักประกันดังกล่าวเพื่อเอาชำระหนี้ได้ ถ้าหลักประกันไม่มีมูลค่าโจทก์ก็ไม่อาจบังคับชำระหนี้ได้ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงในความผิดฐานแจ้งความเท็จ
- จำเลยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แต่มิได้เจาะจงถึงโจทก์โดยตรง โจทก์มิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ (ฎ.2989/31) คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานว่า ม.บุกรุกที่ดิน แต่ข้อเท็จจริงที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องฟ้องขับไล่จำเลย ทำให้โจทก์เสียหาย ศาลวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายฐานแจ้งความเท็จ คือ ม. ไม่ใช่โจทก์ หรือ กรณีการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แม้จะไม่ได้เจาะจงถึงผู้ใด แต่มีผลให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เช่นสูญเสียที่ดินไป ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้เสียหายโดยตรง เป็นผู้เสียหายฐานแจ้งความเท็จ (ฎ. 3554/31)
- ผู้กู้มอบสมุดเงินฝาก และ เอทีเอ็ม ให้แก่ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ แล้วผู้กู้ไปแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าสมุดเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มหายไป เพื่อนำไปเป็นหลักฐานแสดงต่อธนาคารให้ออกสมุดเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มให้ใหม่ ถือว่าเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง มิได้เจาะจงถึงผู้ให้กู้ ผู้ให้กู้ไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ (ฎ.6858/41)
- เจ้าหนี้ยึดถือหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินไว้เป็นประกันหนี้ การที่ลูกหนี้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานว่าหนังสือสำคัญ สูญหายไป เพื่อขอออกใบแทนเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง มิได้เจาะจงถึงเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ (ฎ.1261/17 ป.)
- ขายที่ดินไปแต่กลับไปแจ้งว่า น.ส. 3 หรือ ส.ค.1 หายไป เพื่อนำออกใบแทน ทำให้ผู้ที่ซื้อที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงได้รับความเสียหาย เจ้าของที่ดินเป็นผู้เสียหาย (ฎ.1955/46)
- ผู้ขายนำชี้ที่ดินที่รุกล้ำเข้าไปในที่สาธารณะเพื่อนำไปขายเพิ่มให้ผู้จะซื้อ ผู้จะซื้อที่ดินไม่ได้รับความเสียหาย เพราะมีสิทธิปฎิเสธไม่รับส่วนที่เพิ่มนั้นได้ (ฎ.5138/37)
- กรณีพยานในคดีอาญา ไม่มาเบิกความต่อศาลตามนัดโดยอ้างว่าป่วยซึ่งเป็นเท็จนั้น คู่ความในคดีไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงในความผิดฐานแจ้งความเท็จของพยาน (ฎ.1753/20)
- ชายจดทะเบียนสมรสซ้อน แจ้งต่อนายทะเบียนว่ายังไม่เคยสมรสมาก่อน ดังนี้ทั้งภริยาใหม่ และภริยาเดิม เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ(ฎ.5052/30, 2583/22)
ผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอก
ได้แก่ เจ้าของกรรมสิทธิ์ และผู้ครอบครองดูแลทรัพย์ขณะที่ถูกยักยอก (ฎ.5097/31,1554-5/12) และ ฎ. 2386/41 เรื่องสำนักสงฆ์ห้วยน้ำผุด มีผู้ครองครองดูแลทรัพย์(เงินสดของสำนักสงฆ์ฯ) หลายคนร่วมกัน บุคคลเหล่านั้นจึงมีความรับผิดทางแพ่งร่วมกัน ดังนั้นการที่ผู้ดูแลรักษาเงินคนหนึ่งยักยอกเงินไป ถือว่าผู้ดูแลรักษาเงินคนอื่น(ทุกๆคน) เป็นผู้เสียหายได้ ***
- ในคดีแพ่ง ศาลสั่งคุ้มครองประโยชน์โดยให้จำเลยเก็บเงินค่าเช่าทรัพย์มาวางศาล ถือว่าเงินที่จำเลยต้องเก็บมายังไม่เป็นเงินของโจทก์ การที่จำเลยไม่นำเงินมาวางศาลแล้วนำไปเป็นประโยชน์ของตน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.171/44)
- การชำระหนี้ให้แก่ทนายความของโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้มอบหมายให้ไปรับเงินดังกล่าว เงินดังกล่าวจึงยังไม่ตกเป็นของโจทก์ เมื่อทนายความยักยอกเงินนั้น โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.815/35 ป.) แต่ถ้าทนายความได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้รับเงินที่ชำระแทนได้ เงินดังกล่าวย่อมตกเป็นของโจทก์แล้วในฐานะตัวการ เมื่อทนายความเบียดบังไป โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายฐานยักยอก (ฎ.33/32)
- ตัวแทนหรือลูกจ้างรับเงินหรือสิ่งของจากบุคคลภายนอกไว้แทนตัวการ หรือนายจ้าง สิทธิในเงินหรือสิ่งของนั้นย่อมตกเป็นของตัวการหรือนายจ้างทันที การที่ตัวแทนหรือลูกจ้างยักยอกเงินหรือสิ่งของนั้น ตัวการหรือนายจ้าง เป็นผู้เสียหาย ส่วนผู้ชำระเงินหรือสิ่งของ ไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ.2250/44, 4/33, 556/41)
- ผู้จัดการมรดกเป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์มรดก จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก (ฎ.47/19 ป.)
- ยักยอกทรัพย์สินองบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นิติบุคคลหรือ ห้างหุ้นส่วนเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หุ้นส่วนผู้จัดการไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ในนามของตนเอง(ฎ.5008/37) และผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วนไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ. 6328/30) แต่ถ้าผู้จัดการ กรรมการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลยักยอกทรัพย์ของนิติบุคคล ศาลวินิจฉัยว่าผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วนเป็นผู้เสียหายได้ (ฎ.1250/21 ป.)
- เมื่อเจ้าของทรัพย์สินตาย ทรัพย์สินเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ทายาทย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตายได้ แม้จะยังไม่ได้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกยักยอกก็ตาม(ฎ.1938/94)
ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ รับของโจร และบุกรุก
การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ฐานทำให้เสียทรัพย์ รับของโจร และฐานบุกรุก เป็นการกระทำที่กระทบต่อกรรมสิทธิ์ และสิทธิครอบครอง ดังนี้ เจ้าของทรัพย์หรือผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานดังกล่าวได้ เช่น ผู้รับจ้างขนส่งเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ที่ขนส่ง เป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการที่ทรัพย์สินที่ขนส่งสูญหาย (ฎ. 12578/47, 5980-1/39) และ ฎ . 1548/35,634/36 ซึ่งวินิจฉัยว่าผู้ครอบครองทรัพย์ เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ และบุกรุก ได้
- ผู้เช่าก็เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ที่เช่า เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานบุกรุก (ฎ. 1355/04) แต่ถ้าคืนทรัพย์สินที่เช่าให้ผู้ให้เช่าแล้ว ผู้เช่าก็ไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ. 1417/22) ถ้าผู้เช่ายังไม่ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนแก่ผู้ให้เช่า แม้ศาลจะพิพากษาให้ขับไล่ผู้เช่าแล้ว ก็ยังถือว่าผู้เช่าเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ที่เช่าอยู่ ผู้เช่าจึงเป็นผู้เสียหาย (ฎ. 363/18)
- ผู้อาศัยผู้เช่าอีกทอดหนึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ. 993/99)
- ผู้ครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช่ร่วมกัน ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานบุกรุก (ฎ. 928/20 ป.,172/35)
ข้อสังเกต แม้ผู้ครอบครองสาธรณสมบัติของแผ่นดินจะไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานบุกรุก แต่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้ต้นไม้ที่ตนปลูกไว้ในที่สาธารณะดังกล่าวเสียหาย ได้ (ฎ. 5310/30)
ผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
- ผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ได้แก่ เจ้าของทรัพย์ และผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ และ ผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์นั้นด้วย ถ้าเพียงแต่เจ้าของอนุญาตให้เข้าพักอาศัย โดยไม่ได้รับอนุญาตโดยตรงให้ครอบครองดูแลทรัพย์นั้น ผู้ที่พักอาศัยไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เช่น ลูกจ้างของบริษัทที่เข้าพักอาศัยอยู่ในหอพักคนงานของบริษัท มีเพียงสิทธิอาศัยเท่านั้น บริษัทมิได้มอบหมายให้ดูแลรักษาทรัพย์โดยตรง เมื่อมีผู้มาทำลายหอพักฯ บริษัทฯเท่านั้น เป็นผู้เสียหาย (ฎ.352/41)
-โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์และเต็นท์ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินนั้น จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้รถยนต์และเต็นท์เสียหาย (ฎ. 7477/41)
- ในเรื่องทางภารจำยอม เจ้าของสามยทรัพย์(เจ้าของที่ดินที่มีสิทธิใช้ทางภารจำยอม) ไม่ใช่เจ้าของหรือ ผู้ครอบครองภารยทรัพย์ จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องผู้ที่ทำให้ภารยทรัพย์นั้นเสียหาย (ฎ. 1828/23)
ผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับเอกสาร
ความเสียหายที่เกิดขึ้นสำหรับความผิดฐานปลอมเอกสาร จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะ "ข้อความแห่งเอกสารนั้น" (ฎ. 3732/25)
- ความผิดฐานปลอมเอกสารโดยการปลอมลายมือชื่อของผู้อื่น ถือว่าผู้ที่ถูกปลอมลายมือชื่อได้รับความเสียหายโดยตรง จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสาร ส่วนความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ผู้ที่ได้รับความเสียหายน่าจะได้แก่ผู้ที่ถูกจำเลยนำเอกสารปลอมไปใช้หรือไปแสดงต่อผู้นั้น นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้อื่นที่ได้รับความเสียหายจากการใช้เอกสารนั้นด้วย (ฎ. 5689/44, 3252/45,7001/44)
- จำเลยใช้บัตรเครดิตปลอม เป็นเหตุให้ธนาคารตามบัตรเครดิตต้องจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าผู้รับบัตรเครดิตปลอม ถือว่าธนาคารตามบัตรเครดิตเป็นผู้เสียหาย ในความผิดฐานใช้เอกสารปลอม (ฎ. 7001/44) ร้านค้าไม่ใช่ผู้เสียหาย
- มีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร ธนาคารเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานใช้เอกสารปลอม และฐานฉ้อโกง เพราะเงินเป็นของธนาคาร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 วรรคสอง (ฎ. 1462-3/23) เรื่องนี้เมื่อมีการนำเช็คปลอมมาเบิกเงินจากธนาคาร ธนาคารจ่ายเงินให้ไป ถือว่าเป็นความผิดของธนาคารเอง ธนาคารหักบัญชีของลูกค้าเจ้าของบัญชีไม่ได้ ธนาคารจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกง อย่างไรก็ตามสำหรับความผิดฐานปลอมเอกสาร ลูกค้าเจ้าของเช็คที่ถูกปลอมลายมือชื่อเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ได้
- ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ไม่เป็นผู้เสียหายในกรณีที่จำเลยปลอมหรือใช้เอกสารปลอมเป็นพยานหลักฐานในคดีนั้น (ฏ. 3561/25)
ผู้เสียหายในความผิดฐาน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
โดยทั่วไปความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นความเสียหายที่กระทำต่อรัฐ รัฐจึงเป็นผู้เสียหาย ราษฎร ไม่ใช่ผู้เสียหาย ( ฎ. 3042/37, 3437/27) อย่างไรก็ตามความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157 ราษฎรก็อาจเป็นผู้เสียหายได้ เช่น การที่เจ้าพนักงานละเว้นปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยผู้กระทำความผิดอาญา ผู้เสียหายในความผิดอาญาฐานนั้น ย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ (ฎ. 4881/41, 2294/17)
- เจ้าพนักงานตำรวจจดคำพยานเป็นเท็จ เพื่อช่วยผู้กระทำความผิดมิให้รับโทษ หรือรับโทษน้อยลง เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผู้เสียหายหรือผู้จัดการแทนผู้เสียหาย ในความผิดอาญาที่มีการสอบสวนเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ (ฎ. 2294/17)
- ผู้ใหญ่บ้านละเว้นไม่จับกุมผู้ฉุดคร่าโจทก์ โดยเจตนาช่วยไม่ให้ผู้ทำผิดต้องรับโทษทางอาญา โจทก์ได้ชื่อว่าเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องในความผิดตามมารา 157 (ฎ. 611/97) เรื่องนี้โจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับที่ถูกฉุดคร่า ซึ่งเป็นความผิดอาญาหลัก การที่ผู้ใหญ่บ้านละเว้นไม่จับกุมผู้ฉุดคร่าจึงถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าโจทก์ไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดอาญาหลัก การที่พนักงานละเว้นไม่จับกุมผู้กรทำผิด โจทก์ก็ไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
สรุปว่า การที่ประชาชนจะเป็นผู้เสียหาย ตาม ป.อ.มาตรา 157 ประชาชนจะต้องเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาเรื่องนั้นๆด้วย ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานบุกรุกที่สาธารณะ การที่จำเลยละเว้นไม่จับกุมผู้บุกรุก โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ.มาตรา 157 (ฎ. 3035/23)
ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ. เช็ค ฯ
ความผิดตาม พ.ร.บ. เช็คฯ เกิดขึ้นเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ จึงมีได้เฉพาะ "ผู้ทรงเช็ค" ในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งเท่านั้น (ฎ.1035/29) ผู้รับโอนเช็คหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ไม่ใช่ผู้เสียหาย แม้จะเป็นเช็คผู้ถือซึ่งโอนได้โดยการส่งมอบก็ตาม (ฎ. 5407/46,1891/24)
- แม้ผู้เสียหายจะได้รับชำระหนี้ตามเช็คจากผู้ทรงคนก่อนแล้วก็ตาม ก็ยังเป็นผู้เสียหายอยู่ (ฎ.2353/23)
- ถ้าผู้ทรงเช็คมิได้โอนเช็คให้ผู้อื่น แต่นำเช็คฝากเข้าบัญชีเงินฝากของผู้อื่น หรือให้ผู้อื่นนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแทน ถือว่าผู้ที่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเป็นตัวแทนเท่านั้น ไม่ใช่ผู้เสียหาย และถือว่าผู้ที่มอบเช็ค เป็นผู้ทรงขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นผู้เสียหาย (ฎ. 1084/42 , 2722/27, 349/43)
-กรณีผู้ทรงเช็คถึงแก่ความตาย ก่อนธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน (ก่อนความผิดเกิด) สิทธิในเช็คย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ถือว่าทายาทเป็นผู้ทรง เมื่อต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ทายาทจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คฯ (ฎ. 3619/43)
ข้อสังเกต สิทธิในการดำเนินคดีอาญาไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ซึ่งต้องเป็นกรณีที่ความผิดนั้นเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายยังมีชีวิตอยู่ (ฎ. 578/15, 3395/25) แต่ ฏ. 3619/43 เมื่อ ป. ตาย สิ่งที่เป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์คือ ความเป็นผู้ทรงเช็ค ไม่ใช่สิทธิในการดำเนินคดีอาญา เพราะขณะที่ ป. ถึงแก่ความตาย ความผิดยังไม่เกิด สิทธิในการดำเนินคดีอาญาจึงยังไม่มี เนื่องจากธนาคารยังไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในขณะที่โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทซึ่งเป็นผู้ทรงเช็ค โจทก์ทั้งสามจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรง
- ฐานะของการเป็นผู้ทรงเช็ค เป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่ใช่ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา สามีของผู้ทรงเช็คในขณะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ. 2752/31)
- จำเลยออกเช็คหลายฉบับเพื่อชำระหนี้ในมูลหนี้จำนวนเดียวกัน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ เมื่อจำเลยถูกฟ้องตามเช็คฉบับหนึ่งไปแล้ว โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามเช็คฉบับหลังอีก (ฎ. 3254/26, 3822/29)
- รับโอนเช็คมาเพื่อฟ้องคดีอาญาถือว่าไม่สุจริต ไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ. 3413/28)
- เช็คที่มีมูลหนี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ ผู้รับเช็คไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฏ. 3413/28) เช่น เช็คที่ฟ้องเป็นเช็คที่ผู้เสียหายคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายรวมเข้าไปไว้ด้วย ถือว่าผู้เสียหายไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบ และไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ. 3047/31)
ผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาท
- การหมิ่นประมาทบุคคลหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกลุ่มบุคคลโดยไม่เจาะจงว่าหมายถึงผู้ใด หรือจากถ้อยคำที่หมิ่นประมาทไม่อาจทราบว่าเป็นผู้ใด ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนั้นคนใดคนหนึ่งไม่เป็นผู้เสียหาย (ฎ. 1325/98, 3954/39)
- แต่ถ้าเป็นการหมิ่นประมาททุกคนที่อยู่ในกลุ่มบุคคลนั้นคนใดคนหนึ่งเป็นผู้เสียหาย (ฎ.448/89,295/ 05 )
ความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เอกชนไม่อาจเป็นผู้เสียหาย
ได้แก่ ความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ (ฎ. 648/37, 2096/30) ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ความผิดตาม ป.อ. 147 , 158 , 170, 199 , ความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้เงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ,ความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ , ความผิดตาม พ.ร.บ.อาหารฯ และ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ
ผู้เสียหายโดยนิตินัย ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา
" ผู้เสียหายโดยนิตินัย" หมายถึง ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด หรือไม่เป็นผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือรู้เห็นในการกระทำความผิดนั้น และไม่ได้สมัครใจให้เกิดความผิดนั้น (ฎ. 4461/39, 7128/47, 1167/30, 3100/47)
- การแสวงหาพยานหลักฐานโดยการล่อซื้อ หากปรากฏว่า มิได้เป็นการก่อให้จำเลยกระทำความผิด เพราะจำเลยมีเจตนาที่จะกระทำความผิดอยู่แล้ว ถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ฎ. 6523/45) แต่ถ้าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยมีเจตนากระทำความผิดอยู่แล้วจึงให้คนไปล่อซื้อ จึงเท่ากับผู้เสียหายมีส่วนก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดขึ้นเอง ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 4085/45)
- *** หากผู้ที่มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยถึงแก่ความตาย ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา จะจัดการแทนตามมาตรา 5(2) ไม่ได้
- การที่ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา (ฎ. 1281/03)
- แต่ถ้าผู้กู้ฟ้องผู้ให้กู้ในข้อหาฉ้อโกง ซึ่งผู้กู้มิได้มีส่วนร่วมกระทำผิดด้วย ผู้กู้เป็นผู้เสียหายได้ (ฎ. 6869/41)
ข้อสังเกต
กรณีกฎหมายกำหนดให้ผู้เสียหายเท่านั้นที่มีอำนาจกระทำการได้เช่น ร้องทุกข์ ฟ้อง ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ อุทธรณ์ฎีกา ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง ยอมความเพื่อยุติคดีความผิดต่อส่วนตัว เป็นต้น การดำเนินกระบวนพิจารณาเหล่านี้ ผู้ที่มีอำนาจดำเนินการนั้นได้ต้องเป็นผู้เสียหายเท่านั้น บุคคลอื่นที่มิได้มีฐานะเป็นผู้เสียหาย ย่อมไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ และผู้เสียหายที่จะมีอำนาจนั้นจะต้องเป็นผู้เสียหาย ตามมาตรา 2(4) ด้วย ( ธานิศ เกศวพิทักษ์ คำอธิบาย ป.วิอาญา เล่ม 1 ( พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2551) หน้า 5 )
คำร้องทุกข์ ( มาตรา 2(7))
คำร้องทุกข์ คือการที่ผู้เสียหายกล่าวหาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งการกระทำความผิดนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย โดยมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ
คำร้องทุกข์มีความสำคัญ ในการวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินคดีในความผิดอันยอมความได้ ในปัญหาอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน และอำนาจของพนักงานอัยการ กล่าวคือพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนในความผิดอันยอมความได้ต้องมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบก่อน ถ้าไม่มีคำร้องทุกข์ หรือเป็นคำร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาสอบสวน ทำให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
ผู้เสียหายต้องมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
- การแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อกันคดีขาดอายุความ หรือแจ้งไว้เพื่อเป็นหลักฐาน ถือว่าผู้เสียหายไม่มีเจตนาจะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ไม่เป็นคำร้องทุกข์ ตามมาตรา 2(7) (ฎ. 228/44, 391/27)
- การร้องทุกข์ในความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คฯ ถ้าผู้เสียหายแจ้งว่า ต้องการรับเช็คของกลางไปเพื่อดำเนินการฟ้องจำเลยอีกทางหนึ่งก่อน โดยไม่ขอมอบคดีต่อพนักงานสอบสวน ถือว่าผู้เสียหายไม่มีเจตนาให้ผู้ออกเช็คต้องรับโทษ ไม่เป็นคำร้องทุกข์ (ฎ. 4714/33, 314/29)
- แต่ถ้าผู้เสียหายร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีกับผู้ออกเช็ค และในขณะเดียวกันก็ขอรับเช็คคืนไปทวงถามเอากับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง ( โดยคำร้องทุกข์ไม่มีข้อความระบุว่ายังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ) ถือว่าผู้เสียหายมอบคดีให้พนักงานสอบสวนแล้ว และถือว่าผู้เสียหายมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษแล้ว จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย (ฎ. 1209/31 ป.)
- ในกรณีที่มีผู้ร่วมกระทำความผิดหลายคน แต่ผู้เสียหายร้องทุกข์โดยระบุชื่อเพียงบางคนเท่านั้น ถือว่าผู้เสียหายไม่มีเจตนาจะให้ผู้ที่ไม่ได้ระบุชื่อให้ต้องรับโทษด้วย จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์สำหรับผู้ที่ไม่ระบุชื่อ (ฎ. 3343/36, 122/28)
- แต่ถ้าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการร้องทุกข์โดยผู้เสียหาย เจ้าพนักงานก็มีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ ดังนั้นแม้ผู้เสียหายจะระบุชื่อให้ดำเนินคดีแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เจ้าพนักงานตำรวจก็มีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้อื่นได้ (ฎ. 4080/40)
- เจตนาเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษนั้น คงพิจารณาเฉพาะขณะผู้เสียหายร้องทุกข์ว่าผู้เสียหายมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษหรือไม่ ถ้ามีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษแล้ว แม้ต่อมาในชั้นพิจารณาของศาล ผู้เสียหายกลับมาเบิกความต่อศาลว่าไม่มีเจตนาให้เอาโทษจำเลย ดังนี้ ไม่ทำให้คำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายเสียไป (ฎ.186/03, 3091/23)
- เมื่อได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้จะมีการผ่อนผันให้จำเลยบ้าง ก็เป็นเพียงรอการดำเนินคดีไว้เท่านั้น ไม่ทำให้คำร้องทุกข์เสียไป (ฎ. 3093/23)
- การร้องทุกข์ไม่จำเป็นต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าเป็นการร้องทุกข์ การที่ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะผู้เสียหาย การให้การดังกล่าวก็เพื่อเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ จึงถือว่าคำให้การของผู้เสียหายเป็นคำร้องทุกข์โดยชอบได้ (ฎ. 2100/14)
- การร้องทุกข์อาจมีการมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปร้องทุกข์แทนได้ ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคล หนังสือมอบอำนาจต้องทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับของนิติบุคคลนั้นด้วย มิฉะนั้นไม่ถือว่านิติบุคคลนั้นได้ร้องทุกข์แล้ว (ฎ. 1590/30) ถ้ามีการมอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์แทน ต้องระบุในหนังสือมอบอำนาจด้วยว่าให้มีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยด้วย (ฎ. 228/44)
- หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดร้องทุกข์ แต่ไม่มีข้อความระบุว่าทำให้ห้างฯ ได้รับความเสียหายด้วย ถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องทุกข์แทนห้างฯ เมื่อห้างฯ เป็นโจทก์ฟ้องคดีเกิน 3 เดือน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ (ฎ. 4070/40)
ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ( มาตรา 5)
ตามมาตรา 5(1) ให้ผู้แทนโดยชอบธรรม มีอำนาจจัดการแทนผู้เยาว์ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์ แสดงว่าผู้เยาว์จะฟ้องคดีเองไม่ได้ แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก็ตาม (ฎ. 563/17, 631/38)
- *** การที่ผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ โดยมิได้ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมจัดการแทน เป็นข้อบกพร่องเรื่องความสามารถตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 6,15 ซึ่งศาลต้องสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 56 วรรคสี่ เสียก่อน จะยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในทันทีไม่ได้ (ฎ. 6475/37) อย่างไรก็ตามถ้าขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมอายุกว่า 20 ปี บรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมอีก
- แต่ในเรื่องการร้องทุกข์ ผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ โดยไม่ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมจัดการแทน (ฎ. 214/94, 1641/14)
- ในกรณีที่ผู้เยาว์ร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัวไว้แล้ว ผู้แทนโดยชอบธรรมจะถอนคำร้องทุกข์ให้ขัดกับความประสงค์ของผู้เยาว์ไม่ได้ (ฎ. 214/94 ป.)
- ** ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ตามมาตรา 5 (1) ได้แก่ บิดามารดา ผู้ปกครอง ในกรณีที่เป็นบิดาจะต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ด้วย จึงจะถือว่าเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ไม่ถือตามสายโลหิต (ฎ. 2882/27, 6306/45)
- ** แต่สำหรับความหมายของบุพการีตามมาตรา 5(2) และ ผู้สืบสันดานนั้น ถือตามความเป็นจริง (ฎ. 1384/16 ป.) ส่วน สามี ภริยาก็ต้องชอบด้วยกฎหมาย ด้วย (ฎ. 1056-03)
- * เมื่อผู้เสียหายที่แท้จริงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีภริยา ก็ไม่มีอำนาจจัดการแทนได้เช่นกัน (ฎ. 7128/47, 4526/46)
-ในกรณีที่บิดาฟ้องคดีแทนบุตรซึ่งถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล บิดาตายอีก ดังนี้ บุตรของบิดา(พี่ชายผู้ตาย) จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไป ตามมาตรา 29 ไม่ได้ (ฎ. 2331/21)
- การจัดการตามมาตรา 5(2) นั้นจะต้องยืนยันว่าผู้ตายตายไปแล้ว หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ (ฏ. 1734-5/23)
- ความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตาย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ที่ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานจะจัดการแทนได้นั้น บาดแผลที่ทำให้ถึงแก่ความตาย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ต้องเกิดจากการกระทำของจำเลยด้วย (ฎ. 3879/46)
- ตามมาตรา 5(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆของนิติบุคคลมีอำนาจจัดการแทนนิติบุคคลในความผิดอาญาที่กระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น แต่ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลกระทำผิดต่อนิติบุคคลนั้นเสียเอง ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่ได้รับความเสียหายมีอำนาจฟ้องผู้จัดการหรือผู้แทนได้ (ฎ. 115/35, 1352/44)
- *** สิทธิในการดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินไม่ตกทอดไปยังทายาท ทายาทจึงไม่มีสิทธิดำเนินคดีอาญาในความผิดที่เจ้ามรดกเป็นผู้เสียหาย (ฎ.3395/25, 2219/21) แต่ถ้าเจ้ามรดกได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดแล้ว ต่อมาเจ้ามรดกตาย ทายาทมีสิทธิถอนคำร้องทุกข์ได้ (ฎ. 206/88, 11/18)
- สำหรับในความผิดฐานหมิ่นประมาท มีบทบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษตาม ป.อ. มาตรา 333 วรรคสองว่า ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย แสดงว่าเฉพาะในความผิดฐานหมิ่นประมาทนี้ แม้ผู้เสียหายจะตายไปแล้ว บุคคลตามที่ระบุไว้ก็มีอำนาจไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำได้
- การฟ้องคดีอาญา มีการมอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องคดีแทนได้ (ฎ. 890/03 ป., 2178/24)
การตั้งผู้แทนเฉพาะคดี ( มาตรา 6)
การร้องขอให้ศาลตั้งผู้แทนเฉพาะคดีได้เมื่อผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ ผู้วิกลจริตหรือผู้ไร้ความสามารถ และในในกรณีดังนี้
1. ผู้เสียหาย เป็นผู้เยาว์ ไม่มี ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้แทนโดยชอบธรรม ไม่สามารถ ทำหน้าที่ได้ หรือ มีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์
2. ผู้วิกลจริต หรือผู้ไร้ความสามารถ ไม่มีผู้อนุบาล หรือผู้อนุบาลไม่สามรถทำหน้าที่ได้ หรือมีผลประโยชน์ขัดกันฯ
ผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาลคือ ญาติของผู้เสียหาย หรือ ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง
- การร้องขอตั้งผู้แทนเฉพาะคดีตามมาตรา 6 ต้องเป็นกรณีที่ผู้เยาว์, ผู้วิกลจริต หรือผู้ไร้ความสามารถ ยังมีชีวิตอยู่ด้วย มิฉะนั้นจะขอให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีไม่ได้ (ฎ. 3432/36, 1625/32, 365/32) ผู้แทนเฉพาะคดีที่ฟ้องแทนผู้เสียหาย จะมีอำนาจว่าคดีแทนผู้เสียหายที่ตายลงต่อไปได้ตามมาตรา 29 นั้น หมายถึงกรณีที่ศาลได้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีของผู้เสียหายไว้แล้วก่อนที่ผู้เสียหายจะตาย หาได้หมายถึงกรณีผู้เสียหายได้ตายไปก่อนที่ศาลจะตั้งผู้แทนโดยเฉพาะคดีด้วยไม่
- เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้แทนเฉพาะคดีแล้ว ผู้หนึ่งผู้ใดจะร้องขอให้พิจารณาใหม่ ไม่ได้
-*** บิดามารดาของผู้เยาว์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มารดาเท่านั้นเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม เมื่อปรากฏว่ามารดาหนีไปแล้ว ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะตั้งผู้แทนเฉพาะคดีได้ตามมาตรา 6 แต่ การที่บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องคดีอาญาแทนผู้เยาว์และศาลสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณา ถือได้โดยปริยายว่าศาลตั้งบิดาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีแล้ว (ฎ. 2958/41)
การดำเนินคดีอาญานิติบุคคล (มาตรา 7)
- เนื่องจากผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้กระทำแทนนิติบุคล ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลที่กระทำการแทนนิติบุคคลได้ก่อให้เกิดความผิดอาญาขึ้นนั้น ถือว่าผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลเป็นตัวการร่วมด้วย การแจ้งข้อหาแก่ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลในฐานะจำเลย ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อหาในฐานะผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลด้วย จึงถือว่าได้แจ้งข้อหาแก่นิติบุคคลนั้นแล้ว
- ผู้แทนนิติบุคคล ได้แก่ กรรมการผู้มีอำนาจ หรือกรรมการผู้จัดการ หรือชื่ออื่นๆ แตกต่างกันไป
- การสอบสวนนิติบุคคลเป็นผู้ต้องหา ต้องออกหมายเรียกผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นๆของนิติบุคคลมายังพนักงานสอบสวน (มาตรา 7) คำว่า ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น หมายถึงผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นตามกฎหมาย ถ้าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนกรรมการที่ไม่มีอำนาจของจำเลย ถือว่าเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 4205/41)
สิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา (มาตรา 7/1)
- การแจ้งสิทธิของผู้ตองหาตามมาตรา 7/1 ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับให้ต้องระบุไว้ในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบ และไม่อาจรับฟังบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นพยานหลักฐานได้ (ฎ. 2015/47)
การใช้ล่ามแปล (มาตรา 13)
- ล่ามต้องสาบานหรือปฎิญาณตนก่อนแปล และลงลายมือชื่อในคำแปลด้วย มิฉะนั้น เป็นกระบวนพิจารณาไม่ชอบ (ฎ. 7567/44) แต่ถ้าในชั้นสอบสวน แม้พนักงานสอบสวนจะสอบปากคำจำเลยโดยมิได้ให้ล่ามสาบานหรือปฏิญาณตน ก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ คงมีผลทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยไม่อาจใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้เท่านั้น (ฎ. 5476/37)
- ตามมาตรา 13 มิได้บังคับว่าในกรณีจำเลยเป็นชาวต่างประเทศ จะต้องมีล่ามแปลในการพิจารณาของศาลทุกครั้ง (ฎ. 52/29)
การดำเนินคดีผู้วิกลจริต (มาตรา 14)
ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวได้ ต้องปรากฏว่าจำเลยเป็น บุคคลวิกลจริต และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ซึ่งต้องเข้าหลักเกณฑ์ทั้งสองประการ (ฎ. 928/99)
- เมื่อพนักงานสอบสวนหรือศาล สั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจเสร็จแล้ว ให้เรียกพนักงานแพทย์มาให้ถ้อยคำ แต่ถ้าเป็นกรณีที่แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ ก็ไม่จำต้องเรียกแพทย์มาให้ถ้อยคำ (ฎ. 3831/28)
- เมื่อมีเหตุควรเชื่อในเบื้องต้นว่าจำเลยเป็นผู้วิกลจริต และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลต้องสั่งให้แพทย์ตรวจจำเลยก่อน โดยข้อเท็จจริงนั้นศาลอาจจะสังเกตเห็นจากอากับกิริยาได้เอง หรือผู้เสนอข้อเท็จจริงให้ศาลทราบก็ได้ (ฎ. 2594/42)
- เมื่อศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ และจำเลยไม่โต้แย้ง การดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (ฎ. 809/48)
- นายประกันไม่สามารถนำตัวจำเลยส่งศาลได้ จะขอให้ศาลไต่สวนว่าจำเลยวิกลจริตตามมาตรา 14 ไม่ได้ (ฎ. 2553/25)
การนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับ (มาตรา 15)
วิธีพิจารณาข้อใดที่ ป.วิ.อ. มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับเท่าที่จะพอใช้บังคับได้
- วิธีพิจารณาความแพ่งที่จะนำมาใช้ ต้องเป็นวิธีพิจารณาที่มิได้บัญญัติไว้ใน ป.วิ อ. ประกอบกับเรื่องที่จะนำมาใช้ต้องไม่ขัดกับหลักวิธีพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ.ด้วย เช่น กรณีการร้องสอดแม้ไม่มีบัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. แต่ก็มีบทบัญญัติเรื่องการเข้าเป็นโจทก์ร่วมในมาตรา 30 และมาตรา 31 ไว้โดยเฉพาะแล้ว ดังนั้นผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีที่ผู้เสียหายคนอื่นฟ้องไว้แล้วโดยอาศัยบทบัญญัติในเรื่องการร้องสอดคาม ป.วิ.พ. ไม่ได้ (ฎ. 3935/29) หรือกรณีพนักงานอัยการได้ฟ้องคดีไว้แล้ว ผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายจะขอร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 ไม่ได้ (ฎ. 3797-8/40)
- นำเรื่องฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) มาใช้ในคดีอาญาด้วย เช่น การที่อัยการฟ้องโดยบรรยายว่าจำเลยลงพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า เป็นคนละบทความกัน และลงพิมพ์ต่างหน้ากันกับที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ แต่เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน และข้อความก็เป็นเรื่องเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว พนักงานอัยการคดีแรกและคดีหลังแม้จะเป็นคนละคนกัน แต่ก็มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 2(5),28(1) ด้วยกัน การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยอีก จึงเป็นฟ้องซ้อน (ฎ. 464/30) หรือยื่นฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือว่าจำเลยโฆษณาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ในหนังสือพิมพ์รายวัน เมื่อศาลแขวงพระนครเหนือฯ ได้ประทับรับฟ้องแล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงเชียงใหม่ ในเหตุเดียวกันนี้โดยคำฟ้องเป็นเรื่องเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อน (ฎ. 3528/24)
- นำบทบัญญัติเรื่องการอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงไปยังศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 223 ทวิ มาใช้บังคับในคดีอาญาไม่ได้ (ฎ. 1156/42)
อำนาจสืบสวนสอบสวน (มาตรา 17-21)
- ผู้มีอำนาจสืบสวนได้แก่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ แม้จะได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ทำหน้าที่อื่น ก็ถือว่ายังมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. อยู่ ผฎ. 500/37, 2390/27)
- พนักงานสอบสวน ในท้องที่ที่ความผิดอาญาได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีถิ่นที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตน เป็นผู้มีอำนาจในการสอบสวน
- ถ้าการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ไม่มีอำนาจ การสอบสวนก็ไม่ชอบ ทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง เช่น ความผิดฐานขายเมทแอมเฟตามีน เกิดในเขตอำเภอ น. และจำเลยมีที่อยู่และถูกจับที่เขตอำเภอ น. พนักงานสอบสวนในเขตอำเภอ ด. จึงไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ การสอบสวนที่ทำไปจึงไม่ชอบ และถือว่าคดีนี้ยังไม่มีการสอบสวน อัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 4634/43)
- * พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของตน เป็นการไม่ชอบ แม้จะเป็นการสอบสวนเพียงบางส่วน โดยส่วนอื่นจะเป็นการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจก็ตาม ก็ถือว่าคดีนั้นมีการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 371/31) *** เมื่อการสอบสวนทั้งคดีรวมการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ด้วย การสอบสวนคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 18 และไม่เป็นการสอบสวนตามที่ระบุไว้ในมาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
- เมื่อการสอบสวนกระทำโดยพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจแล้ว การสอบสวนนั้นจะกระทำ ณ. ที่ใด ก็ได้ (ฎ. 661/90)
ความผิดเกิด อ้าง หรือเชื่อว่าเกิด
ความผิดอาญาเกิดขึ้นที่ใด ต้องพิจารณาความผิดในแต่ละข้อหา เช่น
- *** ความผิดข้อหายักยอกเกิดขึ้นในท้องที่ที่จำเลยเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่ตนครอบครองเอาเป็นของตน (ฎ. 1573/35) เรื่องนี้ จำเลยรับฝากทรัพย์จากผู้เสียหายแล้วปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝากไว้ ถือว่าเหตุความผิดฐานยักยอกเกิดในท้องทีที่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝาก พนักงานสอบสวนในท้องที่ดังกล่าวมีอำนาจสอบสวนได้
- จำเลยวางยาพิษผู้ตายในท้องที่หนึ่ง แต่ผู้ตายไปถึงแก่ความตายอีกท้องที่หนึ่ง ถือว่าในท้องที่จำเลยวางยาพิษ เป็นท้องที่ความผิดเกิด (ฎ. 3337/43)
- ความผิดเกิดในเรือไทย ถือว่าเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร ตาม ป.อ.มาตรา 4 พนักงานสอบสวนกองปราบมีอำนาจสอบสวน (ฎ. 2670/35)
-*** ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยหนังสือพิมพ์ลงข้อความหมิ่นประมาท ถือว่าท้องที่ที่จำหน่ายหนังสือพิมพ์ทุกแห่งเป็นที่เกิดเหตุ (ฎ. 2145/18, 2360/23)
พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (มาตรา 18 วรรคสาม)
พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หมายถึง พนักงานสอบสวนที่มีหน้าที่สรุปสำนวนการสอบสวนและทำความเห็น พร้อมเสนอสำนวนการสอบสวนต่อพนักงานอัยการ ตามบทบัญญัติมาตรา 140,141, 142 ซึ่งได้แก่ความเห็นงดการสอบสวน เห็นควรให้งดการสอบสวน ความเห็นควรสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้อง
กรณีตามมาตรา 18 นี้ แม้จะเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในท้องที่เดียว แต่พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนอาจมีหลายท้องที่ กล่าวคือ พนักงานสอบสวนทั้งท้องที่ความผิดเกิด อ้างหรือเชื่อว่าเกิด หรือท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับ ต่างมีอำนาจสอบสวน แต่สำหรับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีเพียงท้องที่ที่เดียว ซึ่งได้แก่ในท้องที่ที่ความผิดเกิด เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน (ฎ. 9239/47)
กรณีความผิดเกิดขึ้นหลายท้องที่ (มาตรา 19)
พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้แก่
ก. ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจ
ข. ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน อยู่ในเขตอำนาจ
กรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญา กระทำในท้องที่ใด (มาตรา 19(1))
- แจ้งความต่อเจ้าพนักงานท้องที่หนึ่ง และไปเบิกความต่อศาลอีกท้องที่หนึ่งซึ่งยังไม่แน่ว่าจะเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือเบิกความเท็จ พนักงานสอบสวนท้องที่ใดท้องที่หนึ่งดังกล่าวมีอำนาจสอบสวนได้ (ฎ. 822/90)
กรณีความผิดต่อเนื่องหลายท้องที่ (มาตรา 19(3))
- ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดต่อเนื่องกับความผิดฐานลักทรัพย์ หรือชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ฯ ตามที่ระบุไว้ใน ป.อ. มาตรา 357 ดังนั้น กรณีที่ความผิดฐานลักทรัพย์ และรับของโจร เกิดต่างท้องที่กัน พนักงานสอบสวนในท้องที่ความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้น ย่อมมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานรับของโจรได้ด้วย (ฎ. 1180/37, 3903/31)
- ความผิดฐานออกเช็คไม่มีเงิน ตาม พ.ร.บ.เช็คฯ ถือว่าท้องที่ที่จำเลยออกเช็คเป็นความผิดต่อเนื่องกับท้องที่ที่ธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น พนักงานสอบสวนท้องที่ใดท้องที่หนึ่งดังกล่าวมีอำนาจสอบสวนตามมาตรา 19 (3) (ฎ. 1702/23 ป.) , 2070/43
- ** จำเลยทั้งสองร่วมกันขายเมทแอมเฟตามีนโดยเจ้าพนักงานตำรวจวางแผนล่อซื้อ และจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ ในท้องที่ สน.บางขุนเทียน จำเลยที่ 2 ได้พาตำรวจ สน.บางขุนเทียนไปจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ในท้องที่ สน.วัดพระยาไกร ถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดซึ่งหน้า และเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันทั้งในท้องที่ สน.บางขุนเทียน และสน.วัดพระยาไกร พนักงานสอบสวนทั้งสองสถานีมีอำนาจสอบสวนตามมาตรา 19 (3) ส่วนพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้แก่ พงส. สน.บางขุนเทียน ตามมาตรา 19 (ก) (ฎ. 1259/42)
- กรณีความผิดต่อ พ.ร.บ.เช็ค ฯ หากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องเอง สถานที่เกิดเหตุมีเพียงสถานที่เดียวคือ สถานที่ที่ธนาคารตามเช็คปฎิเสธการใช้เงิน (ฎ. 857/30, 1229/19 ป.) แต่ถ้าอัยการฟ้อง จะมีที่เกิดเหตุ 2 แห่งคือสถานที่ออกเช็ค และสถานที่ที่ธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้นถ้ามีการสอบสวนในท้องที่ที่ออกเช็ค ซึ่งถือว่าเป็นความผิดต่อเนื่องกับท้องที่ที่ธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน อัยการจึงฟ้องได้ตามมาตรา 22(1) (ฎ. 1702-3/23 ป.) ซึ่งเป็นการโยงมาตรา 19 (3) กับ มาตรา 22(1)
กรณีความผิดหลายกรรมกระทำในท้องที่ต่างๆ มาตรา 19(4)
- ผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาตาม พ.ร.บ.เช็คฯ ต่อ พงส. สภ.เมืองนราธิวาส ซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิด แต่ขณะเดียวกันจำเลยก็ได้ไปแจ้งความต่อ พงส. สภ.สุไหงโกลก ว่าเช็คดังกล่าวหาย พนักงานอัยการเห็นว่าการแจ้งความดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกงและแจ้งความเท็จ จึงสั่งให้ พงส.สภ.เมืองนราธิวาส สอบสวนเพิ่มเติมและแจ้งข้อหาต่อจำเลยเพิ่มเติม ดังนี้ พงส.สภ.เมืองนราธิวาส ย่อมมีอำนาจสอบสวน จำเลยในข้อหาแจ้งความเท็จได้ เพราะจำเลยถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กันตาม มาตรา 19(4) และเมื่อเป็นความผิดหลายกระทงย่อมฟ้องรวมกันในฟ้องเดียวกันได้ตามมาตรา 160 ทั้งความผิดฐานแจ้งความเท็จ เป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คฯ " แม้จะเป็นการกระทำต่างกรรม ต่างสถานที่กัน แต่ก็ได้กระทำลงโดยจำเลย ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดคนเดียวกันและเป็นความผิดเกี่ยวพันกัน" (ฎ. 3430/37) ซึ่งสามารถฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่า ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 24 ก็ได้
พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
- เมื่อมีการจับจำเลยได้แล้ว พนักงานสอบสวนท้องที่ที่จับจำเลยได้ เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (ฏ. 3585/46) หากพนักงานสอบสวนท้องที่อื่นที่มิใช่ท้องที่ที่จับจำเลยได้ ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดนั้นโดยชอบตามมาตรา 120 พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 3466/47)
- ถ้าจับผู้ต้องหาได้ ต้องเป็นการจับตัวในข้อหาเดียวกันด้วย ถ้าเป็นการจับในข้อหาอื่น จะถือว่าพนักงานสอบสวนในท้องที่นั้น เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามมาตรา 19 วรรคสาม (ก) ไม่ได้ เช่น จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจรในท้องที่หนึ่ง แต่ไปถูกจับตัวได้อีกท้องที่หนึ่งในข้อหาซ่องโจร ดังนี้ไม่ถือว่าเป็นการจับกุมจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจรด้วย พนักงานสอบสวนในท้องที่จับกุมจำเลยได้จึงไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามมาตรา 19 วรรคสาม (ก) นี้ (ฎ. 1579/46)
- ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง เป็นการแยกว่าแม้พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวน แต่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน(รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดทุกท้องที่และสรุปสำนวน) ต้องเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนท้องที่จับผู้ต้องหาได้ ถ้าจับตัวยังไม่ได้เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนท้องทีที่พบการกรทำความผิดก่อนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไม่เป็นไปตามมาตรา 19 วรรคสามบัญญัติไว้ ทำให้เกิดผลเสียแก่คดีได้ โดยถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนคดีนั้นโดยชอบ ตาม มาตรา 120 มีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง (ฎ. 1974/39)
- *** ในกรณีที่จับตัวผู้ต้องหาได้ พนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ก) ตามอนุมาตรานี้ น่าจะหมายถึงกรณีก่อนจับกุมผู้ต้องหายังไม่มีพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ กล่าวคือยังไม่ได้เริ่มทำการสอบสวนนั่นเอง เพราะถ้าเป็นกรณีที่มีความผิดเกิดขึ้นแล้วยังจับตัวผู้ต้องหาไม่ได้และมีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ พนักงานสอบสวนท้องที่พบการกระทำความผิดก่อนย่อมเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) เมื่อมีพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว แม้ต่อมาจะจับผู้ต้องหาได้ในท้องที่อื่นก็ตาม พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน ก็ยังคงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่กรณีตามมาตรา 19 วรรคสาม (ก) (ฎ. 1126/44, 4512/30)
กรณีความผิดนอกราชอาณาจักร (มาตรา 20)
หลักเกณฑ์ ถ้าความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายให้พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวนคนใด เป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้ (วรรคแรก)
ในกรณีที่อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนมอบหมายให้ พนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวน อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน จะมอบหมายให้พนักงานอัยการคนใดทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนนั้นก็ได้ (วรรคสอง)
ให้พนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือให้ทำการสอบสนร่วมกับพนักงานสอบสวน มีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวนเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน และอำนาจ หน้าที่ประการอื่นที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ (วรรคสาม)
ในกรณีที่พนักงานอัยการทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของพนักงานอัยการในเรื่องที่เกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐาน (วรรคสี่)
ในกรณีจำเป็น พนักงานสอบสวนต่อไปนี้มีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอคำสั่งจากอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน (1) พนักงานสอบสวนซึ่งผู้ต้องหาถูกจับในเขตอำนาจ (2) พนักงานสอบสวนซึ่งรัฐบาลประเทศอื่น หรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายได้ร้องฟ้องให้ทำโทษผู้ต้องหา (วรรคห้า)
เมื่อพนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน แล้วแต่กรณี เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้ทำความเห็นตามมาตรา 140, 141 หรือ 142 ส่งพร้อมสำนวนไปยังอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน (วรรคท้าย)
- ความผิดที่เกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ถือว่าเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร ตาม ป.อ.มาตรา 4 วรรคสอง (ฏ. 2670/35) โปรดดูหมายเหตุ
- จำเลยฝากทรัพย์ของผู้เสียหายขณะที่อยู่นอกราชอาณาจักร แต่เมื่อถึงประเทศไทยได้ปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝากไว้ ถือว่าเหตุความผิดฐานยักยอกเกิดในราชอาณาจักร ไม่ใช่ความผิดที่กระทำลงนอกราชอาณาจักร จึงไม่เข้ากรณีตามมาตรา 20 (ฎ. 1573/35)
หมายเหตุ ความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทย ที่กระทำลงนอกราชอาณาจักร ตามความหมายของมาตรา 20 นี้ มีความเป็น 2 ฝ่าย คือ
1. ฝ่ายแรกเห็นว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 4 วรรคสอง , มาตรา 5 – 9 เช่น อาจารย์ ธานิศฯ อาจารย์จิตรฤดีฯ
2. ฝ่ายที่สอง เห็นว่ากรณีที่ ป.อ.ถือว่าเป็นการกกระทำความผิดในราชอาณาจักร เช่น มาตรา 4 วรรคสองไม่ใช่ความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทย ที่กระทำลงนอกราชอาณาจักร เพราะกรณีดังกล่าว ป.อาญา ให้ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร จึงไม่ต้องด้วย มาตรา 20 แห่ง ป.วิ.อาญา โดยฝ่ายนี้ก็ได้แก่ ดร.เกียรติขจรฯ รวมถึงในหนังสือ วิ.อาญาของจูริสฯ และมีคำพิพากษาฎีกาสนับสนุนคือ ฏ. 2670/35 ที่วินิจฉัยว่า เหตุเกิดในเรือไทย หรืออากาศยานไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ถือว่าเป็นการกระทำในราชอาณาจักร ตาม ป.อ.มาตรา 4 วรรคสอง เมื่อเหตุเกิดในเรือไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร พนักงานสอบสวนกองปราบกรมตำรวจ มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาได้ทั่วราชอาณาจักรจึงมีอำนาจสอบสวน
เขตอำนาจศาล( มาตรา 22-27)
ศาลที่มีอำนาจรับชำระคดี หลัก ก็คือศาลที่ความผิได้เกิดขึ้น อ้าง หรือเชื่อว่าเกิดขึ้นในเขตอำนาจ แต่มีข้อยกเว้นคือ อาจฟ้องจำเลยต่อศาลในเขตที่จำเลย มีที่อยู่ หรือ ถูกจับ หรือ ได้มีการสอบสวนความผิดในท้องที่ใด ศาลซึ่งท้องที่นั้นๆ อยู่ในเขตอำนาจก็ได้ ตาม มาตรา 22(1)
- มาตรา 22(1) มิได้เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิของโจทก์ที่จะเลือกยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นที่จำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจหรือถูกจับได้ แต่เป็นบทบัญญัติที่ให้เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับ จะรับชำระคดีหรือไม่ก็ได้ โดยศาลจะพิจารณาว่าการฟ้องคดีที่ศาลชั้นต้นที่จำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับ " จะสะดวกยิ่งกว่าการฟ้องคดีต่อศาลที่ความผิดเกิด เชื่อ หรืออ้างว่าเกิด หรือไม่" ดังนั้นการที่โจทก์อ้างว่า การย้ายจำเลยทั้งสองจากเรือนจำบางขวาง นนทบุรี ไปดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดภูเก็ต จะไม่ปลอดภัย ในการควบคุม และอาจเสียหายระหว่างการขนย้าย เป็นเพียงปัญหาในการปฎิบัติของกรมราชทัณฑ์ที่อาจแก้ไขได้ ไม่ใช่กรณีที่ การพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนนทบุรี จะสะดวกยิ่งกว่าการฟ้องที่ศาลจังหวัดภูเก็ต (ฎ. 516/48, 6511/46)
- คำว่าที่อยู่ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 22(1) มีความหมายเช่นเดียวกับภูมิลำเนา (ฎ. 2073/36) และต่อมาได้มีบทบัญญัติมาตรา 47 แห่ง ป.พ.พ. บัญญัติให้ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล ได้แก่เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว ซึ่งโจทก์อาจฟ้องจำเลยต่อศาลที่อยู่ในเขตที่ตั้งของเรือนจำ หรือทัณฑสถาน ก็ได้ แต่ก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะรับชำระคดีหรือไม่ก็ได้ (ฎ. 2646/46)
- ผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลนั้น ต้องเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดด้วย จึงตะถือว่าเรือนจำ หรือทัณฑสถานเป็นภูมิลำเนา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 47 ถ้าคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดก็ไม่ถือว่าเป็นภูมิลำเนา (ฎ. 2209/40) และต้องมีการจำคุกจริงๆในเขตศาลนั้นด้วย (ฎ. 8836/38)
-*** ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยหนังสือพิมพ์ลงข้อความหมิ่นประมาท ถือว่าท้องที่ที่จำหน่ายหนังสือพิมพ์ทุกแห่งเป็นที่เกิดเหตุ (ฎ. 2145/18, 2360/23)
- กรณีความผิดต่อ พ.ร.บ.เช็ค ฯ หากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องเอง สถานที่เกิดเหตุมีเพียงสถานที่เดียวคือ สถานที่ที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการใช้เงิน (ฎ. 857/30, 1229/19 ป.) แต่ถ้าอัยการฟ้อง จะมีที่เกิดเหตุ 2 แห่งคือสถานที่ออกเช็ค และสถานที่ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้นถ้ามีการสอบสวนในท้องที่ที่ออกเช็ค ซึ่งถือว่าเป็นความผิดต่อเนื่องกับท้องที่ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อัยการจึงฟ้องได้ตามมาตรา 22(1) (ฎ. 1702-3/23 ป.) ซึ่งเป็นการโยงมาตรา 19 (3) กับ มาตรา 22(1)
ผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา (มาตรา 28)
ได้แก่ 1) พนักงานอัยการ 2) ผู้เสียหาย
- กรณีคดีอาญาที่ผู้เสียหายหลายคน แม้ผู้เสียหายคนหนึ่งได้ฟ้องผู้กระทำความผิดไปแล้ว ผู้เสียหายคนอื่นก็ยังมีสิทธิฟ้องผู้กรทำความผิดได้อีก ไม่เป็นฟ้องซ้ำ หรือฟ้องซ้อน (ฎ. 769/35, 3619/43)
ผู้เสียหายฟ้องคดีแล้วตายลง (มาตรา 29)
หลักเกณฑ์ เมื่อผู้เสียหาย(ที่แท้จริง) ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้
ถ้าผู้เสียหายที่ตายนั้นเป็นผู้เยาว์ ผู้วิกลจริต หรือผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมผู้อนุบาล หรือผู้แทนเฉพาะคดีได้ยื่นฟ้องแทนไว้แล้ว ผู้ฟ้องแทนนั้นจะว่าคดีต่อไปก็
- ตามมาตรา 29 เป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่แท้จริงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง และน่าจะรวมถึงกรณีที่ผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการแล้วตายลงด้วย
- ** การเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายนี้ ผู้เสียหายต้องได้ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนตายลงเท่านั้น ไม่รวมถึงการแจ้งความร้องทุกข์โดยยังไม่ฟ้องคดีด้วย ดังนั้นการที่ผู้เสียหายเพียงแต่แจ้งความร้องทุกข์ไว้ท่านั้น บุคคลตามมาตรา 29 ไม่มีอำนาจดำเนินคดีต่อไปได้ (ฎ. 5162/47)
- ผู้เสียหายที่ฟ้องคดีแล้วตายตามมาตรา 29 นี้ หมายถึงตัวผู้เสียหายที่แท้จริงเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้มีอำนาจจัดการแทนด้วย ถ้าผู้จัดการแทนถึงแก่ความตาย บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี หรือภริยาของผู้จัดการแทน จะดำเนินคดีต่างผู้ตายตามมาตรา 29 ไม่ได้ (ฎ. 1187/43, 2331/21)
- ** ตามมาตรา 29 นี้ ผู้เสียหายจะต้องได้ฟ้องคดีไว้แล้วตายลง ถ้าผู้เสียหายตายเสียก่อนฟ้องคดี อำนาจฟ้องคดีไม่เป็นมรดกตกทอด ไม่เข้ากรณีมาตรา 29 นี้ (ฎ. 3395/25, 2219/21)
- ผู้บุพการี และผู้สืบสันดาน ที่จะมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตาย ตามมาตรา 29 หมายถึงผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดานตามความเป็นจริง ( เช่นเดียวกับบุพการี และผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 5(2) ) ดังนี้บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายก็มีสิทธิดำเนินคดีต่อไปได้ และถ้าบุตรยังเป็นผู้เยาว์อยู่ มารดาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมก็ดำเนินคดีแทนผู้เยาว์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โดยมารดาไม่ต้องขออนุญาตเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของผู้เยาว์ต่อศาลก่อน(ฎ. 5119/30) กรณีถ้าเป็นสามี ภริยา ของผู้เสียหาย ตามมาตรา 29 วรรคแรกนี้ น่าจะต้องเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย (เทียบ ฎ. 1056/03) ในมาตรา 5(2)) ดังนั้น ตาม ฎ. 5119/30 นี้ ภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของของผู้เสียหาย (มารดาของผู้เยาว์) จึงไม่อาจเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายในฐานะภริยาของผู้ตายได้ แต่ที่เข้ามาในคดีได้ก็เนื่องจากเป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ ซึ่งเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหาย ทั้งนี้อาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15
- ** ผู้ที่มีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายตามมาตรา 29 มีเฉพาะผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี และภริยา เท่านั้น ดังนี้ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย และเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ก็ไม่มีอำนาจเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย (ฎ. 2242/33)
- มาตรา 29 วรรคแรก เป็นเรื่องผู้เสียหายที่แท้จริงยื่นฟ้องแล้วตายลง ส่วนมาตรา 29 วรรคสอง เป็นกรณีผู้แทนโดยชอบธรรมฯ หรือผู้แทนเฉพาะคดี เป็นผู้ยื่นฟ้องแทนผู้เสียหายไว้แล้วผู้เสียหายนั้นตายลง ผู้ฟ้องคดีแทนจึงว่าคดีต่อไปก็ได้
- เฉพาะกรณีผู้แทนเฉพาะคดีจะดำเนินคดีต่อไปได้ตามมาตรา 29 วรรคสองนี้ ต้องเป็นกรณีที่ศาลได้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีของผู้เสียหายตามมาตรา 6 ไว้แล้วก่อนที่ผู้เสียหายจะตายลง ถ้าผู้เสียหายตายระหว่างการร้องขอเป็นผู้แทนเฉพาะคดี ผู้นั้นจะดำเนินคดีต่อไปไม่ได้ (ฎ. 3432/36, 1625/32)
- บทบัญญัติมาตรา 29 นำไปใช้ในกรณีร้องขอให้ปล่อยเนื่องจากการคุมขังผิดกฎหมายตามมาตรา 90 ด้วย (ฎ. 392/22) และนำไปใช้กับกระบวนพิจารณาในชั้นร้องขอคืนของกลางได้ด้วย (ฎ. 1595/28)
- บิดาฟ้องมารดาเป็นจำเลย ผู้สืบสันดานของจำเลยจะขอรับมรดกความไม่ได้ เพราะเป็นคดีอุทลุม (ฎ. 1551/94 ป.)
- การขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปตามมาตรา 29 นี้ มิได้กำหนดเวลาไว้ จะนำระยะเวลาการรับมรดกความในคดีแพ่งซึ่งมีกำหนด 1 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 มาใช้บังคับไม่ได้ (คร.1595/28)
- ผู้ที่ได้รับมรดกความอาจไม่ดำเนินคดีต่อไป แต่ขอให้ศาลจำหน่ายคดีก็ได้ (ฎ. 3619/43)
- กรณีที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตายลงนั้น กฎหมายไม่ได้บังคับให้บุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 29 ต้องเข้ามาดำเนินคดีต่างผู้ตาย ถ้าไม่มีผู้ใดเข้ามาเลย กรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วม ก็ไม่มีปัญหาอะไรเพราะพนักงานอัยการดำเนินคดีต่อไปได้ แต่ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ถ้าการตายของโจทก์ไม่เป็นเหตุขัดข้องในการดำเนินคดีต่อไป ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิจารณาคดีต่อไปได้ เช่น กรณีที่โจทก์ถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา ซึ่งไม่ต้องมีการพิจารณาสืบพยานกันอีก ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็พิจารณาพิพากษาคดีต่อไปได้ (ฎ. 814/20 ป., 1244/04)
- ในคดีความผิดต่อส่วนตัว โจทก์ตายหลังจากศาลฎีกาส่งคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นอ่าน แม้ไม่มีผู้รับมรดกความ คดีก็ไม่ระงับไป (ฎ. 217/06 ป.) เพราะถือว่า ดำเนินคดีมาครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว
โจทก์ร่วม( มาตรา ๓๐,๓๑)
กรณีผู้เสียหายเข้าร่วมกับพนักงานอัยการ(มาตรา ๓๐)
ผู้เสียหาย หมายความถึง ผู้เสียหายตามมาตรา ๒(๔) และผู้มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา ๔,๕,๖,
- ต้องขอเข้าร่วมก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา แต่ถ้าอัยการเข้าร่วมเป็นโจทก์ ต้องขอก่อนคดีเสร็จเด็ดขาด
- ผู้เสียหายเท่านั้นที่มีอำนาจขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล(ฎ.3252/45)
- ความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ, ความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๓๗๑,ความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบก, รัฐเท่านั้นเสียหาย เอกชนจะเข้าเป็นโจทก์ร่วมไม่ได้ (ฎ.๑๑๔๑/๓๑,๑๙๑/๓๑)
- ** ความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรและความผิดต่อ พ.ร.บ.ให้บำเหน็จฯ เป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย แม้ผู้จับมีสิทธิได้รับรางวัลนำจับก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย เนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมไม่ได้(ฎ.๓๗๙๗/๔๐) ในกรณีเช่นนี้หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโดยไม่ได้ระบุชัดว่าเข้าร่วมในความผิดฐานใด ก็หมายถึงอนุญาตให้เข้าร่วมเฉพาะในความผิดที่เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เท่านั้น(ฎ.๒๑๑๐/๔๘) เรื่องนี้บิดาผู้ตายขอเข้าร่วมได้แต่เฉพาะฐานฆ่าผู้อื่น ส่วนฐานทำลายพยานหลักฐานไม่ใช่ความผิดต่อสาธารณชน แต่เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐโดยตรง จึงเข้าร่วมไม่ได้ เมื่อเข้าร่วมไม่ได้ก็ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้
- ผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เพราะเป็นเรื่องวิวาททำร้ายกัน จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อมาก็ตาม ก็ถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ(ฎ.๒๗๙๔/๑๖) ผลก็คือเท่ากับไม่มีการเข้าร่วมเป็นโจทก์ การอุทธรณ์ก็เท่ากับไม่ได้อุทธรณ์
-ถ้าศาลอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้ว แม้ภายหลังศาลจะยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ ก็ไม่ทำให้การดำเนินคดีของโจทก์ร่วมที่ทำไปแล้วเสียไป(ฎ.๑๘๖/๑๔)พยานหลักฐานที่ได้อ้างอิงไว้แล้วศาลย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานสำหรับคดีนั้นได้
-** โจทก์ร่วมเคยขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับอัยการ และได้ขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมไปแล้ว มีผลเท่ากับขอถอนฟ้องในส่วนของโจทก์ร่วมเสร็จเด็ดขาดแล้ว ดังนี้ต่อมาโจทก์ร่วมจะขอเข้าเป็นโจทก์อีกไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา ๓๖ (ฎ๗๒๑๔/๔๔) ทั้งนี้เพราะการเข้าเป็นโจทก์ร่วมถือว่าเป็นการฟ้อง
- กำหนดเวลาขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ต้องก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ดังนั้นหากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ผู้เสียหายจะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ ฎีกา หาได้ไม่(ฎ๓๙๒/๑๒)
- ศาลต้องสั่งคำร้องขอของโจทก์ก่อนว่าอนุญาต จึงจะเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ การสั่งว่า "สำเนาให้ทุกฝ่ายไว้พูดกันวันนัด" พอถึงวันนัดจำเลยรับสารภาพจึงตัดสินคดีไปทีเดียว กรณีนี้ถือว่ายังไม่ได้อนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วม(ฎ๑๑๓๗/๙๔) แต่ถ้าศาลยังไม่สั่งคำร้อง แต่มีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาเช่นสืบพยานและอื่นๆต่อมาในฐานะโจทก์ร่วม เป็นพฤติการณ์ที่ศาลอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้ว(ฎ๓๒๓/๑๐ ป.)
-เมื่อศาลอนุญาตแล้วต้องถือคำฟ้องของอัยการเป็นหลัก ดังนี้ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมตกไปด้วย(ฎ.๑๕๘๓/๑๓,๑๙๗๔/๓๙)
- โจทก์ร่วมจะใช้สิทธินอกเหนือไปจากสิทธิของอัยการไม่ได้ จึงไม่มีอำนาจแก้และเพิ่มเติมฟ้องของอัยการ(ฎ.๓๘๓๓/๒๕) อย่างไรก็ตามแม้โจทก์ร่วมจะขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องไม่ได้ แต่มีสิทธิระบุพยานหรือขอสืบพยานเพิ่มเติมได้(ฎ.๕๖๘/๑๓)
- ในคดีที่พนักงานอัยการไม่มีอำนาจขอให้คืนหรือใช้ราคาแทนผู้เสียหาย คำขอของโจทก์ร่วมที่ขอให้ถือเอาตามคำฟ้องของอัยการย่อมตกไปด้วย(ฎ.๓๖๖๗/๔๒)
- ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงและมีคำขอในส่วนแพ่งด้วย แม้คำขอส่วนแพ่งนั้นจะมีทุนทรัพย์เกินอำนาจของศาลแขวง พนักงานอัยการก็มีอำนาจต่อศาลแขวงได้ แต่โจทก์ร่วมไม่อาจถือเอาคำขอส่วนแพ่งนั้นเป็นคำขอของตนได้ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ให้จำเลยรับผิดในส่วนแพ่งได้(ฎ.๔๑๑๙/๒๘)
- พนักงานอัยการและโจทก์ร่วมต่างมีฐานะเป็นโจทก์ด้วยกัน ดังนี้หากพนักงานอัยการไม่มาในวันนัดพิจารณาแต่โจทก์ร่วมมาจะถือว่าโจทก์ขาดนัดและยกฟ้องตามมาตรา ๑๖๖ ไม่ได้(ฎ.๑๕๑๙/๙๗)
- สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ ฎีกา เป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่ความ โจทก์ร่วมจะขอถือเอาฎีกาของพนักงานอัยการโจทก์เป็นฎีกาของโจทก์ร่วม และขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของโจทก์ไม่ได้ (ฎ.๓๒๙๒/๓๒)
- ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีที่ผู้เสียหายอื่นยื่นฟ้องไม่ได้ เพราะ มาตรา ๓๐,๓๑ บัญญัติให้ผู้เสียหายและพนักงานอัยการเข้าร่วมเป็นโจทก์กับคดีที่อีกฝ่ายหนึ่งได้ฟ้องเท่านั้น แสดงว่ากฎหมายประสงค์ให้มีการเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมไว้เฉพาะสองกรณีดังกล่าวเท่านั้น (ฎ.๓๓๒๐/๒๘) และอาศัยมาตรา ๕๗ แห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับก็ไม่ได้(ฎ๓๙๓๕/๒๙)
- เมื่อผู้เสียหายได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้ว ผู้เสียหายจึงมีฐานะเป็นโจทก์จะนำเรื่องเดียวกันนั้นฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา ๑๓๗
- การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมก็คือการฟ้องคดีนั่นเอง แต่ไม่ได้ทำเป็นคำฟ้อง เป็นเพียงคำร้องเท่านั้น ดังนี้ทนายความลงชื่อแทนโจทก์ได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๕๘(๗)(ฎ.๖๒๙/๐๑)
- ผู้เยาว์ฟ้องคดีเองไม่ได้ ต้องมีผู้จัดการแทนตามมาตรา ๕ และจะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับอัยการไม่ได้ แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม (ฎ.๕๖๓/๑๗)
-** เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินคดีแล้ว แม้พนักงานอัยการไม่อุทธรณ์โจทก์ร่วมก็มีสิทธิอุทธรณ์แต่ผู้เดียว(ฎ.๒๓๘๑/๔๒) แต่ถ้าพนักงานอัยการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยโจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์ด้วยเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วโจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฎีกา ถือว่าคดีระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยมิได้ว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา ๒๔๙ ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา ๑๕(ฎ.๗๑๐๐/๔๐)
- พนักงานอัยการและโจทก์ร่วมต่างมีฐานะเป็นโจทก์ด้วยกัน ดังนั้นแม้โจทก์ร่วมเป็นผู้อุทธรณ์ฝ่ายเดียว และศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานใหม่ พนักงานอัยการก็มีสิทธิสืบพยานต่อไป (ฎ.๑๐๐๐/๑๒ ป.)
ถอนฟ้อง(มาตรา ๓๕)
-การถอนฟ้องคดีอาญา โจทก์มีสิทธิถอนฟ้องได้จนถึงเวลาใดนั้นต้องดูประเภทคดีอาญาเป็นสำคัญ กล่าวคือถ้าเป็นความผิดที่ไม่ใช่คดีความผิดต่อส่วนตัวโจทก์ขอถอนฟ้องได้ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวจะถอนฟ้องหรือยอมความได้ก่อนคดีถึงที่สุด
- * ดังนั้นในคดีที่ไม่ใช่คดีความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะขอถอนฟ้องหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วไม่ได้ แต่ถ้าคดีดังกล่าวมีการอุทธรณ์หรือฎีกา ถือว่าคำร้องขอถอนคำฟ้อง เป็นการขอถอนฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกานั่นเอง(กรณีที่โจทก์เป็นผู้อุทธรณ์หรือฎีกา)(ฎ.๗๑๕/๓๗) แต่ถ้าเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี พอแปลได้ว่าโจทก์มีความประสงค์จะขอถอนฟ้อง ศาลสั่งอนุญาตให้ถอนได้(ฎ.๑๔๒/๓๔)
- ในคดีความผิดที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว ถ้าศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ คดีย่อมกลับมาสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นอีก โจทก์ขอถอนฟ้องได้(ฎ.๒๗๘/๒๕)
- คดีความผิดต่อส่วนตัวถอนฟ้องได้ก่อนคดีถึงที่สุด( ถึงที่สุดเมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ ฎีกา) แต่ในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา ก็อาจมีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์หรือฎีกาได้ ดังนั้นคดีจึงถึงที่สุดเมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์หรือฏีกา เช่นกัน
- คดีอาญาโจทก์และจำเลยจะขอให้ศาลฎีกาพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่ แต่เมื่อเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องมาด้วยในเวลาก่อนคดีถึงที่สุด เมื่อจำเลยไม่คัดค้านเป็นผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามมาตรา ๓๙ (๒) เมื่อศาลฎีกาอนุญาตให้ถอนฟ้องแล้ว มีผลให้คำพิพากษาของศาลล่างระงับไปในตัว ศาลฎีกาไม่ต้องพิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างอีก (ฎ.๔๓๘/๐๕ ป.) แต่ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา
- ถ้าศาลชั้นต้นไม่รับฎีกา ผู้ฎีกายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา แม้จะล่วงเลยระยะเวลาฎีกาแล้วก็ตาม ก็ถือว่าคดียังไม่ถึงที่สุด( คร.๓๕/๒๒,๙๗๓/๒๕)
- กรณีศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเพราะจำเลยหลบหนี คดียังไม่ถึงที่สุดโจทก์จึงขอถอนฟ้องได้
-** ในกรณีที่โจทก์ร่วมขอถอนคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม มีผลเท่ากับเป็นการถอนฟ้องนั่นเอง (คร.๘๙๒/๑๔) แต่ถ้าผู้เสียหายไม่ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วยผู้เสียหายจะถอนฟ้องไม่ได้ ศาลฎีกาตีความว่า คำร้องขอถอนฟ้องนั้นเป็นการถอนคำร้องทุกข์นั้นเอง (ฎ.๑๒๔๑/๒๖)
- การอนุญาตให้ถอนฟ้องเป็นดุลพินิจของศาล แต่ถ้าจำเลยยื่นคำให้การแล้วและคัดค้าน ศาลต้องยกคำร้องขอถอนฟ้องจะใช้ดุลพินิจไม่ได้(ฎ.๖๙๘/๘๑)
ผลของการถอนฟ้อง(มาตรา ๓๖)
คดีอาญาที่ได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนำมาฟ้องใหม่ไม่ได้ แม้ยังไม่ได้ไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม(ฎ.๒๙๒๗/๒๙) การถอนฟ้องอันมีผลทำให้ฟ้องใหม่ไม่ได้นั้น หมายถึงการถอนฟ้องโดยเด็ดขาด การถอนฟ้อง(คดีความผิดต่อส่วนตัว)เพื่อร่วมเป็นโจทก์กับสำนวนอัยการ หาใช่เป็นการถอนฟ้องโดยเด็ดขาดไม่ สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องยังไม่ระงับไปตามมาตรา ๓๙(๒) พนักงานอัยการยังมีอำนาจฟ้อง ไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๓๖ เพราะถือว่ายังติดใจที่จะดำเนินคดีกับจำเลยอยู่นั่นเอง อย่างไรก็ตามการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก็ต้องดำเนินการในเวลาอันควรด้วย หากปล่อยเวลานานไป เช่นกว่า ๖ เดือน ถือว่ามีเจตนาถอนฟ้องโดยเด็ดขาด (ฎ.๑๗๖๕/๓๙)
- กรณีการฟ้องผิดศาลแล้วถอนฟ้องเพื่อไปฟ้องยังศาลที่มีอำนาจ ก็มิใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาด(ฎ.๒๐๓/๓๑) จึงฟ้องใหม่ได้ แต่ก็ต้องฟ้องภายในอายุความด้วย (อายุความไม่สะดุด)
- * ถอนฟ้องเพื่อรอผลคดีแพ่ง เป็นการถอนฟ้องโดยเด็ดขาดฟ้องใหม่ไม่ได้(ฎ.๔๔๐/๙๗) หรือถอนฟ้องโดยอ้างเหตุผลว่าฟ้องบกพร่อง ขอถอนฟ้องเพื่อจะนำไปดำเนินคดีใหม่ ก็ถือว่าเป็นการถอนฟ้องโดยเด็ดขาดด้วย (ฎ.๙๒๔/๓๐)
-การที่ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ถือเสมือนว่าโจทก์ร่วมฟ้องคดีเอง ดังนี้การที่โจทก์ร่วมขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วม จึงมีผลท่ากับเป็นการขอถอนฟ้องในส่วนของโจทก์ร่วมนั้นเอง โจทก์ร่วมจะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนั้นในภายหลังอีกไม่ได้(ฎ.๗๒๔๑/๔๔)
- ในความผิดที่มีผู้เสียหายหลายคน เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งได้ยื่นฟ้องไว้แล้วขอถอนฟ้องไปย่อมตัดสิทธิเฉพาะผู้เสียหายคนนั้นไม่ให้ฟ้องใหม่ ส่วนผู้เสียหายคนอื่นยังมีสิทธิฟ้องได้อีก ไม่ถูกตัดสิทธิตามมาตรา ๓๖(ฎ.๕๙๓๔-๕/๓๓)
คดีอาญาเลิกกัน( มาตรา ๓๗-๓๘)
- ** ในคดีทำร้ายร่างกาย ครั้งแรกผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายแก่กาย พนักงานสอบสวนจึงเปรียบเทียบปรับในความผิดตามป.อ.มาตรา ๓๙๑ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ และผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบแล้ว แต่ต่อมากลับปรากฎว่าบาดแผลที่ได้รับร้ายแรงจนเป็นอันตรายสาหัส เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๗ ซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษ เป็นคดีที่ไม่อาจเปรียบเทียบปรับได้ ดังนั้นการเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวนไม่มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป(ฎ.๓๕๔/๓๑)
- กรณีความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ข้อหาที่เบากว่ามีอัตราโทษที่อยู่ในข่ายจะเปรียบเทียบได้ แต่ถ้าข้อหาที่หนักกว่า อัตราโทษไม่อยู่ในข่ายที่จะเปรียบเทียบปรับได้ เช่นนี้พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจเปรียบเทียบข้อหาที่เบากว่า เพราะการกระทำที่เป็นกรรมเดียวกันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น ต้องลงโทษบทหนักตาม ป.อ. มาตรา ๙๐ ดังนี้หากพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับไปก็ไม่ทำให้คดีเลิกกัน ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป(ฎ.๒๘๔๙/๔๐) เรื่องนี้จำเลยขับรถเมาสุรา และประมาทน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท พงส.ไม่มีอำนาจปรับข้อหาขับรถประมาทซึ่งเป็นความผิดซึ่งเบากว่าข้อหาขับรถขณะมาสุราเพื่อให้ความผิดทั้งหมดเลิกกันตามมาตรา ๓๗
- แต่ถ้าเป็นหลายกรรม หลายกระทง การเปรียบเทียบปรับก็ให้พิจารณาเป็นรายข้อหา
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ตามมาตรา ๓๙
-เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปหลังจากที่มีการฟ้อง ศาลต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ มิใช่พิพากษายกฟ้อง และถ้าเป็นคำสั่งจำหน่ายของศาลสูงก็มีผลทำให้คำพิพากษาของศาลล่างระงับไปในตัว ไม่ต้องพิพากษายกฟ้อง(ฎ.๘๓๐๘/๔๓) หากสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง ถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องมาแต่ต้น ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง
- กรณีที่โจทก์ตาย ไม่เป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป(ฎ๒๓๔๙/๔๗) แต่หากจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตามมาตรา ๓๙(๑) และโทษก็เป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำผิดตาม ป.อ.มาตรา ๓๘
การถอนคำร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัว
- ในความผิดที่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งมีทั้งความผิดอันยอมความได้และที่มีใช่ความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ ก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเฉพาะความผิดอันยอมความได้เท่านั้น พนักงานอัยการคงมีอำนาจดำเนินคดีในความผิดที่มิใช่ความผิดอันยอมความได้ต่อไป(ฎ.๑๑๒๗/๔๔)
- ** คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ผู้เสียหายจะถอนฟ้องไม่ได้ ถ้าผู้เสียหายถอนฟ้องศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นการขอถอนคำร้องทุกข์ (ฎ.๑๒๔๑/๒๖) นอกจากนี้การที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องหรือเบิกความว่า ไม่ติดใจเอาความกับจำเลย พอแปลได้ว่าผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้ว (ฎ.๘๔๖๓/๔๔) บางครั้งข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันนี้ศาลฎีกาถือว่าเป็นการยอมความ(ฎ.๑๐๖๑/๔๕)
- การถอนคำร้องทุกข์ที่จะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ต้องมีลักษณะเป็นการเด็ดขาดเพื่อไม่เอาผิดกับจำเลยอีกต่อไป ดังนี้การถอนคำร้องทุกข์เนื่องจากผู้เสียหายได้นำคดีมาฟ้องเสียเอง ไม่ใช่ถอนเพื่อไม่เอาผิดกับผู้กระทำผิด ไม่ทำให้คดีระงับ(ฎ.๙๙๔/๔๓)
- เมื่อถอนคำร้องทุกข์แล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับทันที การที่ผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงไม่ทำให้กลับมีสิทธิฟ้องคดีขึ้นอีก(ฎ.๔๘๔/๐๓)
- ** สิทธิในการถอนคำร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์(เช่นความผิดฐานยักยอก ทำให้เสียทรัพย์) ตกทอดแก่ทายาทได้ เมื่อผู้เสียหายตาย ทายาทของผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ได้(ฎ.๒๐๖/๘๘,๑๑/๑๘)
-*** เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้ว คำขอในส่วนแพ่งย่อมตกไปด้วย อัยการโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแทนผู้เสียหายตามมาตรา ๔๓ ได้อีกต่อไป(ฎ๓๔๙๑/๓๔)
- ผู้เสียหายตกลงกับจำเลยว่าจะไปขอถอนคำร้องทุกข์ แม้จะยังไม่มีการถอนคำร้องทุกข์ก็ตาม ก็มีผลเป็นการยอมความแล้ว (ฎ๑๙๗๗/๒๓) ดังนี้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปแล้วจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอถอนคำร้องถอนคำร้องทุกข์ในภายหลังอีกได้(ฎ.๑๖๘๑/๔๕) แต่ถ้าตกลงจะถอนคำร้องทุกข์โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะต้องชำระหนี้ให้ผู้เสียหายก่อน เมื่อจำเลยยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความแล้ว (ฎ.๓๐๑๙/๔๒)
- การที่ผู้เสียหายบอกกับตำรวจว่าไม่ติดใจเอาเรื่อง ไม่ถือว่าเป็นการถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความ(ฎ.๖๐๔๕/๓๑) หรือการที่ผู้เสียหายมีหนังสือถึงจำเลยว่าไม่เอาโทษจำเลย ไม่เป็นการถอนคำร้องทุกข์ทั้งไม่ถือเป็นการยอมความด้วย(ฎ.๘๒/๐๖) แต่มี ฎ.๔๕๔๘/๓๙ วินิจฉัยว่าเป็นการยอมความแล้ว
- การถอนคำร้องทุกข์ ผู้เสียหายจะขอถอนต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลก็ได้ แม้คดีจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลก็ถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการก็ได้(ฎ.๑๕๐๕/๔๒)และการที่พนักงานอัยการได้รับคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายแล้ว ถือเป็นการถอนคำร้องทุกข์โดยชอบแล้ว ศาลไม่ต้องสอบถามผู้เสียหายอีก(ฎ.๑๕๐๕/๔๒)
- คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หากมีคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ ศาลต้องพิจารณาคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป มิฉะนั้นเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ (ฎ.๑๓๓๒/๓๐) บางกรณีศาลฎีกาก็ถือว่าศาลล่างอนุญาตให้ถอนคำร้องทุกข์โดยปริยายแล้ว ไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการใหม่ แต่สั่งจำหน่ายคดีไปได้เลย(ฎ.๔๒๑/๔๖)
- ตามมาตรา 35 วรรคสอง บัญญัติ เฉพาะกรณีการถอนฟ้อง และการยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัวว่าสามารถกระทำได้ก่อนคดีถึงที่สุด แต่ไม่ได้บัญญัติถึงกรณีการถอนคำร้องทุกข์ไว้ด้วยว่าสามารถกระทำได้จนถึงเวลาใด คงมีแต่บทบัญญัติมาตรา 126 บัญญัติว่า จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ และศาลฎีกาตีความว่าถอนคำร้องทุกข์ได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ตามมาตรา 35 วรรคท้าย (ฎ.1/28, 5689/45, 1374/09)
- เมื่อถอนคำร้องทุกข์แล้ว ศาลต้องมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี จะพิพากษายกฟ้องไม่ได้ (ฎ. 2689/27, 6097/34)
- ในกรณีที่สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา คำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณี ก็ระงับไปในตัวไม่มีผลบังคับอีกต่อไป (ฎ. 537/42)
ยอมความทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ (มาตรา 39(2))
- " การยอมความต้องเป็นการตกลงระหว่างผู้เสียหายและจำเลย" ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือเพราะไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ.มาตรา 851,852 (ฏ. 353/32, 976/08)
- ในกรณีความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท บางข้อหาเป็นความผิดต่อส่วนตัว และบางข้อหาเป็นความผิดต่อแผ่นดิน การยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์ มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเฉพาะข้อหาความผิดอันยอมความได้เท่านั้น (ฎ. 1904/40)
- ถ้าความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มีทั้งข้อหาความผิดต่อส่วนตัวและความผิดอาญาแผ่นดิน หากศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษเฉพาะข้อหาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวและยกฟ้องข้อหาความผิดอาญาต่อแผ่นดิน ในกรณีเช่นนี้ ถือว่าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ยอมความกันในชั้นพิจารณาของศาลสูงได้ เช่น โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 362, 365 ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามมาตรา 362 ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวและยกฟ้องมาตรา 365 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เช่นนี้ อาจยอมความในชั้นฎีกาได้ มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป (ฎ. 2257/40)
-ทำสัญญาว่าจะถอนฟ้องไม่ดำเนินคดีกับจำเลย แม้จะยังไม่ถอนฟ้อง หรือ แม้ศาลจะยังไม่สั่งคำร้อง ก็มีผลเป็นการยอมความแล้ว ศาลต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (ฎ.2257/40, 1009/33 , 980/33, 1433/06 )
-ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่ารับชำระหนี้จากจำเลยแล้วไม่ติดใจเอาความ เป็นการยอมความตามกฎหมายแล้ว และทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายตกไปด้วย (ฎ. 1061/45)
- การพูดให้อภัยจำเลยโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะไม่ไปพูดให้เสียหาย ไม่เป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย (ฎ. 3038/31) เพราะผู้เสียหายไม่ได้พูดว่า จะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยตลอดไป
- ข้อตกลงที่ให้ถอนฟ้องนั้นมีเงื่อนไขให้จำเลยต้องชำระหนี้ก่อน ถ้าจำเลยยังไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไข ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกัน (ฎ. 1724/39) เช่นเดียวกับตกลงว่าจะไปถอนคำร้องทุกข์ เ มื่อตกลงกันแล้ว แม้จะยังไม่ไปถอนคำรองทุกข์ ผลแห่งการตกลงดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการยอมความกันในตัวแล้ว (ฎ. 1977/23)
- ตกลงออกเช็คฉบับใหม่ให้แทนฉบับเดิมซึ่งธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับใหม่แล้วจะถอนแจ้งความ และนำเช็คฉบับเดิมมาคืนให้ เป็นการตกลงสละสิทธิในเช็คพิพาทโดยมีเงื่อนไขว่าต้องเรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับใหม่ก่อน เมื่อเช็คฉบับใหม่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ยังถือไม่ได้ว่ามีการยอมความกันในความผิดตามเช็คฉบับเดิม (ฎ. 5033/46)
-ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ภายหลังยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ทั้งที่ไม่เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ก็มีผลเป็นการยอมความแล้ว (ฎ. 3630/32)
- การยอมความกันโดยมีเงื่อนไขที่จำเลยจะต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดก่อน ถือว่าไม่เป็นการยอมความกันโดยเด็ดขาด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจะระงับไปต่อเมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นแล้ว (ฎ. 1500/36, 1605/38, 2016/00)
- ยอมความโดยมีเงื่อนไขว่า หยุดบุกรุกก็ไม่เอาเรื่อง เห็นได้ชัดว่าจำเลยต้องหยุดบุกรุกผู้เสียหายจึงจะไม่เอาเรื่อง ดังนั้น หากต่อมาบุกรุกอีก ความผิดที่บุกรุกครั้งแรกก็ยังไม่ระงับ (ฎ. 2016/00 ป.)
- ถ้าเป็นการยอมความที่ไม่มีเงื่อนไข ว่าจำเลยต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดก่อน ถือว่าสิทธิในการดำเนินคดีอาญามาฟ้องระงับไปในทันที แม้ภายหลังจำเลยจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงก็ตาม (ฎ. 67/24, 2825/39,)
- การยอมความกันตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39(2) หมายถึงการยอมความกันทางอาญาเท่านั้น และต้องมีข้อความชัดแจ้งว่ามีการยอมความกันในทางอาญาด้วย ดังนี้ การตกลงประนีประนอมยอมความกันในทางแพ่ง (นอกศาล) โดยไม่ได้กล่าวถึงคดีอาญา คดีอาญาไม่ระงับ (ฎ.200/08)
- การตกลงประนีประนอมยอมความกันในทางแพ่ง(ในศาล) โดยไม่ได้ตกลงให้ความผิดอาญาระงับหรือสิทธิในการดำเนินคดีอาญาด้วย ไม่ถือว่า เป็นการยอมความกันในคดีอาญาด้วย (ฎ. 4751/47, 2267/43)
-บางกรณีศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายกับจำเลยตกลงยอมความกันในคดีอาญาด้วย เช่น กรณีที่ผู้เสียหายกับจำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงมูลหนี้กันใหม่ (แปลงหนี้ใหม่) (ฎ. 1050/27)
- สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คฯ มาตรา 7 บัญญัติว่า ถ้าหนี้ตามเช็คนั้นได้สิ้นความผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตาม ป.วิ.อ ดังนั้นในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็ค ถ้าได้มีการประนีประนอมยอมความ มีผลทำให้หนี้ตามเช็คระงับไป แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจะเป็นการยอมความกันเฉพาะคดีแพ่ง และผู้เสียหายไม่ได้สละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาซึ่งไม่มีผลเป็นการยอมความในคดีอาญาตามมาตรา 39(2) ด้วยก็ตาม คดีอาญาก็เป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.เช็คฯ มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (ฎ. 721/44, 3447-8/43) การนำมูลหนี้ตามเช็คมาแปลงหนี้เป็นสัญญากู้ยืม เป็นการทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ มูลหนี้เดิมตามเช็คจึงระงับ แม้จำเลยยังไม่ได้ชำระหนี้เงินตามสัญญาเงินกู้ให้โจทก์ก็ตาม คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.เช็คฯ (ฎ. 5247/45) ตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็ค มิใช่การเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ หนี้เดิมตามเช็คยังมีอยู่ ไม่ทำให้คดีอาญาเลิกกันตามมาตรา 7 (ฎ. 2420/41) เรื่องนี้โจทก์จำเลยตกลงผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเป็นเงิน ศาลฎีกาถือว่าเป็นข้อตกลงผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น แต่ถ้ามีการออกเช็คผ่อนชำระแทนเช็คพิพาทศาลฎีกาถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว และเป็นการยอมความในคดีอาญาตามมาตรา 39(2) ด้วย (ฎ. 1053/42)
- เมื่อยอมความกันถูกต้องแล้ว แม้ผู้เสียหายจะแถลงต่อศาลว่า สุดแต่ศาลจะพิจารณาสิทธินำคดีอาญามาฟ้องก็ระงับไป (ฎ. 73/23)
- แต่ถ้ายังไม่มีการตกลงยอมความกันการที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องฝ่ายเดียวต่อศาลว่าไม่ติดใจเอาโทษจำเลยต่อไป ดังนี้ไม่ใช่การยอมความ (ฎ. 260/36, 238/24) เพราะการยอมความต้องมีการตกลงกัน แต่มีคำสั่งคำร้องที่ 4548/39 บอกว่าการที่ผู้เสียหายมีหนังสือถึงจำเลยว่าไม่ติดใจเอาความ เป็นการยอมความแล้ว ( ค.ฎ. 4548/39)
สรุป การยอมความต้องประกอบไปด้วย ต้องมีการตกลงกันที่จะยอม และ ต้องไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป
- การยอมความต้องกระทำภายหลังความผิดเกิดแล้ว ข้อตกลงล่วงหน้าไม่ถือว่าเป็นการยอมความ (ฎ. 1403/08)
- การที่จำเลยนำเงินที่ยักยอกมาคืนผู้เสียหาย หรือตกลงว่าจะคืนให้โดยผู้เสียหายไม่ได้ตกลงให้ระงับคดีอาญาด้วย ไม่เป็นการยอมความ (ฎ. 3680/31, 2284/47)
ฟ้องซ้ำ ( มาตรา 39(4)
หลักเกณฑ์ เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ
1. คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดเป็นคำพิพากษาของศาลใด
- คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง หมายถึง คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่ใช่คำพิพากษาถึงที่สุดเหมือนฟ้องซ้ำในคดีแพ่ง ( ป.วิ.พ.มาตรา 148) ดังนั้นคดีอาญาที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ถือว่าคดีนั้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว แม้คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุดเพราะอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ หรือฎีกาก็ตาม (ฎ.3488/29, 3116/25) คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดนี้อาจเป็นคำพิพากษาของศาลทหารก็ได้ (ฎ. 937/87, 764/05)
2. จำเลยในคดีก่อนและคดีหลัง ต้องเป็นคนเดียวกัน
- ในความผิดอาญาเรื่องเดียวกัน แม้โจทก์จะไม่ใช่คนเดียวกัน เช่นผู้เสียหายและอัยการต่างฟ้องจำเลยต่อศาล หากศาลชั้นต้นพิพากษาคดีหนึ่งคดีใดแล้ว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องอีกคดีหนึ่งย่อมระงับไป แม้จะฟ้องคดีไว้ก่อนก็ตาม (ฎ. 1037/01, 1438/27) หรือจำเลยหลายคนถูกพนักงานอัยการฟ้องจนศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป จำเลยคนใดคนหนึ่งในคดีนั้นจะไปฟ้องจำเลยด้วยกันในเรื่องเดียวกันเป็นคดีใหม่ไม่ได้เช่นกัน (ฎ. 738/93, 999/12)
- ศาลลงโทษจำเลยฐานละเมิดอำนาจศาลไปแล้ว พนักงานอัยการและผู้เสียหายมาฟ้องเป็นความผิดตาม ป.อ. ได้อีก ไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะที่ศาลลงโทษจำเลยฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นการลงโทษโดยไม่มีโจทก์ฟ้อง (ฎ. 1120/39, 87/84)
3. คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง
- ** จำเลยต้องถูกดำเนินคดีในคดีก่อนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการสมยอมกัน โดยคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีก่อนอันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา 39 (4) นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยอย่างแท้จริง ดังนี้หากคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องคดีกันอย่างสมยอม เพื่อหวัง ผลมิให้มีการฟ้องร้องแก่จำเลยได้อีก ไม่ใช่เป็นการดำเนินคดีแก่จำเลยอย่างแท้จริง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงยังไม่ระงับ (ฏ. 6446/47, 9334/38)
- ** คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง จะต้องเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงความผิดของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ต้องเป็นการวินิจฉัยถึงเนื้อหาของความผิดด้วย จึงจะถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว เช่น ศาลชั้นต้นยกฟ้องเพราะพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจะเลยกระทำผิดตามฟ้อง หรือ ศาลยกฟ้องโดยถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบมีผลเท่ากับโจทก์พิสูจน์ความผิดของจำเลยไม่ได้ ดังนี้ฟ้องใหม่ไม่ได้ (ฎ. 1382/92)
- แม้จะเป็นการพิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจฟ้อง หากมีการวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งการกระทำของจำเลยแล้วว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิด ก็ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว ฟ้องใหม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 2757/44)
- ศาลยกฟ้องเพราะขาดองค์ประกอบความผิด เท่ากับฟังว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิด แม้จะเป็นคำวินิจฉัยในชั้นตรวจคำฟ้อง ก็ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว(ฎ. 6770/46)
- ** ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเพราะฟ้องมิได้กล่าวถึง เวลา สถานที่ ซึ่งจำเลยกระทำผิด เท่ากับฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยกระทำผิดในเวลาใด สถานที่ใด เป็นการวินิจฉัยความผิดของจำเลยแล้ว ฟ้องใหม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 687/02 ป. , 776/90 ป.) การที่ศาลยกฟ้องเพราะฟ้องไม่ระบุเวลากระทำผิด ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว แต่ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะฟ้องบรรยาย เวลาที่เกิดการกระทำ ผิดในอนาคต ซึ่งเป็นฟ้องเคลือบคลุม ถือว่าศาลยังมิได้วินิจฉัยความผิดที่ได้ฟ้อง ฟ้องใหม่ได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 39(4) (ฎ. 1590/24)
- ศาลยกฟ้องเพราะฟ้องเคลือบคลุม เช่น การบรรยายเวลากระทำความผิดในอนาคต หรือการบรรยายฟ้องขัดกัน ถือว่ายังไม่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง จึงฟ้องใหม่ได้ (ฎ. 2331/14)
- กรณีโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดตามมาตรา 166 ศาลจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132, 174 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ย่อมไม่ถูกต้อง ควรพิพากษายกฟ้อง แต่อย่างไรก็ตามถ้าศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี ดังนี้ ฟ้องใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 162-3/16)
- ศาลยกฟ้องเพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล(ฎ. 3981/35) หรือศาลยกฟ้องเนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 2294/17) ไม่ได้วินิจฉัยถึงการกระทำผิดของจำเลย ถือว่ายังไม่ได้วินิจฉัยความผิดซึ่งได้ฟ้อง จึงฟ้องใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
- ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะคำฟ้องไม่ได้ลงชื่อโจทก์ หรือผู้เรียง ดังนี้ย่อมไม่ได้วินิจฉัยความผิดซึ่งได้ฟ้อง ฟ้องใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 3096/24, 5834/30)
ข้อสังเกต
1) แม้การที่ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ถือว่ายังมิได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ฟ้องใหม่ไม่เป็นฟ้องซ้ำก็ตาม แต่ระหว่างที่คดีเดิมยังไม่ถึงที่สุด การที่โจทก์ฟ้องใหม่ ย่อมเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15 (ฎ. 1012/27)
2) ฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173(1) โจทก์ต้องเป็นคนเดียวกัน แต่หากคดีก่อนผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้อง คดีหลังพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง กรณีดังกล่าวถือว่าโจทก์เป็นคนละคนกัน ไม่เป็นฟ้องซ้อนตามมาตรา 173(1) ดังนั้นถ้าผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องทั้งสองคดี ถือว่าโจทก์เป็นคนเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อน
4. ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
- ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง หมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดนั้นๆ ไม่ได้หมายถึงฐานความผิด ดังนั้น การกระทำความผิดในคราวเดียวกัน หรือการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินคดีแล้ว โจทก์จะฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ แม้จะขอให้ลงโทษคนละฐานความผิดก็ตาม (ฎ. 4656/12)
- การกระทำกรรมเดียวกันมีผู้เสียหายหลายคน เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งได้ฟ้องคดีจนศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ ผู้เสียหายคนอื่นก็จะนำคดีมาฟ้องใหม่อีกไม่ได้ เช่น รับของโจรไว้หลายรายการในคราวเดียวกัน แม้จะเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายต่างรายกัน ก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว โจทก์จะฟ้องจำเลยฐานรับของโจรทรัพย์รายการอื่นอีกไม่ได้ (ฎ. 7296/44ล 4747/33,) หรือหมิ่นประมาทบุคคลหลายคนในคราวเดียวกัน เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องคดีจนมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา 39(4) ผู้เสียหายคนอื่นจะมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ (ฎ. 1853/30) แต่ถ้าผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องจำเลยและได้ถอนฟ้องแล้ว ผู้เสียหายคนอื่นก็ยังฟ้องคดีได้อีก (ฎ. 5934/33)
ข้อสังเกต ดังนั้นจึงได้หลักว่าการกระทำที่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์ฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาในความผิดบทใดบทหนึ่งไปแล้ว ถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว โจทก์จะนำการกระทำเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยอีกไม่ได้ แม้จะฟ้องคนละฐานความผิดกันก็ตาม ดังนั้นจึงต้องศึกษาว่ากรณีใดเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือเป็นความผิดหลายกรรม เช่น
- จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายหลายคนในคราวเดียวกัน เช่นทรัพย์อยู่ในฟ้องเดียวกัน จึงลักเอาไปพร้อมกัน เป็นกรรมเดียวกัน (ฎ. 6705/46, 1104/04) แต่การลักทรัพย์ของผู้เสียหายทีละคนแม้จะเป็นเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดกัน เป็นความผิดหลายกรรม (ฎ. 1281/46)
- การที่จำเลยใช้ไม้ตีทำร้ายผู้เสียหายหลายคนติดต่อกัน ถือว่าเป็นต่างกรรม (ฎ. 1520/06) แต่การทำร้ายโดยไม่แยกแยะว่าใครเป็นใคร เป็นเจตนาเดียวกัน เป็นกรรมเดียว (ฎ. 2879/46) เช่นวางระเบิดครั้งเดียว มีคนเจ็บหลายคน
- กระทำชำเราหญิงในแต่ละครั้งใหม่ เนื่องจากต้องปกปิดมิให้ผู้อื่นรู้ ไม่ต่อเนื่องกัน แยกต่างหากจากกันได้ เป็นความผิดต่างกรรมกัน (ฎ. 4232/47)
- บุกรุกที่ดินของผู้เสียหายหลายคน (โดยเขตที่ดินอยู่ติดกัน) เป็นการกระทำผิดต่างกรรมกัน (ฎ. 2725/35)
- คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกายต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาล ผู้เสียหายถึงความตาย ดังนี้ โจทก์จะฟ้องจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ ตามมาตรา 39(4) เพราะทั้งสองคดีเกิดจากการกระทำอันเดียวกันของจำเลย (ฎ. 3116/25, 1124/96 ป.)
- จำเลยบุกรุกอสังหาริมทรัพย์เพื่อเข้าไปกระทำความผิดอาญาข้อหาอื่น เช่นบุกรุกเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ เป็นความผิดกรรมเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยบางข้อหาจนศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดนั้น โจทก์จะนำข้อหาอื่นมาฟ้องอีกไม่ได้ (ฎ. 1193/29, 1949/47)
- ความผิดฐานมีอาวุธปืนกระบอกเดียวกันไว้ในความครอบครองฯ ครั้งก่อนและครั้งหลังต่อเนื่องกัน เป็นกรรมเดียว เมื่อศาลพิพากษาลงโทษการกระทำครั้งหลังไปแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธินำการกระทำครั้งแรกมาฟ้องอีก (ฎ. 2083/39) เพราะตราบใดที่ยังคงครอบครองอาวุธปืนกระบอกเดียวกัน และเครื่องกระสุนปืนรายเดียวกัน ก็เป็นกรรมเดียวกัน แต่ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านฯ ตาม ป.อ. มาตรา 371 ในแต่ละครั้งเป็นความผิดต่างกรรมกัน
- จำเลยลักเอาเช็คหรือรับของโจรแล้วนำไปปลอม เพื่อเบิกถอนเงินจากธนาคารเป็นเจตนาเดียวกัน เพื่อให้ได้เงินไปจากธนาคาร จึงถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยฐานลักทรัพย์ รับของโจร และฐาน เอาเอกสารของผู้อื่นไป และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยไปแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยอีกในข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอมอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา 39(4)
- จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมก็เพื่อใช้ยักยอกเงินของโจทก์ร่วม เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์ฟ้องข้อหายักยอกจนศาลพิพากษาไปแล้ว จะมาฟ้องจำเลยในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมอีกไม่ได้ เพราะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยระงับไปแล้ว (ฎ. 3238/36)
- ทำความผิดข้อหาปลอมเอกสาร แล้วผู้ทำนำเอกสารนั้นไปใช้ กฎหมายให้ลงโทษข้อหาใช้หรืออ้างเอกสารปลอมนั้นอย่างเดียว ดังนั้น เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องข้อหาปลอมเอกสาร ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ก็ต้องถือว่าความผิดในข้อหาใช้หรืออ้างเอกสารปลอม คดีถึงที่สุดเสร็จเด็ดขาดไปแล้วด้วย ฟ้องใหม่ในข้อหานี้อีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 11326/09 ป.)
- ในความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง เมื่อมีการฟ้องเฉพาะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจนศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว จะฟ้องการกระทำอื่นที่รวมอยู่ด้วยอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 424/20)
- เบิกความเท็จหลายตอนในคราวเดียวกันเป็นความผิดหลายกรรม (ฎ. 908/96)
- ความผิดฐานลักปืนของผู้เสียหายกับความผิดฐานมีอาวุธปืนดังกล่าวไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่างกรรมกัน (ฎ. 888/07 ป.)
- ในความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ถ้าความผิดบทหนึ่งเสร็จไปเพราะศาลชั้นต้น "จำหน่ายคดี เนื่องจากผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์" ถือไม่ได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง จึงไม่ทำให้สิ ทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดอื่นที่เป็นกรรมเดียวกันนั้น ระงับไปด้วย (ฎ. 7320/43)
คดีขาดอายุความ (มาตรา 39(6)
- ฟ้องข้อหาฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. 343 ได้ความว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341 แม้ศาลจะลงโทษได้ในความผิดฐานนี้ได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคท้าย ก็ตาม แต่เมื่อความผิดตามมาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้ หากไม่ได้ร้องทุก๘ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีย่อมขาดอายุความ (ฎ. 4752/45)
- อายุความฟ้องร้องในคดีอาญา มีบัญญัติไว้ใน ป.อ.โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับได้ ดังนั้นแม้โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยในครั้งแรกต่อศาลชั้นต้นแห่งหนึ่งภายในอายุความ แต่คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นนั้น โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่อยู่เขตอำนาจเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้ว คดีจึงขาดอายุความ (ฎ. 588/46)
คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา (มาตรา 40-51)
คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาคือ กรณีความรับผิดในทางแพ่ง มีมูลมาจากการกระทำผิดในทางอาญา โดยคดีดังกล่าวนี้จะฟ้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา หรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้
- การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวีพิจารณาความแพ่ง เช่น คำให้การส่วนแพ่งต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธ รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 ดังนั้น ถ้าจำเลยให้การต่อสู้ในคดีส่วนแพ่งพร้อมกับคำให้การต่อสู้คดีอาญารวมกันว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น ถือว่าคำให้การจำเลยในส่วนแพ่งเป็นคำให้การปฏิเสธลอยๆไม่มีประเด็นว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์และจำเลยซื้อรถยนต์มาโดยสุจริตในท้องตลาด จำเลยจะอุทธรณ์คดีส่วนแพ่งในประเด็นดังกล่าวไม่ได้ (ฎ. 5713/39)
- จำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ในคดีแพ่ง ถือว่าไม่มีประเด็นดังกล่าว (ฎ. 607/36)
- กำหนดเวลาให้ยื่นคำให้การในคดีแพ่งต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับแต่ได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ส่วนคดีอาญานั้นเมื่อศาลสั่งประทับฟ้องแล้ว จะมีคำสั่งให้หมายเรียกจำเลยมาให้การในวันนัดสืบพยานโจทก์ ซึ่งเท่ากับศาลอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การทั้งในส่วนอาญาและส่วนแพ่ง ในวันที่กำหนดนั้น จำเลยจึงไม่ต้องยื่นคำให้การแก้คดีภายใน 15 วัน นับแต่ได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยตามมาตรา ป.วิ.พ.มาตรา 177 (ฎ. 3906/36, 1042/20)
- คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป คำขอในส่วนแพ่งย่อมตกไปด้วย ศาลต้องจำหน่ายคดี (ฎ. 1916/47,1547/29) เช่น กรณีคดีที่อัยการเป็นโจทก์ ฟ้อง เมื่อจำเลยตาย ก็มีผลทำให้คำพิพากษาของศาลล่างในส่วนให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ระงับไปด้วย แม้ในคดีนั้นผู้เสียหายจะเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วยก็ตาม (ฎ. 3271/31) แต่ถ้าผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องเอง เมื่อจำเลยตาย คดีในส่วนแพ่งก็ต้องมีการรับมรดกความ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 42
- คำสั่งไม่ประทับฟ้อง จำเลยไม่อยู่ในฐานะจำเลย หมายถึงคดีส่วนอาญาเท่านั้น แค่ในคดีแพ่ง ถือว่าผู้ถูกฟ้องมีฐานะเป็นจำเลยแล้ว (ฎ. 1881/19)
- สิทธิในการอุทธรณ์ หรือฎีกา ในคดีส่วนแพ่งนั้น ต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ หรือฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 และ 248 แล้วแต่กรณีดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่อย่างไรก็ดี ถ้าคดีส่วนแพ่งต้องห้ามอุทธรณ์ หรือฎีกา ในข้อเท็จจริง แต่ในส่วนคดีอาญาไม่ต้องห้าม การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่ง ก็ต้องถือตามข้อเท็จจริงในส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 46 (ฎ.3548/39)
- การที่ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องคดีอาญาที่มีคำขอในส่วนแพ่ง แล้วพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา ก็ไม่อาจรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาพิพากษาได้ ศาลต้องสั่งไม่รับคดีส่วนแพ่งและคืนค่าธรรมเนียมแก่โจทก์ (ฎ. 3050/44)
การเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหาย( มาตรา 43-44)
- พนักงานอัยการมีสิทธิเรียกทรัพย์สิน หรือ ราคา แทนผู้เสียหายในความผิด เฉพาะ 9 ฐาน คือ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น โจร ยัก รับ กรร ฉ้อ เท่านั้น ( ความผิดยักยอกรวมเจ้าพนักงานยักยอกด้วย ฎ. 631/11 แต่ฐานฉ้อโกง ไม่รวมโกงเจ้าหนี้ ฎ. 392/06)
- การเรียกทรัพย์สินหรือราคาคืน พนักงานอัยการ จะขอรวมไปกับคดีอาญา หรือจะยื่นคำร้องในขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ได้ ( ถ้าศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว แม้คดีจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หรือฎีกา อัยการจะขอไม่ได้) คำพิพากษาในส่วนแพ่งฯ ให้รวมเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา (มาตรา 44)
- ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 147 แต่ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 148 โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ (ฎ. 3793/30)
- ในความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ถ้าความผิดบทเบาเป็นความผิดที่ระบุไว้ในมาตรา 43 แต่ความผิดบทหนักไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 43 ถ้าศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดทั้งสองบท ลงโทษบทหนัก ศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ได้ (ฎ. 255/31) แต่ถ้าในความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท หากศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดบางฐานที่ไม่ใช่ฐานความผิดตามมาตรา 43 ส่วนฐานที่เป็นความผิดตามมาตรา 43 ศาลพิพากษายกฟ้อง ดังนี้อัยการไม่มีอำนาจเรียกทรัพย์หรือราคาแทนผู้เสียหาย (ฎ. 3530/43)
- ในบางกรณีแม้พนักงานอัยการจะไม่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดที่ระบุไว้ ในมาตรา 43 แต่ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายความผิดตามมาตรา 43 รวมอยู่ด้วย ดังนี้ อัยการฯ ขอให้เรียกทรัพย์หรือราคาแทนผู้เสียหายได้ (ฎ. 476/15)
- ความผิดฐานตามมาตรา 149,157, 265 อัยการไม่มีสิทธิขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ (ฎ. 378/20)
- **ทรัพย์สินหรือราคาที่พนักงานอัยการจะเรียกแทนผู้เสียหายได้ จะต้องเป็น "ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิด" ดังนี้ ในคดีฉ้อโกงแรงงานตาม ป.อ.มาตรา 344 ค่าแรงงานไม่ใช่ทรัพย์ที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิด อัยการฯ จึงไม่มีอำนาจขอให้จำเลยใช้ค่าแรงงานที่ยังไม่จ่ายแก่ผู้เสียหาย (ฎ. 1051/10, 3303/31)
- ในคดีรับของโจร เงินที่ผู้เสียหายต้องเสียเป็นค่าไถ่ทรัพย์ให้จำเลย ไม่ใช่ทรัพย์หรือราคาทรัพย์ที่เสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดฐานรับของโจร อัยการฯ จะขอเรียกเงินค้าไถ่ทรัพย์แทนผู้เสียหาย ไม่ได้ (ฎ. 942/07)
- เงินค่าเข้าอยู่โรงแรมก็เป็นเงินที่เจ้าของโรงแรมควรจะได้ ไม่ใช่ทรัพย์สินที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดตามมาตรา 345 (ฎ. 2197/16)
- จำเลยลักเอาหนังสือสัญญากู้เงินของผู้เสียหายไป ทรัพย์สินที่เสียไปคือหนังสือสัญญาเงินกู้ ไม่ใช่เงินตามสัญญากู้ ดังนี้พนักงานอัยการจะขอให้จำเลยใช้เงินตามสัญญาเงินกู้ไม่ได้ (ฎ. 40/08 ป.)
- เงินที่คนร้ายได้จากการขายทรัพย์สินที่ปล้นมา มิใช่ทรัพย์สินที่ผู้เสียหายถูกปล้น ศาลสั่งคืนให้ผู้เสียหายไม่ได้ (ฎ. 384/19)
- ในความผิดฐานฉ้อโกง ทรัพย์สินที่จะขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาได้ต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการหลอกลวงเท่านั้น ทรัพย์สินที่จำเลยได้มาภายหลัง ที่ไม่ใช่การหลอกลวงของจำเลย อัยการฯ ย่อมไม่มีสิทธิขอให้คืนหรือใช้ราคาได้ คำขอของโจทก์ร่วมที่ขอถือเอาตามฟ้องของอัยการย่อมตกไปด้วย (ฎ. 3667/42)
- จำเลยหลอกลวงให้ผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศ ถือว่าเงินค่าตั๋วเครื่องบิน ที่ผู้เสียหายจ่ายให้จำเลยเพื่อให้ผู้เสียหายใช้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ เป็นทรัพย์สิน ที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง แม้ผู้เสียหายจะใช้ตั๋วเครื่องบินเดินทางไปแล้วก็ตาม อัยการฯ เรียกให้จำเลยคืนแทนผู้เสียหายได้ (ฎ. 5401/42)
- สลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลแล้ว มีราคาเท่ากับเงินรางวัลที่จะได้รับจึงถือว่าเงินรางวัลที่จะได้รับเป็นราคาทรัพย์ที่สูญเสียไปโดยแท้จริง อัยการฯขอให้คืนเงินรางวัลได้ (ฎ. 772/20 ป.)
- **อัยการฯ มีสิทธิเรียกได้เฉพาะทรัพย์หรือราคาเท่านั้น จะเรียกดอกเบี้ยไม่ได้ แต่ถ้าผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม ด้วย ถือได้ว่าผู้เสียหายได้เรียกดอกเบี้ยแล้ว แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล (ฎ. 1976/05 ป.)
- ** แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นเพียงความผิดฐานพยายามวิ่งราวทรัพย์ โดยจำเลยไมได้ทรัพย์ของกลางไป แต่ทรัพย์ของกลางสูญหายไปในขณะเกิดเหตุนั้น ถือว่าผลของการกระทำผิดของจำเลย ทำให้ผู้เสียหายต้องสุญเสียทรัพย์นั้นไป จำเลยจึงต้องรับผิดคืนหรือใช้ราคาทรัพย์นั้นแก่ผู้เสียหาย (ฎ. 6624/45)
- คดีที่โจทก์บรรยายฟ้องจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร และให้คืนหรือใช้ราคาแทนผู้เสียหาย ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ความรับผิดทางแพ่งของจำเลยคงจำกัดเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดฐานรับของโจรเท่านั้น (ฎ. 855/30 ป.) และเมื่อจำเลยได้รับทรัพย์ที่รับของโจรคืนไปแล้ว ก็ไม่อาจบังคับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้โจทก์ได้อีก (ฎ. 3098/43)
- ระหว่างพิจารณาโจทก์ร่วมแถลงติดใจให้จำเลยชำระหนี้บางส่วนเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ชำระ จำเลยต้องคืนเงินให้โจทก์เท่าที่แถลงเท่านั้น ไม่ใช่จำนวนตามคำขอท้ายฟ้อง เพราะถือว่าโจทก์ได้สละสิทธิเรียกร้องบางส่วนแล้ว (ฎ. 6916/42)
- แม้ศาลจะยกฟ้องคดีส่วนอาญา ศาลยังมีอำนาจสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายได้ (ฎ. 1039/16 ป.) เช่น อัยการโจทก์ฟ้องจำเลยฐานยักยอก และให้คืนหรือใช้เงินที่จำเลยยักยอกแก่โจทก์ คดีส่วนอาญาศาลวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ไกระทำผิด แต่ศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมตามที่อัยการฯ ขอได้ (ฎ. 4881/39) แต่ถ้าศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะเป็นความรับผิดทางแพ่งล้วนๆ กรณีมิใช่จำเลยได้ทรัพย์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา อัยการไม่มีสิทธิที่จะเรียกทรัพย์ได้ (ฎ. 3112/23)
-** สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ เช่น กรณีฟ้องโจทก์ขาดอายุความ (ฎ. 3746/42) หรือ ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความ (ฎ. 1061/45) หรือกรณีที่ผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย (ฎ. 1547/29) ซึ่งทำให้คำขอในส่วนแพ่งตกไปด้วย อัยการฯ ไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วยก็ตาม (ฎ. 2567/26)
- แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องคดีเอง เมื่อจำเลยตายคดีในส่วนแพ่งต้องมีการรับมรดกความ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 42 (ฎ. 1238/93)
- ในส่วนการใช้ราคานั้น หากไม่ปรากฏว่ามีราคาเท่าใดศาลก็จะไม่สั่งให้ใช้ราคา (ฎ.2212/33) ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏแก่ศาลว่า ผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าเสียหายเกินกว่าราคาทรัพย์ไปแล้ว ศาลก็จะพิพากษาให้คืนหรือใช้ราคาอีกไม่ได้(ฎ. 6553/41)
-ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องและมีคำขอส่วนแพ่งให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย ตามมาตรา 43 ถือว่าอัยการฯ ฟ้องคดีแทนผู้เสียหายด้วย ดังนั้นถ้าคดีอาญายังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายฟ้องจำเลยให้รับผิดในส่วนแพ่งอีก จึงเป็นฟ้องซ้อน ตามวิแพ่ง มาตรา 173(1) ทั้งนี้ไม่ว่าในคดีอาญาผู้เสียหายจะเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม (ฎ. 3080/44) ถ้าคดีอาญาถึงที่สุดไปแล้ว คำฟ้องของผู้เสียหายก็เป็นฟ้องซ้ำ ตาม วิแพ่ง มาตรา 148 (ฎ. 1207/10, 4615/43) แต่เป็นฟ้องซ้อนเฉพาะต้นเงินเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยไม่เป็นฟ้องซ้อน (ฎ. 12414/47 ป.)***
-*** มาตรา 44 วรรคสอง ที่ให้คำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคารวมเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาคดีอาญา ทั้งนี้โดยไม่จำกัดว่าทรัพย์นั้นจะมีราคาเท่าใด ดังนี้คดีที่ฟ้องต่อศาลแขวง แม้ราคาทรัพย์สินที่เรียกจะมีราคามากน้อยเพียงใด ศาลแขวงก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขอในส่วนนี้ได้ (ฎ. 180/90, 2952/27)
สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหาย
เป็นการให้สิทธิแก่ผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย โดยยื่นคำร้องเข้าไปในคดีอาญา โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีแพ่ง
ข้อสังเกต
1. ให้สิทธิแก่ผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายที่ได้รับอันตรายแก่ ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ ชื่อเสียง และทรัพย์สิน
2. ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายเรียกร้องนั้น เป็นค่าสินไหมแทนเพื่อการละเมิด จึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 438-448
3. มาตรา 44/1 รวมถึงการขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยด้วย ดังนั้นถ้าอัยการขอตามมาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหาย จะขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาที่สุญเสียไปอีก ไม่ได้
4. กำหนดเวลา ยื่นคำร้อง ต้องก่อนเริ่มสืบพยานถ้าไม่มีการสืบพยานต้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี (ถือว่าคำร้องเป็นคำฟ้อง ตามวิแพ่ง โดยผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง จึงต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหาย และจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง และหากชนะคดี ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)
คำพิพากษาในส่วนแพ่ง (มาตรา 47)
ต้องเป็นไปตามความรับผิดทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงว่าคดีอาญาศาลจะพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดหรือไม่ เช่น กรณีที่ศาลยกฟ้องโจทก์เพราะฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ ตาม วิ.อาญา มาตรา 158 ศาลก็มีอำนาจสั่งให้จะเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายได้ (ฎ. 2737/17)
- ถ้าศาลยกฟ้องเพราะเป็นความรับผิดทางแพ่งล้วนๆ โดยไม่มีมูลความผิดทางอาญา มิใช่จำเลยได้ทรัพย์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อัยการฯไม่มีสิทธิที่จะเรียกทรัพย์ได้ (ฎ. 3112/23)
- ในกรณีที่คำขอส่วนแพ่งยังเป็นปัญหาอยู่ ศาลอาจให้ไปฟ้องร้องกันในทางแพ่งต่อไปก็ได้ (ฎ. 504-5/43)
การฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ( มาตรา 46)
เมื่อเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา " ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา"
- การพิจารณาว่าคดีใดเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หรือไม่ นั้น ต้องพิจารณาว่าความรับผิดในคดีแพ่ง ต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำผิดในทางอาญาหรือไม่ ถ้าต้องอาศัยก็เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ถ้าไม่ต้องอาศัยก็ไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องฯ เมื่อไม่ใช่แล้วการพิพากษาคดีแพ่งก็ไม่ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญา ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 46 เช่น การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดอาญาในความผิดฐานโกงจ้าหนี้ จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องฯ (ฎ. 2463/39) หรือการฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ ก็ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จ (ฎ. 8032/47)
- คดีแพ่งฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาระหว่างโจทก์ จำเลย ถือเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลตามสัญญา ไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องฯ (ฎ. 185/45,7283/41)
- คดีที่ฟ้องเรียกเงินตามเช็คไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องฯ (ฎ. 120/40)
- แม้คดีแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาว่า จำเลยเข้าใจว่าต้นอ้อยที่จำเลยตัดเป็นของผู้ที่มอบให้จำเลยดูแล และไม่ทราบว่าเป็นของโจทก์ ในคดีแพ่งซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยฐานละเมิด ศาลฟังข้อเท็จจริงได้ว่าการที่จำเลยเข้าใจว่าตนมีอำนาจกระทำได้ เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย เป็นการทำละเมิดต้องรับผิด (ฎ. 2637/42)
หลักเกณฑ์การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
1) คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด (ข้อเท็จจริงในคดีอาญายุติแล้วนั้นเอง)
2) ข้อเท็จจริงดังกล่าวต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญา และวินิจฉัยไว้แล้วโดยชัดแจ้ง
3) คู่ความในคดีแพ่ง ต้องเป็นคู่ความในคดีอาญา
- หากจำเลยถึงแก่ความตายเสียก่อนคดีถึงที่สุดจะนำมาตรา 46 มาบังคับใช้ไม่ได้ ต้องฟังข้อเท็จจริงใหม่ (ฎ. 623/29)
- คำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว แม้จะเป็นคำพิพากษาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ก็ผูกพันคดีแพ่งด้วย (ฎ.1948/20)
- ข้อเท็จจริงดังกล่าวต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและวินิจฉัยไว้แล้วโดยชัดแจ้ง เช่น คำพิพากษาคดีอาญาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยขาดเจตนาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น มิได้วินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นของใคร ประเด็นโดยตรงที่ว่าที่พิพาทเป็นของใครยังไม่ได้วินิจฉัย จะนำข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันคดีแพ่งไม่ได้ (ฎ. 2839/40, 5410/39)
- คดีอาญาศาลพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาในปัญหาที่ว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ มาเป็นข้อยุติในคดีแพ่งไม่ได้ (ฎ. 4377/46)
- คำพิพากษาคดีอาญาฟังว่า " มีเหตุให้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ที่ดินพิพาทอาจเป็นของจำเลยก็ได้และยังโต้เถียงสิทธิครอบครองอยู่" ยังไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงรับฟังเป็นยุติในคดีแพ่งไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นของโจทก์ (ฎ. 8269/44)
- คำพิพากษาในคดีอาญาที่ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอฟังว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้อง เท่ากับฟังว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งถือว่าศาลได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งแล้ว (ฎ. 2286/29)
- คำพิพากษาคดีอาญาวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทยังโต้เถียงสิทธิกันอยู่ ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นของใคร ดังนี้ ถือว่ายังไม่ชัดแจ้งว่าที่พิพาทเป็นของใคร ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ผูกพันคดีแพ่ง (ฎ. 402/30)
- ในคดีลักทรัพย์มีประเด็นเพียงว่า จำเลยเป็นคนร้ายลักข้าวหรือไม่ ประเด็นที่ว่านาข้าวเป็นของผู้ใด ไม่ใช่ประเด็นโดยตรงในคดีอาญา ที่ศาลวินิจฉัยว่านาข้าวเป็นของจำเลยจึงไม่ผูกพันคดีแพ่ง (ฎ. 789/98)
- ข้อเท็จจริงในคดีอาญาฟังว่าจำเลยประมาท การวินิจฉัยคดีแพ่งจึงต้องฟังว่าจำเลยประมาท แต่จำเลยต่อสู้ในคดีแพ่งได้ว่าโจทก์ก็มีส่วนประมาทด้วย ไม่ขัดกับมาตรา 46(ฎ. 1369/14, 2594/23ล 682/34)
- ในคดีอาญาฟังว่าจำเลยขับรถประมาทฝ่าไฟแดง ส่วนในคดีแพ่งฟ้องว่าจำเลยประมาทโดยขัยรถเร็ว เป็นคนละประเภทกัน ต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งใหม่ (ฎ. 2813/28)
- โจทก์และจำเลยเคยถูกฟ้องคดีอาญาเป็นจำเลยด้วยกัน ในคดีอาญาฟังว่าโจทก์และจำเลยต่างมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ในคดีแพ่งจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์จำเลยต่างทำร้ายกัน ไม่เป็นละเมิด (ฎ. 2670/28)
- คำพิพากษาคดีอาญาต้องวินิจฉัยไว้ชัดแจ้งด้วย จึงจะผูกพันในคดีแพ่ง การที่คำพิพากษาในคดีอาญาวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์ตกอยู่ในความสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ถือว่ามิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้ง ไม่ผูกพันคดีแพ่ง ต้องฟังข้อเท็จจริงใหม่ (ฎ. 5178/38, 5018-9/33)
- ถ้าคำพิพากษาคดีอาญาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ ที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยได้ ถือว่าเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีอาญาโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด แม้จะมีข้อวินิจฉัยของศาลด้วยว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีข้อน่าสงสัย และยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยด้วยก็ตาม ก็คงเป็นเหตุผลที่แสดงเพิ่มเติมขึ้นเท่านั้น แต่ในสาระสำคัญศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด (ฎ. 1674/12 ป. , 4209/33)
- ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญาฟังว่าเหตุรถชนกันนั้นอาจเกิดจากความประมาทของจำเลยกับบุคคลอื่น ก็เป็นได้ทั้งสองทางเท่าๆกันและยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยเป็นคำวินิจฉัยที่ยังไม่ยุติว่าเป็นอย่างไร ไม่ผูกพันคดีแพ่ง (ฎ. 928/07)
- ในคดีแพ่งจะรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญาก็แต่เฉพาะข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญ ถ้าเป็นเพียงประเด็นปลีกย่อย ต้องมีการสืบพยานกันต่อไป เช่น ข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ว่าจำเลยที่ 2 บุกรุกที่ดินพิพาท ในคดีแพ่งจำต้องฟังตามตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ส่วนข้อที่ว่าจำเลยบุกรุกเป็นเนื้อที่เท่าใด เป็นประเด็นปลีกย่อย ต้องสืบพยานกันในคดีแพ่งกันต่อไป (ฎ. 695/40)
- ผู้ที่จะถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญาผูกพันในคดีแพ่ง ต้องเป็นคู่ความในคดีอาญาเท่านั้น ถ้าผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา คู่ความในคดีอาญาก็ได้แก่โจทก์และจำเลยนั้นเอง แต่ถ้าในคดีอาญาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ก็ต้องถือว่าพนักงานอัยการดำเนินคดีแทนผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงในคดีอาญาจึงผูกพันผู้เสียหายกับจำเลยในคดีแพ่ง แม้ในคดีอาญาผู้เสียหายไม่ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์ก็ตาม (ฎ. 2731/22, 6598/39)
-การที่คำพิพากษาในคดีอาญาฟังว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แม้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับโอนที่ดินนั้นมาจากจำเลยในคดีอาญาก็ตาม ในคดีแพ่งก็ต้องฟังว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ใช่บุคคลภายนอกคดี(ฎ. 6501/44)
- ในความผิดบางฐาน รัฐเท่านั้นเสียหาย ราษฎรไม่อาจเป็นผู้เสียหายได้ จึงถือไม่ได้ว่าอัยการฟ้องคดีอาญาดังกล่าวแทนผู้เสียหาย เช่นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ข้อเท็จจริงในคดีอาญา จึงไม่ผูกพันคดีแพ่ง (ฎ. 5589/34 ป.)
-คู่ความในคดีอาญาที่จะต้องผูกพันในคดีแพ่งนี้ แม้จะเป็นคู่ความฝ่ายเดียวกันก็ต้องผูกพันด้วย (ฎ. 2670/28) แต่คำพิพากษาคดีส่วนอาญาไม่ผูกพันถึงบุคคลภายนอกด้วย เช่นนายจ้าง บริษัทประกันภัย (ฎ. 2061/17, 1957/34, 296/47, 1425/39 )
- * การพิพากษาคดีส่วนอาญาไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีแพ่ง (ฎ. 5695/44) และไม่มีกฎหมายบังคับให้การพิพากษาคดีอาญาจะต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญาเรื่องอื่น แม้จะมีมูลกรณีเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันก็ตาม (ฎ. 2320/23)
-** คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งในการพิพากษาคดีแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงเฉพาะในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเท่านั้น ไม่รวมถึงความเห็นของพนักงานสอบสวน แม้จะเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาก็ตาม (ฎ. 366/46) และต้องไม่รวมถึงข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนที่มีการเปรียบเทียบปรับ (ฎ. 176/38)
- ถ้ามีการฟ้องคดีแพ่งต่างหากต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่ง การพิจารณาพิพากษาจึงแยกจากกัน ในคดีส่วนแพ่งจึงชอบที่จะงดการพิจารณาไว้เพื่อรอฟังผลคดีส่วนอาญาก่อน (ฎ. 960/20)
- คำพิพากษาคดีส่วนอาญาฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ข้อเท็จจริงในคดีแพ่งก็ต้องฟังเช่นเดียวกัน และต้องฟังว่าต้นไม้ยืนต้นที่ปลูกในที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ด้วย เพราะเป็นส่วนควบของที่ดิน (ฎ. 416/46)
หมายจับ
- เหตุที่จะออกหมายจับ
1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี ( กรณีนี้ไม่ต้องพิจารณาว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือ ก่อเหตุร้ายประการอื่น ด้วยหรือไม่ )
2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือ ก่อเหตุร้ายประการอื่น
- สังเกตว่าหลักเกณฑ์การออกหมายจับทั้งสองกรณีข้างต้น ต้องประกอบไปด้วย "ต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลนั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญา" ศาลจึงจะออกหมายจับให้
การจัดการตามหมายจับ
จะต้องจัดการตามเอกสาร หรือหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
1) สำเนาหมายอันรับรองว่าถูกต้อง
2) โทรเลขแจ้งว่าได้ออกหมายแล้ว
3) สำเนาหมายที่ส่งทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ฯ
การจัดการตามข้อ 2 ,3 ให้ส่งหมายหรือสำเนาอันรับรองแล้วไปยังเจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายโดยพลัน
ฎ. 3031/47 เมื่อดาบตำรวจ ป. พบ ส. ผู้ต้องหาซึ่งมีการออกหมายจับไว้แล้ว ดาบตำรวจ ป. จับกุม ส. ได้ เป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย เอกสารหมาย จ. 1 เป็นสำเนาที่ทำขึ้นโดยการพิมพ์ และมีเจ้าหน้าที่ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง ซึ่งเป็นวิธีการจัดทำสำเนาเอกสารวิธีหนึ่ง นอกจากการจัดทำสำเนาเอกสารด้วยการถ่ายจากต้นฉบับ ดังนั้นแม้เอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ถ่ายจากต้นฉบับ และผู้ลงลายมือชื่อออกหมายไม่ได้เป็นผู้รับรอง ก็ไม่ทำให้เอกสาร จ.1 เป็นสำเนาที่ไม่ชอบ อันจะมีผลทำให้การจับกุม ส. ของ ดาบตำรวจ ป. เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่ประการใด
การจับโดยไม่ต้องมีหมายจับของศาล
พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ จะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับ หรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าตามมาตรา 80 ซึ่งได้แก่ ความผิดซึ่ง เห็นกำลังกระทำ หรือพบในอาการใด ซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขากระทำผิดมาแล้วสดๆ และในกรณีความผิดตามที่ระบุไว้ท้าย ป.วิ.อาญา ให้ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า ดังนี้
1.1 เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับ ดั่งผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ
1.2 เมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทำผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุนั้น และมีสิ่งของที่ได้จากการกระทำผิด หรือมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอื่นอันสันนิษฐานได้ว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น
2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นที่อาจใช้ในการกระทำความผิด
3) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือ ก่อเหตุร้ายประการอื่น แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว ตามมาตรา 117
- *** พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับได้ ถ้าเป็นความผิดซึ่งหน้า (มาตรา 78(1)) ถ้าความผิดซึ่งหน้านั้นกระทำลงในที่รโหฐานก็มีอำนาจเข้าไปค้นในที่รโหฐานได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น (มาตรา 92(2)) และถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งอาจทำการค้นในเวลากลางคืนได้ (มาตรา 96(2)) เช่น จ่าสิบตำรวจ ส. และร้อยตำรวจเอก ป. จับจำเลยได้ขณะที่จำเลยกำลังขายวัตถุออกฤทธิ์ ให้แก่สิบตำรวจ ส. ผู้ล่อซื้อ ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า ขณะนั้นธนบัตรที่ใช้ล่อซื้ออยู่ที่จำเลยและจำเลยดิ้นรนต่อสู้ ถ้าปล่อยให้เนิ่นช้าจะนำหมายจับและหมายค้นมาได้ จำเลยอาจหลบหนี และพยานหลักฐานอาจสูญหาย จึงเป็นกรณีที่ฉุกเฉินอย่างยิ่ง จ่าสิบตำรวจ ส. และร้อยตำรวจเอก ป. จึงมีอำนาจเข้าไปในบริเวณบ้านที่เกิดเหตุ อันเป็นที่รโหฐานในเวลากลางคืนโดยไม่ต้องมีหมายค้น และมีอำนาจจับจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดได้ โดยไม่ต้องมีหมายจับ ตามมาตรา 80,81 ประกอบมาตรา 92(2) และ 96(2) (ฎ. 4461/40)
- *** เจ้าพนักงานตำรวจจับผู้กระทำความผิดคนหนึ่งได้ในขณะล่อซื้อยาเสพติดให้โทษ ถือเป็นความผิดซึ่งหน้า แล้วพาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมผู้ร่วมกระทำความผิดในเวลาต่อเนื่องทันที ถือว่าเป็นการจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า เช่นกัน เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจเข้าไปจับกุมผู้กระทำความผิดคนหลังนี้ในห้องพัก อันเป็นที่รโหฐานได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ(มาตรา 78(1)ประกอบมาตรา 81 และไม่ต้องมีหมายค้น (มาตรา 92(2) ฎ.1259/ 42
- เจ้าพนักงานตำรวจซุ่มดูเห็นจำเลยซื้อขายยาเสพติดให้โทษแก่สายลับ จึงเข้าตรวจจับกุมจำเลย พบยาเสพติดให้โทษอีกจำนวนหนึ่ง เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายและมียาเสพติดให้โทษในความครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นความผิด ซึ่งหน้า และการตรวจค้นจับกุมได้กระทำต่อเนื่องกัน เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจค้นและจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับและหมายค้น ตามมาตรา 78(1) ,92(2) (ฎ.1848/47) , 1328/44
- เจ้าพนักงานตำรวจเห็นจำเลยโยนยาเสพติดให้โทษออกไปนอกหน้าต่าง เป็นกรณีเจ้าพนักงานพบจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองอันเป็นความผิดซึ่งหน้า และได้กระทำลงในที่รโหฐาน เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายค้น ตาม มาตรา 78(1) , 92(2)
- เจ้าพนักงานตำรวจแอบดูเห็นคนเล่นการพนันอยู่ในบ้าน ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า (ฎ. 698/16 ป.)
- กรณีที่วินิจฉัยว่าไม่เป็นความผิดซึ่งหน้า เช่น การทะเลาะวิวาท ซึ่งได้ยุติลงไปก่อนแล้ว ไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมาภายหลังเกิดเหตุ ไม่มีอำนาจจับโดยไม่มีหมายจับ (ฎ. 4243/42)
การจับโดยมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ตามมาตรา 78(3)
การจับไม่ต้องมีหมายจับ กรณีมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้น ตามมาตรา 66(2) แต่มีความจำเป็นอันเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ (มาตรา 78(3)
เหตุออกหมายจับตามมาตรา 66(2) คือ กรณีเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น กรณีหากมีความจำเป็นเร่งด่วนไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้ทัน เจ้าพนักงานตำรวจฯ ก็มีอำนาจจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ และเมื่อมีการจับโดยชอบแล้ว แม้จะมีเจ้าพนักงานตำรวจบางคนซึ่งไม่ได้ร่วมจับกุมด้วยมาร่วมลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม ก็ไม่ทำให้การจับกุมกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 2612/43)
- แม้การจับกุมจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่ทำให้การสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายเสียไปด้วย เพราะถือว่าเป็นคนละขั้นตอนกัน (ฎ. 1547/40ล 2699/16)
การออกหมายขัง
- ผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกจับ ไม่อยู่ในอำนาจ ควบคุมของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ จะขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวนไม่ได้
- คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ขังผู้ต้องหาต่อไป จะอุทธรณ์หรือฎีกาไม่ได้ (ฎ. 1125/96)
- เมื่อครบกำหนดเวลาตามที่ขอให้ศาลออกหมายขังตามมาตรา 87 แล้ว เจ้าพนักงานต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไป ต่อมาถ้าจะต้องฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล เจ้าพนักงานฯ มีอำนาจจับตัวมาเพื่อฟ้องคดีต่อศาลได้ เพราะพนักงานอัยการต้องนำตัวจำเลยมาส่งศาลในขณะยื่นฟ้องด้วย (ฎ. 515/91 ป.) แต่จะควบคุมได้เท่าที่จำเป็นในการนำตัวส่งศาลเท่านั้น จะควบคุมเพื่อเหตุอื่น เช่น เพื่อการสอบสวนต่อไปหรือรออัยการสั่งฟ้อง ไม่ได้
- กรณีศาลออกหมายขังผู้ต้องหาแล้ว ผู้ต้องหาหลบหนีไป ถือว่าผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว ไม่ต้องนำตัวจำเลยมาศาลในวันยื่นฟ้อง (ฎ. 1735/14 ป.)
- ก่อนประทับฟ้องศาลไม่มีอำนาจออกหมายขังจำเลย (มาตรา 88 ) (ฎ. 2756/24)
- ** ในการยื่นฟ้องจำเลยที่ต้องขังต่อศาลศาลจะขังจำเลยต่อไป หรือปล่อยชั่วคราวก็ได้ จำเลยที่ถูกขังในคดีหนึ่ง เมื่อถูกฟ้องอีกคดีหนึ่ง ศาลก็อาจออกหมายขังได้อีก เพราะไม่มีบทกฎหมายใดห้ามไว้ว่าเมื่อจำเลยถูกขังในคดีหนึ่งแล้วจะถูกขังในคดีอื่นอีกไม่ได้(ฎ. 2766/40)
การค้นในที่รโหฐาน (มาตรา 92)
ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐาน โดยไม่มีหมายค้นคือคำสั่งศาล เว้นแต่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็น ผู้ค้นและในกรณีดังนี้ 1) มีเสียงร้อง... 2) ต้องซึ่งหน้า... 3) ว่าซุกซ่อน...4) จรเนิ่นช้า.. 5) ถ้าเจ้าบ้าน...
- เมื่อเจ้าพนักงานไปทำการตรวจค้นตามหมายค้นที่ศาลออกให้ตามคำขอของเจ้าพนักงาน แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย "กระบวนการต่างๆในการค้นได้เสร็จสิ้นยุติไปแล้ว" เจ้าของบ้านที่ถูกค้นจะขอให้ศาลไต่สวนเพื่อทราบสาเหตุและหลักฐานอันเป็นที่มาในการขอออกหมายค้นไม่ได้ หากเห็นว่าเป็นการขอตรวจค้นโดยไม่มีพยานหลักฐานก็ต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีต่างหาก (ฎ. 270/43)
-เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจซุ่มดูเห็นจำเลยซื้อขายยาเสพติดให้โทษแก่สายลับ จึงเข้าตรวจจับกุมจำเลย พบยาเสพติดให้โทษอีกจำนวนหนึ่ง เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายและมียาเสพติดให้โทษในความครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้า และการตรวจค้นจับกุมได้กระทำต่อเนื่องกัน เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจค้นและจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับและหมายค้น ตามมาตรา 78(1) ,92(2) (ฎ.1848/47) , 1328/44
- เจ้าบ้านตามมาตรา 92(5) หมายถึงผู้เป็นหัวหน้าของผู้ที่อยู่อาศัยในบ้าน และรวมถึงคู่สมรสผู้เป็นหัวหน้า ด้วย (ฎ. 1035/36)
-*** กรณีที่เจ้าของที่รโหฐานยินยอมในการค้น แม้จะไม่มีหมายค้นก็ไม่ทำให้การค้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 1164/46)
- วิธีการค้นในที่รโหฐาน ให้พนักงานผู้ค้นแสดงหมายค้น ถ้าค้นไม่มีหมายค้นต้องแสดงนามและตำแหน่ง และถ้าเจ้าของหรือผู้อยู่อาศัยฯ ไม่ยอมให้ค้น ก็มีอำนาจใช้กำลังเพื่อเข้าไป ในกรณีจำเป็นจะเกิดหรือทำลายประตูบ้าน ประตูเรือน หน้าต่าง รั้ว หรือสิ่งกีดขวางอย่างอื่นทำนองเดียวกันนั้นก็ได้ (ฎ. 6403/45)
- ผู้ต้องหากระทำความผิดเล็กน้อย แล้วหลบหนีเข้าไปในบ้านของตนซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจรู้จักดีและไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ไม่ถือว่าเป็นเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่งตามมาตรา 96(2) (ฎ. 187/07, 675/83)
- การค้นที่รโหฐานต้องกระทำต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัว จึงจะเป็นการค้นที่ชอบด้วยกฎหมาย บุคคลในครอบครัวนั้นแม้จะยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต้ถ้าบุคคลนั้นเข้าใจสาระสำคัญของการกระทำ และมีความรู้สึกผิดชอบเพียงพอ ก็เป็นการค้นที่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 1455/44) แม้บุคคลในครอบครัวจะตาบอดทั้งสองข้างและหูหนวก แต่มีบุคคลอื่นอีกหนึ่งคนซึ่งได้เชิญมา ก็เป็นการค้นที่ชอบด้วยกฎหมาย(ฎ. 395/19)
- การค้นตัวบุคคลในที่สาธารณสถานตามมาตรา 93 ห้ามมิให้ค้นฯ เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจเป็นผู้ค้น ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครอง เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด สาธารณสถานก็ เช่น ห้องโถงในสถานการณ์ค้าประเวณีผิดกฎหมาย เวลาแขกมาเที่ยว เป็นสาธรณสถาน ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ การค้นตัวบุคคลจึงไม่ต้องมีหมายค้น (ฎ. 883/20 ป.)
การขอปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมาย (มาตรา 90)
เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกควบคุมหรือขังในคดีอาญา หรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลดังต่อไปนี้ 1) ผู้ถูกคุมขังเอง 2) พนักงานอัยการ 3) พนักงานสอบสวน 4) ผบ.เรือนจำหรือพัศดี 5) สามี ภริยา 6) ญาติของผู้นั้น 7) บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลแห่งท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาเพื่อขอให้ปล่อยตัว
เมื่อศาลได้รับคำร้องแล้วให้ดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที
- * ถ้าในระหว่างการไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว ดังนี้ไม่จำต้องไต่สวนคำร้องต่อไป
การสอบสวน ( มาตรา 140-147)
ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
- ในกรณีขอแก้ไขฟ้องโดยเพิ่มฐานความผิด ก็ต้องมีการสอบสวนในฐานความผิดที่ขอเพิ่มเติมนั้นด้วยเช่นกัน (ฎ. 750/94, 801/11) ถ้าได้มีการสอบสวนฐานความผิดที่จะขอแก้ฟ้องแล้ว ดังนี้ขอแก้ได้แม้ศาลอนุญาตให้แก้แล้วจะเกินอำนาจศาลก็ตาม (ฎ.993/27)
การสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้แก่
1. การสอบสวนที่กระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจตามบทบัญญัติมาตรา 18 และ19
การสอบสวนที่กระทำโดยพนักงานสอบสวนที่ไม่มีอำนาจ ถือว่าไม่มีการสอบสวน พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 (ฎ. 518/06, 726/83) หรือกรณีที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไม่เป็นไปตามมาตรา 18 วรรคสาม ,19 วรรคสอง ก็ถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนคดีนั้น พนักงานอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้องเช่นกัน(ฎ. 1974/39, 1350/82)
2. ในคดีความผิดต่อส่วนตัวพนักงานสอบสวน จะทำการสอบสวนได้ต้องมีการร้องทุกข์ตามระเบียบ
ดังนั้นหากไม่มีคำร้องทุกข์ หรือเป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าไม่มีการสอบสวน อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง (ดูในเรื่องการร้องทุกข์)
- ผู้ที่ร้องทุกข์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ถือว่าความผิดต่อส่วนตัวนั้นไม่มีการร้องทุกข์ตามกฎหมาย(ฎ.4648/28 ป.)
- กรณีการกระทำความผิดต่อห้างนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด นิติบุคคลดังกล่าวเป็นผู้เสียหาย ผู้แทนนิติบุคคล เช่น หุ่นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการผู้จัดการ มีอำนาจร้องทุกข์แทน บุคคลอื่นแม้จะเป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย (ฎ. 610/15) การที่ผู้แทนนิติบุคคล หรือ ผู้จัดการน ไปร้องทุกข์ในนามส่วนตัว ถือว่าผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้ร้องทุกข์ (ฎ. 5008/37, 1250/21 ป.)
- การมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ต้องมีความชัดเจนว่ามอบอำนาจให้ร้องทุกข์แทน หนังสือมอบอำนาจที่มีข้อความว่ามอบอำนาจให้ฟ้องต่อศาล ไม่รวมถึงมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ (ฎ. 610/15)
- การแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ไม่ใช่คำร้องทุกข์ (ฎ. 4906/43)
- คำให้การในของผู้เสียหายชั้นสอบสวนถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ ได้ (ฎ. 1641/14)
- ในความผิดที่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การที่ผู้เสียหายร้องทุกข์โดยระบุฐานความผิดบางข้อหา ถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ในข้อหาอื่นด้วย (ฎ. 2429/37)
- เมื่อได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้วแต่พนักงานสอบสวนบกพร่องไม่ระบุข้อหาให้ครบถ้วน ก็ไม่ทำให้การร้องทุกข์เสียไป (ฎ. 2167/28)
- หนังสือร้องทุกข์ของผู้เสียหายหลายคน แต่ผู้เสียหายลงชื่อในหนังสือร้องทุกข์เพียงบางคน ถือว่าผู้เสียหายที่ไม่ได้ลงชื่อ ไม่ได้ร้องทุกข์ด้วย (ฎ. 2730/38)
- บริษัทมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปร้องทุกข์ กรรมการที่ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจมีเพียงคนเดียว แต่ตามข้อบังคับของบริษัทต้องมีกรรมการรวม 2 คน ลงชื่อผูกพันบริษัทได้ การมอบอำนาจดังกล่าว จึงไม่ผูกพันบริษัทโจทก์ จึงถือว่าบริษัทโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คฯ
-**คำร้องทุกข์ไม่มีแบบ จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ (ฎ. 719/83) แม้ พงส. จะยังไม่ลงบันทึกประจำวันก็เป็นคำร้องทุกข์ (ฎ. 2371/22)
- การร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานที่ไม่มีอำนาจรับคำร้องทุกข์ เช่นร้องทุกข์ ต่อ รมต.มหาดไทย ถือว่าไม่มีการร้องทุกข์
- ถ้าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานตำรวจร้องทุกข์ต่อตนเอง ก็ถือว่าเป็นการร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายได้ (ฎ. 292/82)
- การถอนคำร้องทุกข์ ที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา 39(2) นั้น ต้องกระทำก่อนคดีถึงที่สุด (ฎ. 284-5/38, 5689/45)
- ในความผิดที่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีทั้งความผิดอันยอมความได้และมิใช่ความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเฉพาะความผิดอันยอมความได้เท่านั้น อัยการฯ ยังคงมีอำนาจดำเนินคดีที่มิใช่ความผิดอันยอมความได้ต่อไป (ฎ. 1925/41)
-จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรทรัพย์ที่ได้มาจากความผิดฐานยักยอก แม้ผู้ร้องทุกข์จะถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอก จำเลยก็คงมีความผิดฐานรับของโจรอยู่ (ฎ. 6152/40)
- สิทธิขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัวที่เกี่ยวกับทรัพย์สินตกทอดแก่ทายาท ทายาทจึงขอถอนคำร้องทุกข์ได้ ( คร.751/41)
- การที่อัยการฯ ได้รับคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์แล้ว ถือเป็นการถอนคำร้องทุกข์โดยชอบแล้ว ศาลไม่ต้องสอบถามผู้เสียหายอีก (ฎ. 1505/42)
- โจทก์ร่วมขอถอนฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวที่อัยการฯ เป็นโจทก์ ถือว่าผู้เสียหายประสงค์จะถอนคำร้องทุกข์นั้นเอง (ฎ. 746/47)
3. การแจ้งข้อหา
การสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องมีการแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหา และแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหา
-ในความผิดที่เกี่ยวกับการกระทำอันเดียวกัน หรือความผิดอันเกี่ยวพันกัน พนักงานสอบสวนไม่จำต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิด ดังนี้เมื่อพนักงานสอบสวน ได้แจ้งบางข้อหา พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนได้ทุกข้อหา (ฎ.5433/43, 3426/43) นอกจากนี้เมื่อได้แจ้งข้อหาหนึ่งแล้ว หากมีความผิดฐานอื่นปรากฏขึ้นในระหว่างการสอบสวน ก็ถือว่าได้สอบสวนความผิดฐานนั้นด้วยแล้ว (ฎ. 3288/35) เพราะการแจ้งข้อหาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 134 ก็เพื่อประสงค์ให้ผู้ต้องหาทราบและเข้าใจ ถึงการกระทำของตนว่าเป็นความผิด หาได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบทุกกรรมเป็นความผิดไม่ เช่นเดิมแจ้งข้อหาตามมาตรา 157, และ 165 มิได้แจ้งมาตรา 138 ด้วย แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าการกระทำเป็นความผิดตามมาตรา 138 ก็เรียกได้ว่า ได้มีการสอบสวนในความผิดฐานนี้แล้ว (ฎ. 6962/39)
- แต่หากเป็นความผิดที่ไม่เกี่ยวเนื่องกัน หรือมีเนื้อหาต่างกัน ต้องแจ้งทุกข้อหาด้วย เช่น หุ้นส่วนผู้จัดการยักยอกทรัพย์ของห้าง พงส. แจ้งข้อหาแก่จำเลยฐานยักยอก ไม่ได้แจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวเนื่องกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน พ.ศ.2499 มาตรา 46 ฐานทำงบดุล ถือไม่ได้ว่า มีการสอบสวนความผิดฐานนี้ (ฎ.1250/21 ป.)
- **การไม่แจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบนี้ เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้อัยการฟ้องคดีในข้อหาดังกล่าวต่อศาลเท่านั้น ในกรณีที่เป็นข้อหาที่ศาลพิจารณาได้ความตามมาตรา 192 วรรคสาม แม้ข้อหานั้นพนักงานสอบสวนจะมิได้มีการแจ้งข้อหาไว้ ศาลก็ลงโทษจำเลยได้ เช่น โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงทีปรากฎในทางพิจารณาฟังได้ว่าเป็น รับของโจร เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลลงโทษในความผิดฐานรับของโจรได้ ส่วนการที่พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อกล่าวหา และสอบสนจำเลยในข้อหารับของโจร เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้พนักงานอัยการนำคดีในข้อหาดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลเท่านั้น (ฎ. 2129/37)
- ในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นนิติบุคคล การแจ้งข้อหาแก่กรรมการผู้มีอำนาจ แม้ไม่ได้ระบุว่าแจ้งข้อหาดำเนินคดีแก่นิติบุคคลด้วย ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อหาแก่นิติบุคคลด้วยแล้ว (ฎ. 935/37)
- การสอบสวนพยานหลายคนพร้อมกัน และมีบุคคลอื่นนั่งฟังการสอบสวยนอยู่ด้วย การสอบสวนก็ไม่เสียไป (ฎ. 9378/39)
-การจับหรือการตรวจค้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป เพราะเป็นคนละขั้นตอนกัน (ฎ. 99/41, 1547/40)
- การสอบสวน กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องสอบสวนมากน้อยเพียงใด (ฎ. 4037/42) พนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องสอบพยานโจทก์ทุกปาก (ฎ. 1907/94) แต่การสอบสวนผู้ต้องหา เป็นส่วนสำคัญและจำเป็นของการสอบสวน หากยังมิได้มีการสอบสวนผู้ต้องหา ก็ยังถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนคดีนั้น ดังนั้นพนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 99/81, 545/96) และการสอบปากคำในฐานะพยาน ไม่เป็นการแจ้งข้อหาและสอบสวนจำเลยในข้อหานั้น ( 2449/24)
- การสอบสวนของ พงส. ในขณะที่ไม่ได้เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่พงส. ก็ถือเป็นกาสอบสวนโดยชอบ (ฎ. 3096/36)
-การทำแผนที่เกิดเหตุ เป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน แต่ถึงหากกระทำไปไม่ชอบเพราะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก็ไม่มีผลกระทบถึงกับเป็นเหตุให้การสอบสวนเสียไป (ฎ. 4546/36)
- การที่ล่ามแปลคำให้การในชั้นสอบสวนโดยมิได้สาบาน หรือปฏิญาณตน ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ (ฎ. 5476/37)
กรณีที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้เจ้าพนักงานอื่นทำแทนได้ (มาตรา 128)
1) ส่งประเด็นไปให้ พงส. อื่นทำการสอบสวนในเรื่องที่อยู่นอกเขตอำนาจของตน
2) การสอบสวนในเรื่องเล็กน้อย ซึ่งอยู่ในอำนาจของตน ไม่ว่าทำเองหรือจัดการตามประเด็น มีอำนาจสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำแทนได้
- ตามมาตรา 128 ต้องไม่ใช่เรื่องสำคัญๆ ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อยมีอำนาจสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำแทนได้ เช่น การแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลย (ฎ. 3031/47)
การสอบสวน( มาตรา 130-147)
- ให้เริ่มทำการสอบสวนโดยไม่ชักช้า จะทำที่ใด เวลาใด แล้วแต่จะเห็นสมควรโดยผู้ต้องหาไม่จำต้องอยู่ด้วย มาตรา 130) แต่ผู้ต้องหาก็มีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม (มาตรา 134) อย่างไรก็ตาม การไม่ปฎิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการสอบสวนนั้นเป็นการสอบสวนไม่ชอบ ดังนั้นแม้พนักงานสอบสวนเพิ่งเริ่มทำการสอบสวนหลังจากได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาแล้วเป็นปี ก็ไม่ทำให้การสอบสวนนั้นไม่ชอบ (ฎ. 430/46)
-การรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน( มาตรา 131) ต้องรวบรวมเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความ บริสุทธิ์ของผู้ต้องหาด้วย
มาตรา 158(5) ฟ้องต้องระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด
1. การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด หมายถึง การกระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิด ดังนั้น ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
1.1 ข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ไม่ต้องบรรยายมาในฟ้อง เช่น
- ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและศาลรอการลงโทษจำคุกไว้ และจำเลยกระทำผิดคดีนี้ ในเวลาที่ศาลรอการลงโทษไว้ ศาลสามารถรับฟังข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบเสาะและเป็นดุลพินิจจะใช้อำนาจบวกโทษที่รอไว้หรือไม่ก็ได้ ไม่เกินคำขอ ฎ.1081/44)
- ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 ข้อที่ว่าการที่จำเลยจะได้ไปติดต่อหรือจูงใจเจ้าพนักงานหรือไม่ เป็นเพียงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยเท่านั้น หาใช่องค์ประกอบแห่งความผิดไม่ ( ฎ.960/34)
1.2 การบรรยายฟ้องที่เป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดนั้น ไม่ได้เคร่งครัดว่าจะต้องใช้ถ้อยคำตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายทุกประการ การบรรยายฟ้องที่ใช้ถ้อยคำอื่นแต่มีความหมายเช่นเดียวกัน ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ เช่น
- ในความผิดฐานฉ้อโกง หรือ ลักทรัพย์ การที่บรรยายฟ้องว่า "บังอาจ" ไม่มีคำว่าโดยทุจริต ก็เป็นการฟ้องที่สมบูรณ์ (ฎ.6711/39) หรือในความผิดฐานบุกรุกไม่ได้บรรยายว่าจำเลยเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร แต่บรรยายฟ้องคำว่า "บังอาจบุกรุก" ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยกระทำการตามที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดแล้ว (ฎ. 306/17 )
-ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตาม ป.อ.มาตรา 276 นั้น แม้จะไม่ได้ระบุว่าผู้เสียหายเป็นหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของจำเลยก็ตาม แต่ถ้าได้ระบุว่าผู้เสียหายยังเป็นนางสาว ย่อมเข้าใจได้ว่าผู้เสียหายเป็นหญิงที่ยังไม่มีสามี และมิได้เป็นภริยาของผู้ใดรวมทั้งจำเลยด้วย (ฎ.352/07)
- ในความผิดอันยอมความได้ ไม่ต้องบรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว (ฎ.5155/41)
- การฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาต่อศาลแขวง โดยให้ศาลบันทึกใจความแห่งคำฟ้องไว้เป็นหลักฐาน จึงไม่ต้อง ปฎิบัติตาม วิ.อาญา มาตรา158 โดยเคร่งครัด เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสอบถามรายละเอียดพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ ( ฎ.7712/44)
- ความผิดฐานหมิ่นประมาท โจทก์ต้องบรรยายฟ้องด้วยว่าข้อความตอนใดทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังอย่างไร จึงจะเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ (ฎ.3050/44)
- ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ต้องบรรยายว่าจำเลยได้กระทำโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ จึงจะเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ (ฎ.288/2515) ดังนั้นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำไปทั้งที่คาดหมายได้ว่าโจทก์ต้องฟ้องบังคับคดี หรือบรรยายฟ้องแต่เพียงว่ามีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นคำฟ้องไม่ชอบ ไม่สมบูรณ์ ขาดสาระสำคัญ ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อาญา มาตรา 350 (ฎ.184/41)
- ความผิดฐานเบิกความเท็จต้องบรรยายว่า ข้อความที่เป็นเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีและข้อสำคัญนั้นเป็นอย่างไร ถ้าไม่บรรยายเป็นฟ้องไม่สมบูรณ์ (ฎ.19/32,2862/39) และต้องบรรยายมาด้วยว่า จำเลยเบิกความเท็จนั้นมีข้อหาความผิดตามกฎหมายใดด้วย(ฎ.274/46)
- ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ต้องบรรยายให้ปรากฎข้อความว่า เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยอย่างไรบ้าง (ฎ.2954/47)
- ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องบรรยายว่าการใช้กำลังประทุษร้ายนั้น กระทำอย่างไร และต้องปรากฎด้วยว่า การใช้กำลังประทุษร้ายนั้นเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตาม ป.อาญา ม.339 อันเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานปล้นทรัพย์ (ฎ.1033/27)
- ความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ต้องบรรยายด้วยว่าได้รับอันตรายสาหัสอย่างไร ตาม ป.อ.มาตรา 297 (ฎ. 6416/34)
- ความผิดฐานยักยอก ต้องบรรยายว่า จำเลยเบียดบังทรัพย์อย่างไร (ฎ. 2352/21) เช่น บรรยายว่าเบียดบังเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว( ฎ. 3274/27) แต่ไม่จำต้องบรรยายว่าเอาไปโดยทุจริต (ฎ. 2722/49)
- ความผิดเกี่ยวกับการกระทำโดยประมาท ต้องบรรยายว่ากระทำประมาทอย่างใด (ฎ.1616/08) เช่น บรรยายว่ายางล้อหน้าด้านขวามือของรถยนต์ที่ขับอยู่ในสภาพเก่า และบรรยายว่าจำเลยขับรถลงเนินด้วยความเร็วสูง (ฎ.1832/34)
- ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่ออนาจาร ไม่ต้องบรรยายว่าจำเลยกระทำอนาจารผู้เยาว์อย่างไร (ฎ.6632/40) แต่ถ้าฟ้องเฉพาะข้อหาอนาจาร ต้องบรรยายว่าอนาจารอย่างไร
- ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ตาม ป.อาญา ม. 220 ต้องระบุด้วยว่า การกระทำของจำเลยน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของบุคคลด้วย (ฎ.5364/36)
- ความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คฯ ต้องบรรยายว่า เป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เพราะเป็นองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 4 (ฎ.7371/44) แม้ไม่ได้ระบุว่าเป็นหนี้ค่าอะไรก็เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ.2602/43) แต่ถ้าบรรยายว่าออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ แม้ไม่ได้ระบุว่าออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายก็เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายเพราะคำว่าชำระหนี้ค่าสินค้า ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย(ฎ. 7262/40) แต่ถ้าเป็นเรื่องออกเช็คชำระหนี้เงินกู้ยืม ต้องระบุด้วยว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จึงจะชอบ (ฎ.4591/45)
การบรรยายฟ้องขัดกัน เป็นฟ้องเคลือบคลุม
การบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดจะต้องไม่ขัดกัน ถ้าขัดกันเป็น " ฟ้องเคลือบคลุม" ดังนั้น ฟ้องที่ขัดกันแม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้
- บรรยายฟ้องว่าจำเลยเบิกความเป็นพยานชั้นสอบสวนอย่างหนึ่ง แล้วเบิกความต่อศาลอีกอย่างหนึ่งแตกต่างกันและขัดกันซึ่งเป็นความเท็จ แต่มิได้บรรยายว่าอย่างไหนจริงหรือความจริงเป็นอย่างไร ยากที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้ถูกต้อง เป็นฟ้องเคลือบคลุม (ฎ.1806/23)
- บรรยายฟ้องว่ากระทำผิดฐานรับของโจรก่อนที่ทรัพย์นั้นจะถูกลักไปหรือถูกยักยอกไป เป็นฟ้องที่ขัดต่อสภาพหรือลักษณะความผิด เป็นฟ้องเคลือบคลุม ( ฎ.2370/44)
เวลากระทำผิด ( มาตรา 158(5))
ฟ้องต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำผิด เวลากระทำผิดหมายถึง เวลากลางวัน กลางคืนรวมทั้งวัน เดือน ปี ที่เกิดเหตุ (ฎ.512/93)
- เวลากระทำผิดต้องเป็นเวลาก่อนที่โจทก์ฟ้อง ถ้าเวลากระทำผิดตามฟ้องเป็นเวลาภายหลังการฟ้อง เป็นการบรรยายฟ้องเวลาในอนาคต เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพศาลก็ต้องยกฟ้อง (ฎ.128/43) เนื่องจากเป็นการรับสารภาพตามฟ้องที่ไม่เป็นความผิด
- การบรรยายวันเวลาเกิดเหตุ ทั้งก่อนฟ้องต่อเนื่องไปจนหลังฟ้องติดต่อกัน เป็นฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ.985/24) เพราะเป็นการกล่าวคลุมไปถึงเวลาที่ยังมาไม่ถึงซึ่งเป็นไปไม่ได้ ทำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจข้อหาตามฟ้องได้ดี
- ฟ้องระบุแต่เพียงเดือนและปีที่ความผิดเกิด หรือบรรยายฟ้องเพียงว่า… เมื่อต้นเดือน… โดยไม่ได้ระบุวันที่ หรือเวลาที่กระทำผิดให้แน่นอน เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ (ฎ. 848/45)
- การบรรยายฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค ฯ ต้องบรรยายวันที่ธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งเป็นวันกระทำผิด หรือถ้าหากการบรรยายทำให้เข้าใจได้ว่าวันใดธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน ก็สมบูรณ์แล้ว แม้ไม่ได้ระบุว่าปฎิเสธวันใด ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ระบุเวลาทำผิดแล้ว (ฎ.2234/41) และแม้ไม่ได้ระบุว่าเกิดเวลากลางวันหรือกลางคืน ก็เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 2041/41) เพราะธนาคารย่อมปฎิเสธการจ่ายเงินในเวลากลางวันอันเป็นเวลาทำการของธนาคาร
-บางคดีเวลากลางวันกลางคืนไม่เป็นสาระสำคัญแห่งการกระทำผิด เช่น ความผิดฐานเล่นการพนันสลากกินรวบ(ฎ. 1626/06(ป))
-ฟ้องฐานยักยอกระบุแต่เพียงวันที่รับมอบทรัพย์ และเวลาที่ต้องคืนทรัพย์ ไม่ระบุวันเวลาที่ยักยอก เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์(ฎ.1773/05) ต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1330/06 วินิจฉัยว่า การระบุวันมอบทรัพย์กับวันตรวจสอบบัญชีพบโดยไม่ระบุวันเวลายักยอก ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์แล้ว ( ฎ. 1330/06)
หมายเหตุ
1. ฟ้องที่ระบุเวลากระทำผิดโดยประมาณก็ใช้ได้ เช่นบรรยายฟ้องว่าวันที่กระทำผิด เป็นประมาณวันที่ 12 กรกฎาคม 2528 (ฎ. 5021/33) เพราะเป็นรายละเอียเกี่ยวกับเวลาพอสมควรเท่าที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว
2. ถ้าโจทก์บรรยายวันเวลากระทำผิดมาแล้ว แม้คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ก็ถือว่ามิใช่ข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ศาลก็ลงโทษจำเลยได้ (ฎ. 1208/42)
3. วันที่รู้เรื่องความผิดไม่ใช่องค์ประกอบความผิด ไม่ใช่รายละเอียดเกี่ยวกับเวลาที่จำเลยกระทำผิด โจทก์ไม่ได้บรรยายมา ศาลสั่งให้แก้ฟ้องได้(ฎ.5059/40)
สถานที่กระทำความผิด
ฟ้องต้องระบุสถานที่ที่เกิดการกระทำผิด โดยปกติจะระบุว่าเหตุเกิดที่ตำบล อำเภอและจังหวัดใด ก็เป็นการเพียงพอแล้ว โดยคำว่าสถานที่ หมายถึง สถานที่เกิดการกระทำผิด หาได้ระบุไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าอยู่หมู่ใด ตำบลใดเสมอไปไม่ เพียงแต่กล่าวอ้างไว้พอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีก็เป็นการเพียงพอแล้วและแม้จะไม่ระบุว่าเหตุเกิดตำบลอำเภอ จังหวัดใด แต่ถ้าจำเลยเข้าใจได้ว่าเหตุเกิดที่ใดก็ใช้ได้ ฎ.951/09(ป))
- เหตุเกิดมี 2 แห่ง บรรยายฟ้องที่เกิดเหตุมาเพียงแห่งเดียวถือว่าเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ (ฎ.4378/28)
- *** คำฟ้องไม่ได้บรรยายสถานที่เกิดเหตุ แต่ถ้าเอกสารท้ายฟ้อง ได้บรรยายเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุไว้ด้วยก็ถือได้ว่าคำฟ้องบรรยายสถานที่เกิดเหตุแล้วโดยอนุโลม เช่น หมายขังซึ่งกล่าวในคำฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของ คำฟ้อง เมื่อหมายขังได้ระบุสถานที่เกิดเหตุไว้ด้วย แม้คำฟ้องจะไม่ได้บรรยายว่าเหตุเกิดที่ใด ก็ถือว่าเป็นฟ้องที่กล่าวถึงสถานที่เกิดเหตุแล้ว (ฎ.1222/46)
บุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้อง
- ในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ต้องระบุว่าทรัพย์นั้นเป็นอะไรด้วย (ฎ. 1360/09 ป) และต้องระบุชื่อเจ้าทรัพย์ด้วยจึงจะเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 338/89) แต่ถ้าอ่านคำฟ้องแล้วพอเข้าใจได้ว่าทรัพย์เป็นของใคร ดังนี้เป็นฟ้องที่สมบูรณ์(ฎ.1809/12) แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่อาจทราบตัวเจ้าทรัพย์ที่แน่นอนได้ ก็ไม่จำเป็นต้องระบุชื่อเจ้าทรัพย์ เช่นระบุเพียงว่าเป็นทรัพย์ของหญิงไม่ทราบชื่อ อายุประมาณ 35 ปี ก็สมบูรณ์แล้ว (ฎ. 3977/30, 1433/30)
- ** ความผิดฐานชิงทรัพย์ ประกอบด้วยความผิดลักทรัพย์โดยใช้กำลงประทุษร้าย โดยมีมูลเหตุจูงใจตาม (1)-(5) แห่ง ป.อาญา มาตรา 339 การบรรยายฟ้องต้องบรรยายองค์ประกอบความผิดทั้งมาตรา 334 และ 339 ประกอบกัน โดยต้องบรรยายว่าทรัพย์ที่ถูกลักเอาไปเป็นของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และผู้ที่ถูกประทุษร้ายเป็นใคร ด้วย
- ความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระบุด้วยว่าจำเลยได้ทรัพย์อะไรไปจากผู้เสียหาย (ฎ.352/36)
- ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่า ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงเป็นผู้ใดบ้าง (ฎ. 3624/31) เพราะเป็นเพียงรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา
- ฟ้องยักยอกเงิน แต่ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าเป็นเงินจำนวนเท่าใด เป็นฟ้องเคลือบคลุม
- ฟ้องกรรโชก ต้องระบุชื่อผู้ถูกขู่เข็ญด้วย (ฎ. 1078/92)
- ความผิดฐานปลอมเอกสารไม่จำต้องระบุว่าผู้ที่หลงเชื่อเป็นเป็นผู้ใด (ฎ. 1403/36)
- ความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานต้องระบุชื่อเจ้าพนักงานนั้นด้วย ไม่เช่นนั้นเป็นฟ้องเคลือบคลุม (ฎ. 894-7/06)
- ฟ้องคดีหมิ่นประมาท ไม่ต้องบรรยายฟ้องว่าบุคคลที่สามเป็นใคร
- ฟ้องว่าจำเลยกับพวกกระทำฐานปล้นทรัพย์ โดยไม่ได้ระบุว่าพวกของจำเลยมีกี่คน เป็นฟ้องไม่สมบูรณ์ ลงโทษฐานปล้นทรัพย์ไม่ได้ (ฎ.1331/93)
ผลของการยกฟ้อง เพราะฟ้องไม่สมบูรณ์ตาม มาตรา 158(5)
1. กรณีฟ้องใหม่ไม่ได้ (เพราะถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(4)) เช่น
- ฟ้องที่บรรยายขาดองค์ประกอบความผิด ( แต่อุทธรณ์ได้ ตามมาตรา 161 วรรคสอง)
- ฟ้องไม่ได้บรรยายเวลาหรือสถานที่กระทำผิด
2. กรณีที่ฟ้องใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะยังไม่ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(4) เช่น
- ฟ้องเคลือบคลุม , ฟ้องที่บรรยายเวลากระทำผิดในอนาคต, ฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้พิมพ์
ฟ้องต้องอ้างมาตราที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิด มาตรา 158(6)
ตามมาตรา 158(6) บังคับไว้ว่าต้องอ้างมาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ดังนี้หากเป็นบทบัญญัติในเรื่องอื่น เช่น ตัวการร่วม ความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม การขอให้บอกโทษ การขอให้ริบของกลาง เหล่านี้ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด จึงไม่จำต้องอ้างมาตราในคำฟ้องด้วย
- มาตรา 158(6) บังคับเฉพาะให้ต้องอ้างมาตราเท่านั้น ไม่ต้องระบุวรรค (ฎ. 9239/47)
- ฟ้องข้อหาปลอมและใช้เอกสารสารปลอม คำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตามมาตรา 264,268 โดยมิได้ระบุชื่อกฎหมาย ก็เข้าใจได้ว่าเป็นประมวลกฎหมายอาญา (ฎ. 1700/14 ป.)
- พ.ร.บ.เช็คฯ แม้จะมีหลายมาตรา แต่มีบทบัญญัติความผิดเพียงมาตราเดียว แม้คำฟ้องระบุเพียงชื่อกฎหมาย ไม่ได้ระบุเลขมาตราซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ก็เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
- มาตรา 58 ป.อาญา ไม่ใช่บทบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ดังนั้นศาลจึงนำโทษที่ศาลรอลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกโทษในคดีที่ฟ้องได้ โดยไม่ต้องมีคำขอหรือระบุเลขมาตราดังกล่าวไว้ในคำฟ้องด้วย (ฎ. 2143/45)
- อ้างบทมาตราเดิมซึ่งมีการแก้ไขแล้ว แต่ไม่ได้อ้างกฎหมายที่แก้ไขถือว่าอ้างกฎหมายซึ่งบัญญัติเป็นความผิดตามมาตรา 158(6) แล้ว (ฎ. 706/16) อ้างบทลงโทษแต่ไม่อ้างบทห้าม ก็ใช้ได้ (ฎ.652/40) อ้างบทห้ามแต่ไม่อ้างบทลงโทษก็ใช้ได้เช่นกัน (ฎ.1971/41)
ฟ้องต้องมีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง มาตรา 158(7)
- ** หากไม่มี ถ้าศาลชั้นต้นไม่สั่งให้แก้ไข หรือมีการแก้ไขตาม มาตรา 163,164 เมื่อปรากฎในชั้นอุทธรณ์ ศาลต้องยกฟ้อง เพราะล่วงเลยเวลาที่แก้ไขแล้ว (ฎ. 229/90, 1564/46)
- กรณีลายมือชื่อโจทก์ในศาลชั้นต้นนั้น โจทก์ต้องลงลายมือชื่อเอง ทนายความไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์ในฟ้องคดีอาญา (ฎ.607/14) แต่ถ้าเป็นชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ทนายความลงลายมือชื่อในอุทธรณ์หรือฎีกาได้ แต่ต้องมีใบแต่งทนายความในสำนวนด้วย (ฎ. 62/94) จะถือเอาคำเบิกความของโจทก์ในการพิจารณาคดีเป็นการให้สัตยาบันเพื่อให้ฟ้องสมบูรณ์ไม่ได้ ยกเว้นคดีแพ่ง (ฎ.300/07) เพราะโจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง ตามมาตรา 163,164 ได้อยู่แล้ว
- โจทก์มอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องคดีแทน ผู้รับมอบอำนาจก็ลงชื่อเป็นโจทก์ได้
- กรณีลายมือชื่อผู้เรียงนั้น โจทก์เป็นผู้เรียงคำฟ้องเองได้ แต่ถ้าให้ผู้อื่นเรียงคำฟ้องให้ ผู้นั้นต้องเป็น ผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นทนายความเท่านั้น (ฎ.3397/47)
- ** กรณีทนายความลงลายมือชื่อในช่องผู้อุทธรณ์ แต่ไม่มีใบแต่งทนายความ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องได้ตามมาตรา 208(2)ประกอบมาตรา 225 (ฎ.7903/47) แต่ถ้าศาลไม่สั่งให้แก้ไขแต่ปรากฎว่าต่อมาได้มีการตั้งให้ทนายความคนดังกล่าวเป็นทนายความให้มีอำนาจอุทธรณ์ฏีกาได้ ก่อนมีการยื่นฎีกา ถือว่ายื่นฟ้องอุทธรณ์โดยชอบแล้ว
การบรรยายฟ้องในกรณีขอให้เพิ่มโทษ มาตรา 159
- กรณีที่โจทก์จะขอให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น จะต้องกล่าวมาในฟ้องหรือจะยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมก็ได้ กล่าวคือ โจทก็ต้องกล่าวมาในฟ้อง และต้องมีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยด้วย (ฎ.5965/46)
- สำหรับการขอให้นับโทษต่อ ไม่มีบทกฎหมายดังเช่นการขอให้เพิ่มโทษ ตาม 159 จึงไม่จำต้องกล่าวมาในคำฟ้อง แต่ต้องมีคำขอให้นับโทษต่อมาท้ายฟ้องด้วย (ฎ. 2003/47) และโจทก์อาจขอให้นับโทษต่อโดยยื่นคำร้องขอให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องก็ได้ แต่ต้องก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ตามมาตรา 163,164 เท่านั้น จะเพิ่มเติมหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วไม่ได้
-** กรณีที่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน ถ้าตามคำขอท้ายฟ้องของคดีที่มีการรวมพิจารณา ไม่ได้ขอให้นับโทษติดต่อกันไว้ ก็จะนับโทษต่อกันไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอตามมาตรา192 (ฎ.4569/28)
การตรวจคำฟ้อง มาตรา 161
ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องศาลสั่งได้ 3 ประการ คือ สั่งให้แก้ฟ้อง ยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้อง
1. กรณีสั่งให้แก้ฟ้อง เช่น ฟ้องไม่ลงชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้พิมพ์ หรือ ไม่ระบุสถานที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ต้องแก้ไขก่อนประทับฟ้อง ถ้าหลังประทับฟ้องแล้วแก้ไขโดยการแก้ไขฟ้อง ตาม 163,164 ซึ่งต้องก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาเท่านั้น ถ้าล่วงเลยเวลาดังกล่าว ต้องยกฟ้อง
2. กรณีที่ต้องยกฟ้อง เช่น ฟ้องที่ขัดกัน(เคลือบคลุม) ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่มีอำนาจฟ้อง การกระทำตามฟ้องที่ไม่เป็นความผิด ฟ้องที่ลงชื่อโดยบุคคลไม่มีอำนาจ ( จำย่อๆ ว่า ขัด ขาด อำนาจ ไม่ผิด ) และดูมาตรา 185 ด้วย
3. ไม่ประทับฟ้อง เช่น ฟ้องผิดศาล
หมายเหตุ คำสั่งตามมาตรา 161 ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา จึงอุทธรณ์ได้ทันที
ไต่สวนมูลฟ้อง มาตรา 162,165 (เกี่ยวกับความสงบฯ และศีลธรรมอันดี)
- พนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกัน (อัยการฟ้องก่อน) คดีที่ผู้เสียหายฟ้องก็ไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 162(1) (ฎ4007-8/30)
- คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนเสมอ มิฉะนั้นเป็นการมิชอบ แต่ศาลมิได้สั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก็จะถือเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ไม่ได้ เพราะไม่ใช่การกระทำของโจทก์ ศาลสูงจึงต้องพิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและพิจารณาต่อไป (ฎ.477/08)
- ถ้าตามคำฟ้องของโจทก์ปรากฏชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลก็พิพากษายกฟ้องได้เลย โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน (ฎ.2722/41) เหตุผลอยู่ที่มาตรา 185
- มาตรา 165 บัญญัติให้คดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ในวันไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยมา หรือคุมตัวมาศาล และศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ในวันที่ยื่นฟ้อง อัยการโจทก์ก็ต้องนำตัวจำเลยมาศาลด้วย มิฉะนั้นศาลจะไม่ประทับฟ้อง (ฎ.1133/93)
- กรณีที่จำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้ว โจทก์ฟ้องได้โดยไม่ต้องนำตัวจำเลยมาศาล เช่น ศาลได้ออกหมายขังจำเลยไว้ระหว่างสอบสวน พนักงานอัยการยื่นฟ้องโดยไม่ได้มีการเบิกตัวจำเลยมาศาล ศาลก็ต้องประทับฟ้องไว้พิจารณา ในกรณีเช่นนี้หากจำเลยได้หลบหนีไปก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง ก็ถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วเช่นกัน พนักงานอัยการฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องส่งตัวจำเลยมาพร้อมกับฟ้อง(ฎ.1735/14 ป.)
- กรณีที่จำเลยถูกขังตามหมายของศาลในคดีหนึ่ง แต่ได้หลบหนีไปจากเรือนจำก่อนฟ้อง ถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลเฉพาะคดีที่ศาลออกหมายขังไว้เท่านั้น ไม่ถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลในคดีอาญาเรื่องอื่นด้วย ดังนั้นหากพนักงานอัยการจะฟ้องจำเลยในคดีอื่นก็ต้องนำตัวจำเลยมาศาลด้วย (ฎ.1020/08)
- กรณีที่พนักงานอัยการได้ขอให้ศาลออกหมายปล่อยผู้ต้องหาไปในระหว่างสอบสวนหรือศาลปล่อยตัวจำเลยไปเพราะขังครบกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ไม่ถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาล (ฎ. 1133/93) กรณีนี้ถือว่าผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจของอัยการแล้ว
- กรณีที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยร้องขอ ถือว่าจำเลยหรือผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยในมูลกรณีเดียวกันหรือคดีอาญาเรื่องอื่นต่อศาลเดียวกันได้โดยไม่ต้องนำตัวจำเลยมาในวันฟ้อง (ฎ. 1497/96 ป.) เรื่องนี้ต้องปรากฏด้วยว่าจำเลยหรือผู้ต้องหานั้นไม่ได้หนีประกัน (ฎ.6462/43)
- ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยไม่มีสิทธินำพยานมาสืบ แต่ถ้าเป็นเอกสารที่ทนายจำเลยใช้ประกอบการถามค้านพยานโจทก์และพยานโจทก์ยอมรับแล้ว จำเลยมีสิทธิส่งเอกสารนั้นประกอบคำพยานโจทก์ได้ ไม่ใช่การนำพยานเข้าสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง (ฎ.904/22)
พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
- ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์จะอ้างแต่คำเบิกความของพยานในคดีแพ่งมาเป็นพยาน โดยไม่นำมาเบิกความในคดีอาญา ถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้ฟังได้ว่าคดีมีมูล (ฎ.604/92)
- การแถลงรับข้อเท็จจริงกันก็ถือว่าเป็นการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว (ฎ.1050/14)
- คำพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คู่ความอาจอ้างเป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาได้(ฎ.2644/35) เพราะเป็นพยานหลักฐานที่น่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ส่วนจะรับฟังได้เพียงใดนั้นเป็นดุลพินิจที่ศาลจะพิจารณาวินิจฉัยอีกชั้นหนึ่ง
การแก้ไขคำฟ้อง คำให้การ มาตรา 163,164
1. ต้องมีเหตุอันควร เช่น
- อ้างว่าพิมพ์ฟ้องตกไป เพราะความบกพร่องของผู้พิมพ์หรือผู้ตรวจฟ้อง (ฎ.1377/13)
- การขอเพิ่มเติมวันเวลากระทำผิด เพราะมิได้กล่าวมาในฟ้อง โดยอ้างว่าผู้พิมพ์ฟ้อง พิมพ์ตกไป
- ขอแก้ไขน้ำหนักยาเสพติดให้โทษของกลาง โดยอ้างว่าพนักงานสอบสวนส่งรายงานการตรวจพิสูจน์มาให้ผิดพลาด
กรณี ไม่ถือว่ามีเหตุอันควร เช่น โจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องโดยเพิ่มคนอื่นเข้ามาเป็นจำเลยด้วย
หมายเหตุ ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด จะมาขอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ครบองค์ประกอบ ไม่ได้เพราะถือว่าเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้อง มาแต่ต้น จึงจะมาขอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ฟ้องถูกต้องขึ้นมาหาได้ไม่
- พนักงานอัยการโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอส่วนแพ่งได้ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามมาตรา 43 ได้ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ( ตาม ป.วิ.อ. มาตรา163,164 ไม่ใช่ ป.วิ.พ มาตรา 180)
2. ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ห้ามมิให้ศาลอนุญาต
การแก้ไขหรือเพิ่มเติมฐานความผิด ไม่ว่าจะทำในระยะใดก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ เว้นแต่จำเลยจะหลงข้อต่อสู้
- การแก้ไขหรือเพิ่มเติมฐานความผิดนั้น ต้องมีการสอบสวนก่อน ถ้ายังไม่มีการสอบสวนจะขอแก้ไม่ได้ (ฎ. 801/11) และถ้าได้มีการสอบสวนฐานความผิดที่จะขอแก้ฟ้องแล้ว ดังนี้ขอแก้ได้แม้ศาลอนุญาตให้แก้แล้วจะเกินอำนาจของศาลก็ตาม (ฎ.993/27) เมื่ออนุญาตให้แก้แล้วแต่เกินอำนาจ ศาลชั้นต้นนั้นต้องพิพากษายกฟ้อง และสามารถฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ เพราะถือว่าศาลยังมิได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 39(4)
- การแจ้งข้อหาเพิ่มเติมจากข้อหาเดิมที่มีการสอบสวนแล้ว ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน กรณีมีเหตุอันสมควรให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ (ฎ.1746/35) เช่น เดิมแจ้งข้อหาตาม ป.อ.มาตรา 300 ปรากฎต่อมาในระหว่างพิจารณาว่า ผู้บาดเจ็บตาย เมื่อ พงส. ได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่าทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ถือว่าสอบสวนมาแล้ว ดังนั้นระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้(ขณะฟ้องไม่อยู่ในวิสัยที่จะฟ้อง ตามมาตรา 291 ได้ เมื่อ พงส. แจ้งข้อหาเพิ่มเติมก็เป็นการสอบสวนแล้ว อัยการโจทก์จึงขอแก้ฟ้องก่อนศาลต้นตัดสินได้)
- ***การแก้ไขคำฟ้องที่ทำให้จำเลยเสียเปรียบห้ามมิให้ศาลอนุญาต แต่ถ้าเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ (ฎ.2902/47)
อย่างไรถือว่าทำให้จำเลยหลงต่อสู้คดี เช่น
- กรณีที่จำเลยต่อสู้โดยถือเอาวันเวลาที่โจทก์ฟ้องเป็นหลักสำคัญในการต่อสู้คดี โดยให้การปฏิเสธว่าวันเวลาเกิดเหตุจำเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ(อ้างฐานที่อยู่) ดังนี้การที่โจทก์ขอแก้ไขเวลากระทำผิดย่อมทำให้จำเลยหลงต่อสู้คดีได้ (ฎ.76/01) แต่ถ้าจำเลยให้การปฎิเสธลอยๆว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง โดยไม่ได้อ้างฐานที่อยู่โจทก์ขอแก้วันเวลาทำผิดได้ ไม่ถือว่าทำให้จำเลยหลงต่อสู้คดี (ฎ.203/40)
- โจทก์ขอแก้ไขฐานความผิดในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับฐานะและอาชีพของจำเลยซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทราบดีอยู่แล้ว ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบและหลงต่อสู้และถือว่ามีเหตุอันสมควรให้โจทก์แก้ไขได้
3. กำหนดเวลาขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องและคำให้การ
- โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องได้ "ก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น" ส่วนจำเลยยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การได้ก่อนศาลพิพากษาของศาลชั้นต้น ดังนั้นแม้จะเสร็จการสืบพยานโจทก์ จำเลย และนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ก็ยังขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การได้ (ฎ.2714/26)
- การขอให้นับโทษต่อภายหลังฟ้องแล้ว จะต้องกระทำโดยแก้หรือเพิ่มเติมคำฟ้อง จึงต้องขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาตาม มาตรา 163 (เพราะ ถือว่า เป็นการแก้ไขฟ้อง เพิ่มเติมฟ้อง ซึ่งต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาจะขอมาในคำแก้ฏีกา หรือในชั้นฎีกา ไม่ได้ )
- การขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การ อาจกระทำโดยขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่ก็ได้ แต่ศาลจะอนุญาตตามคำร้องก็ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรด้วย เช่น เดิมจำเลยให้การรับสารภาพ ขอแก้คำให้การเป็นให้การปฎิเสธเพราะเข้าใจผิด ศาลเห็นว่าเป็นการแก้ไขหลังจากมีทนายความแล้ว หรือศาลเห็นว่าเป็นคดีความผิดอันยอมความได้ แต่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ไว้ หรือจำเลยได้คัดค้านรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติไว้ เหล่านี้ศาลฏีกา ถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรอนุญาตให้แก้ได้
- ***กรณีที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา จากการปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ แม้จะพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 163 วรรคสองแล้ว ซึ่งศาลไม่อาจอนุญาตได้ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลย ได้ยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่ได้โต้แย้งข้อที่ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง กรณีจึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปใน ชั้นฎีกาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ (ฎ. 7531/46)
- หากจำเลยขอถอนคำให้การเพื่อประวิงคดี ถือว่าไม่มีเหตุอันสมควร ศาลไม่อนุญาต(ฎ.6214-16/44)
โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด มาตรา 166
กำหนดนัด หมายถึงกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องและนัดพิจารณาทุกนัดของโจทก์ เพราะโจทก์มีหน้าที่ปฏิบัติต่อศาลโดยต้องนำพยานเข้าสืบจนกว่าจะหมดพยานโจทก์ ถ้าโจทก์ไม่มา ศาลต้องยกฟ้อง
- แต่ถ้าโจทก์ได้ยื่นคำร้องว่าไม่ติดใจสืบพยานโจทก์ที่เหลืออีกต่อไป โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องนำพยานเข้าสืบอีก (ไม่มีหน้าที่ปฏิบัติต่อศาลอีก) การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดต่อมา ศาลจะยกฟ้องตาม 166 ไม่ได้
- เมื่อโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา ศาลก็ต้องยกฟ้องตาม 166 โดยไม่ต้องคำนึงว่าในวันดังกล่าวจำเลยจะมาศาลหรือไม่ และจำเลยจะอยู่ในอำนาจศาลหรือไม่ หรือการส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยยังไม่ครบกำหนดเวลาตามกฎหมาย (ฎ. 2085/47)
- *** วันนัดไต่สวนมูลฟ้องและวันนัดพิจารณา ต้องเป็นการนัดเพื่อสืบพยานโจทก์ และโจทก์ต้องทราบนัดโดยชอบด้วย ( ถ้าไม่ชอบ ไม่ต้องร้องขอใน 15 วัน เพื่อให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ แต่สามารถอุทธรณ์ได้ทันที)
- วันกำหนดนัดเพื่อฟังกำหนดวันพิจารณาหรือกำหนดนัดพร้อมเพื่อฟังผลคดีแพ่ง ไม่ใช่กำหนดนัด ตามมาตรา 166 (ฎ.1570/15)
- วันนัดฟังประเด็นกลับไม่ใช่วันสืบพยาน (ฎ.890/16)
- ศาลสั่งนัดพิจารณา แต่ไม่เป็นกิจจะลักษณะว่านัดพิจารณาอะไร เมื่อโจทก์ไม่มาศาล ก็ยังไม่เป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง (ฎ.1331/42)
- วันที่โจทก์ยื่นฟ้อง ไม่ใช่วันพิจารณา แม้โจทก์ไม่มา ก็จะยกฟ้องตาม 166 ไม่ได้
- *** คำว่าโจทก์ หมายความรวมถึง ทนายโจทก์ หรือผู้รับมอบอำนาจจากโจทก็ด้วย ดังนั้นถ้าผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้มาขอเลื่อนคดีแล้ว แต่ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนก็ถือได้ว่าโจทก์มาศาลแล้ว ศาลจะสั่งยกฟ้อง ตาม 166 ไม่ได้ (ฎ. 1739/28) กระบวนพิจารณาต่อไปมี 2 กรณีคือ กรณีที่ยังไม่มีการสืบพยานโจทก์ไว้เลย ศาลก็งดสืบพยานโจทก์และพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ กรณีที่สองมีการสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว ศาลต้องสั่งงดสืบพยานที่เหลือและพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ที่สืบไปแล้ว ถ้าเป็นในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลต้องวินิจฉัยว่าพยานโจทก์ที่นำเข้าไต่สวนมูลฟ้องไปแล้วพอฟังว่าคดีมีมูลหรือไม่ ถ้าเป็นชั้นพิจารณาก็ต้องนัดสืบพยานจำเลยต่อไป แล้วพิพากษาตามพยานหลักฐานที่มีอยู่ (ฎ. 145/36)
- *** คดีที่ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ โจทก์ร่วมและทนายโจทก์ร่วมมีฐานะเป็นโจทก์ร่วมเช่นกัน ดังนี้ถ้าพนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด คงมาแต่โจทก์ร่วมหรือทนายโจทก์ร่วม จะถือว่าโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดพิจารณาและยกฟ้องตาม 166 ไม่ได้ (ฎ . 1519/97)
- กรณีมีการรวมพิจารณาคดีหลายสำนวนเข้าด้วยกัน โดยโจทก์แต่ละสำนวนเป็นคนละคนกัน ปัญหาว่าโจทก์มาตามกำหนดนัดหรือไม่ คงพิจารณาเป็นรายสำนวน (ฎ.5461/34)
- ** การที่โจทก์หรือทนายโจทก์มาศาลแล้ว แต่ไม่เข้าห้องพิจารณา ก็ถือว่าไม่มาศาลตามกำหนดนัด
การขอให้ยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ หรือยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ มาตรา 166 และ 181 +166
-กรณีที่โจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ศาลก็ต้องยกฟ้องโดยอ้างเหตุผลว่าโจทก์ขาดนัดตามมาตรา 166 วรรคหนึ่ง จะยกฟ้องโดยอ้างเหตุว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบไม่ได้ อย่างไรก็ดีแม้ศาลจะยกฟ้องโดยอ้างเหตุว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการยกฟ้องตามมาตรา 166 วรรคหนึ่งนั่นเอง โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่หรือพิจารณาใหม่ตาม มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ได้ (ฎ.772/28)
-เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีพิจารณาใหม่ เช่น โจทก์ไม่เข้าห้องพิจารณาโดยอ้างว่าโจทก์ได้มาศาลตามกำหนดนัดแล้วเพียงแต่โจทก์ยังติดการดำเนินคดีอาญาอื่น ซึ่งศาลได้นัดพิจารณาไว้ในวันเวลาเดียวกันก่อน หากเป็นความจริงก็พอถือได้ว่ามีเหตุผลสมควรที่จะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องของโจทก์(เพื่อพิจารณาว่ามีเหตุอันควรจริงหรือไม่ก่อน) แล้วมีคำสั่งในเรื่องนี้ต่อไป มิใช่สั่งเลยไปถึงว่าเป็นเรื่องโจทก์ไม่มีพยานมาสืบซึ่งเป็นคนละกรณีกัน เช่น ฎ. 4366/47
*** ฎ. 4366/47 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์นั้น เป็นการยกฟ้องตามมาตรา 166 วรรคแรก ประกอบ 181 ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฎว่าศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์และโจทก์มายื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าว ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ โดยยื่นคำร้องภายใน 15 วัน นับแต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ทั้งคำร้องของโจทก์ก็ได้แสดงเหตุยืนยันว่าโจทก์ได้มาศาลตามกำหนดนัดแล้วเพียงแต่โจทก์ยังติดการดำเนินคดีอาญาอื่น ซึ่งศาลได้นัดพิจารณาไว้ในวันเวลาเดียวกันก่อนแล้วจึงมาดำเนินคดีนี้ต่อไป ซึ่งหากเป็นความจริงตามคำร้องก็นับว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์ไม่ได้มาดำเนินคดีนี้ตามกำหนดนัด ศาลชอบที่จะไต่สวนคำร้องของโจทก์เสียก่อนจึงจะวินิจฉัยได้ว่าที่โจทก์ไม่มาดำเนินคดีนี้ตามกำหนดนัด มีเหตุผลสมควรหรือไม่ การที่ศาลล่างด่วนวินิจฉัยสั่งยกคำร้องของโจทก์โดยไม่ไต่สวนให้ได้ความจริงเสียก่อน จึงไม่ชอบด้วย มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบ 181
-** กรณีที่โจทก์และทนายโจทก์ไม่มาศาล แต่ได้ให้เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาล ไม่ใช่กรณีโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดเพราะโจทก์ขอเลื่อนคดีไว้แล้ว ศาลจึงต้องพิจารณาคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์ว่าจะอนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้เลื่อนคดี ศาลก็ต้องให้งดสืบพยานโจทก์ ซึ่งถ้าเป็นการสืบพยานโจทก์นัดแรก ศาลก็จะถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ แล้วพิพากษายกฟ้องได้ทันที (ฎ.1739/28)
- แต่ถ้าไม่ใช่นัดสืบพยานโจทก์นัดแรกและมีการนัดสืบพยานโจทก์นัดก่อนๆไปบ้างแล้ว หากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีศาลก็คงให้งดสืบพยานโจทก์เฉพาะพยานโจทก์ที่เหลือเท่านั้น แล้วให้นัดสืบพยานจำเลยต่อไป เพราะพยานโจทก์ที่ได้สืบไปแล้วยังคงใช้ได้อยู่ ศาลจะให้งดสืบพยานโจทก์และถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบแล้วพิพากษาให้ยกฟ้องทันทีไม่ได้ การพิพากษาคดีต้องวินิจฉัยพยานโจทก์ที่ได้สืบไปแล้วกับพยานจำเลย จึงพิพากษาไปตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฎนั้น(ฎ.145/36) กรณีดังกล่าวแม้จะยกฟ้องด้วยเหตุผลว่าโจทก์ไม่มีพยานมาไต่สวนให้เห็นว่าคดีโจทก์มีมูลและพิพากษายกฟ้อง โจทก์จะมาร้องขอให้ให้ยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาใหม่ ตามมาตรา 166 มิได้ มิใช่เป็นกรณีที่ศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด (เพราะแม้เป็นกรณีที่โจทก์และทนายโจทก์ไม่มาศาล แต่ได้ให้เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาล ไว้แล้ว จึงมิใช่กรณี โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด )
- ** แต่ถ้าเป็นกรณีโจทก์ไม่มาศาล "โดยไม่ได้ขอเลื่อนคดี" ศาลก็ยกฟ้องได้เลยแม้จะไม่ใช่นัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกและไม่ต้องคำนึงถึงพยานโจทก์ที่ได้สืบไปแล้วในนัดก่อนๆว่าจะรับฟังได้หรือไม่ เพราะเป็นการยกฟ้องตามมาตรา 166 วรรคหนึ่ง (ฎ.1214/38)
- *** ในกรณีที่โจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดมาตรา 166 ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่าให้ศาลยกฟ้อง ดังนั้นจึงจะนำ ป.วิ.พ.มาบังคับโดยถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและจำหน่ายคดีเป็นการไม่ชอบ (ฎ.1574/25) อย่างไรก็ดีแม้จะถือว่าคำสั่งศาลที่สั่งจำหน่ายคดีโดยถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาก็ตาม แต่หากไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา คำสั่งดังกล่าวก็ถึงที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 166 วรรคท้าย ทั้งไม่ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม 39(4)ด้วย(ฎ.162-3/06)
-*** ในกรณีที่มิใช่โจทก์ขาดนัด แต่ศาลกลับยกฟ้องอ้างว่าโจทก์ขาดนัดซึ่งเป็นการไม่ชอบ เช่น โจทก์ยังไม่ทราบกำหนดนัด หรือศาลสั่งยกฟ้องทั้งที่ทนายโจทก์มาศาล โจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นได้ทันที ไม่ต้องขอพิจารณาใหม่ ตาม 166 วรรคสอง การที่ศาลสั่งยกฟ้องไปโดยโจทก์ไม่ได้ขาดนัดนี้ ถือได้ว่าเป็นการสั่งไปโดยผิดหลงตาม วิ.แพ่ง มาตรา 27 ประกอบวิ.อาญา ม.15 โจทก็จึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งยกฟ้องได้ ซึ่งจะต้องร้องขอเพิกถอนภายใน 8 วัน นับแต่โจทก์ทราบคำสั่งศาล กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับว่าต้องร้องขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันยกฟ้อง (ฎ.794/40)
- ถ้าเป็นกรณีที่โจทก์ขาดนัดและศาลยกฟ้อง โจทก์จะต้องขอพิจารณาใหม่ตามมาตรา 166 วรรคสอง ก่อน ทั้งนี้เพื่อให้มีข้อเท็จจริงที่ศาลจะวินิจฉัยให้โจทก์จะยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งให้พิจารณาใหม่ทันทีไม่ได้ เป็นการข้ามขั้นตอน (ฎ.2109/29)
- ในคดีที่เกินอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวนั้น การพิพากษายกฟ้องตามมาตรา 166 จะกระทำโดยผู้พิพากษาคนเดียวไม่ได้ (ฎ.2716/28)
- คดีที่ศาลยกฟ้องโดยเหตุที่โจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด โจทก์มีสิทธิร้องขอให้ยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันยกฟ้อง ไม่ใช่นับแต่วันที่โจทก์ทราบคำสั่ง(ฎ.1409/29)
เหตุสมควรที่โจทก์มาศาลไม่ได้
- โจทก์ไม่มาศาลเพราะจดจำวันนัดของศาลผิด เป็นความบกพร่องหรือประมาทเลินเล่อของโจทก์ ถือว่าไม่ใช่เหตุสมควร (ฎ.724/48)***
- คำร้องอ้างว่าไม่ทราบกำหนดนัดสืบพยานโจทก์เนื่องจากย้ายภูมิลำเนา เป็นเหตุอันสมควร ศาลต้องไต่สวนคำร้อง (ฎ.186/42)
ผลของการยกฟ้อง มาตรา 166 วรรคสาม
จะฟ้องจำเลยเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้
- การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลตามมาตรา 166 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 220 (ฎ.1751/48)
คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง มาตรา 167
- คดีมีมูลศาลสั่งประทับฟ้องได้โดยไม่ต้องทำในรูปคำพิพากษา จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 186 แต่ถ้าคดีไม่มีมูลศาลต้องพิพากษายกฟ้องจะต้องมีหัวข้อสำคัญตามมาตรา 186 (ฎ.243/11)
- กรณีที่โจทก์ไม่สามารถนำพยานมาไต่สวนมูลฟ้องได้ ถือว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล และถ้าศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ก็พิพากษายกฟ้องได้เลย ไม่จำต้องประทับฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องในภายหลัง (ฎ. 2777/45) เหตุผลตามมาตรา 185
คำสั่งมีมูลย่อมเด็ดขาด มาตรา 170
- คำสั่งมีมูลย่อมเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ก็ตาม (ฎ.669/17)
- ในกรณีคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์เมื่อศาลยังไม่ได้สั่งให้คดีมีมูล จำเลยจะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้เพราะยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย (ฎ. 2046/25)
- ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาชั้นไต่สวนมูลฟ้อง พิพากษายกฟ้องคดีอาญา และไม่รับฟ้องคดีแพ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้รับฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีส่วนแพ่ง จำเลยฎีกาคำสั่งมีมูลไม่ได้ แต่ฎีกาคำสั่งให้รับคดีในส่วนแพ่งได้(ฎ. 1895/19)
- ในกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง ก็อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 193 ทวิ ด้วย ดังนั้นหากคดีโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์ก็อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้(ฎ.407/24)
- ในกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้องนี้ หากเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ แล้วพิพากษาว่าคดีมีมูล ดังนี้ไม่เป็นการเด็ดขาดตามมาตรา 170 เพราะศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์(ฎ.974/16)
- แม้คำสั่งมีมูลจะเด็ดขาด แต่ถ้าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 158 ศาลสูงย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ เพราะถือว่าเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยฯ (ฎ.3154/24)
การพิจารณาคดีอาญาต้องทำโดยเปิดเผย(ต่อหน้าจำเลย) มาตรา 172,172 ทวิ
- คำเบิกความของพยานในคดีอื่นซึ่งไม่ได้กระทำต่อหน้าจำเลยจะนำมายันจำเลยไม่ได้ เพราะมิได้เบิกความต่อหน้าจำเลย (ฎ.1020/11) และแม้จำเลยจะยินยอมก็ใช้ไม่ได้ (ฎ. 1264/14) นอกจากนี้โจทก์ยังจะขอให้ศาลวินิจฉัยตามคำพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งมิได้กระทำต่อหน้าจำเลยไม่ได้ (ฎ.1573/21) แต่ถ้าเพียงอ้างพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาประกอบพยานอื่นที่ได้มาเบิกความในชั้นพิจารณาได้(ฎ.1142/03)
- ในกรณีที่มีการสืบพยานโจทก์ไปแล้ว จำเลยบางคนจึงให้การรับสารภาพ ศาลจึงสั่งให้แยกฟ้องจำเลยที่ให้การปฎิเสธ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีใหม่แล้ว ถือว่าคำเบิกความในคดีเดิมได้พิจารณาโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยแล้ว(ฎ.1457/31)
- การเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมา เพื่อประกอบการวินิจฉัยของศาลตาม ป.วิ.อ.มาตรา 175 มิใช่การพิจารณาและสืบพยานในศาล จึงไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลย และจำเลยไม่มีอำนาจถามค้าน(ฎ. 5239/47)
- กรณีการเดินเผชิญสืบหรือส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลอื่น โดยจำเลยแถลงไม่ติดใจไปฟังการพิจารณาตามมาตรา 230 ทำให้ศาลมีอำนาจพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ แต่ถ้าจำเลยแถลงขอตามประเด็นไปฟังการพิจารณา ศาลใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตไม่ได้(ฎ.377-378/16) แต่ถ้าจำเลยแถลงว่าจะไม่ตามประเด็นไป แม้ศาลที่รับประเด็นเลื่อนการพิจารณาออกไปโดยไม่แจ้งวันเวลานัดให้จำเลยทราบ ก็เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบ (ฎ.1066/26)
- คดีละเมิดอำนาจศาล ถือว่าเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจศาลค้นหาควมจริงได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย(ฎ. 1159/26)
- กรณีไต่สวนมูลฟ้องคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หากจำเลยไม่มาฟังการไต่สวนมูลฟ้อง ศาลไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลยได้
- กรณีการสืบพยานก่อนฟ้องคดี ตาม มาตรา 237 ทวิ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกรณีที่ ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่หรือไม่ แม้ผู้ต้องหาไม่ถูกควบคุมตัวอยู่ศาลก็สืบพยานไว้ก่อนได้ (ฎ. 2980/47)
การถามคำให้การจำเลย มาตรา 172 วรรคสอง
- ศาลต้องอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้คดีอย่างไร แต่ในการสืบพยานไว้ก่อนตามมาตรา 237 ทวิ ไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 172 วรรคสอง (ฎ. 757/45)
- การพิจารณาคดีอาญา ศาลจะต้องสอบถามคำให้การจำเลยตามมาตรา 172 วรรคสอง เพื่อให้ทราบประเด็นเบื้องต้นแห่งคดีเท่านั้น ดังนั้นแม้จะไม่ได้สอบถามคำให้การจำเลยไว้ก็ไม่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเสียไป (ฎ. 465/09)
- การต่อสู้คดีอาญา จำเลยไม่ต้องให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้เหมือนอย่างคดีแพ่ง ศาลก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้(1035/40 )
- ในคดีอาญาจำเลยจำให้การอย่างไรก็ได้ แม้จะไม่ให้การก็ได้ เมื่อจำเลยให้การอย่างไร หรือจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ จำเลยหาจำต้องให้การปฏิเสธเป็นประเด็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความไว้ด้วย เมื่อคดีโจทก์ขาดอายุความศาลก็พิพากษายกฟ้องได้ ตามมาตรา 185 (ฏ 986/18)
- จำเลยยื่นคำให้การไว้ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งให้การรับสารภาพ อีกฉบับหนึ่งให้การปฏิเสธ เมื่อศาลสอบคำให้การจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพ ถือว่าเป็นคำให้การรับสารภาพที่ชัดแจ้งแล้ว(ฎ.2038/45)
การตั้งทนายความให้จำเลย มาตรา 173
ตามมาตรา 173 วรรคหนึ่ง ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาศาลต้องถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าจำเลยไม่มี ศาลต้องตั้งทนายความให้เสมอ ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ (ฎ.7701/47,8366/44)
- *** การถามเรื่องทนายความจะต้องถามก่อนเริ่มพิจารณา คือก่อนอ่านอธิบายฟ้องและถามคำให้การจำเลย แต่การถามจำเลยถึงข้อที่จำเลยต้องโทษมาก่อนหรือไม่ก่อนที่จะถามเรื่องทนายนั้น ไม่ทำให้คำให้การของจำเลยในเรื่องนี้เสียไป เพราะตามมาตรา 173 หมายถึง ก่อนพิจารณาเนื้อหาความผิดที่ถูกฟ้องเท่านั้น (ฎ. 872/09 ป.)
- ที่ว่าการสอบถามจำเลยเรื่องทนาย จะต้องสอบถามก่อนเริ่มพิจารณา ซึ่งหมายถึง ก่อนอ่านอธิบายฟ้องและถามคำให้การจำเลย ถ้าศาลถามคำให้การจำเลยก่อนแล้วจึงถามเรื่องทนาย เป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนการพิจารณา เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลดังกล่าวต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตาม มาตรา 208(2) (ฎ. 6915/44) และศาลสูงจะถือเอาเหตุนี้มาพิพากษายกฟ้องโจทก็เสียทีเดียวไม่ได้ ทั้งนี้เพราะมิใช่ความผิดของโจทก์นั่นเอง
- ** การที่ศาลไม่ได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความ แต่ปรากฏว่าจำเลยได้แต่งทนายความเข้ามาดำเนินคดีว่าต่างให้ตั้งแต่วันสืบพยานโจทก็นัดแรกจนเสร็จการพิจารณา ไม่มีเหตุที่ศาลจะสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ (ฎ.4460/46) อย่างไรก็ตามแม้จำเลยแต่งทนายความเข้ามา แต่เป็นเวลาภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลสูงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการใหม่ (ฎ. 9001/47)
- ** การไม่ปฏิบัติตามมาตรา 173 วรรคแรก ทำให้กระบวนการพิจารณานั้นเสียไปตั้งแต่ต้น ดังนั้นที่ว่าศาลชั้นต้นต้องพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่สอบจำเลยเรื่องทนายความ อ่านฟ้องและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง ถามคำให้การจำเลย ตามมาตรา 172 วรรคสอง แล้วสืบพยานโจทก์ สืบพยานจำเลย และมีคำพิพากษาใหม่ ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ให้ศาลชั้นต้นถามคำให้การจำเลยแล้วอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปก็ไม่ทำให้กระบวนพิจารณาที่เสียไปแล้วกลับมาเป็ฯชอบด้วยกฎหมายได้ (ฎ.4608/45)
- ถ้าความจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้สอบถามเรื่องทนายความแล้วแม้ไม่ได้จดบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งเป็นการไม่ชอบก็ตาม ก็ไม่มีเหตุอันสมควรที่จะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ (ฎ. 2923/41)
- คดีที่มีโทษจำคุก เมื่อศาลถามเรื่องทนายความแล้ว จำเลยแถลงว่าจะหาทนายความเองและได้มีการแต่งทนายความเข้ามาแล้ว ถือว่าศาลได้ดำเนินการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173 แล้ว แม้ต่อมาจำเลยให้การรับสารภาพและมีการสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพโดยทนายความของจำเลยไม่มาศาล ก็เป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว (ฎ. 2096/41)
- แม้จำเลยจะได้แถลงว่าจะหาทนายความมาเอง แต่ในวันนัดสืบพยานจำเลยหาทนายไม่ได้ขอให้ศาลหาทนายให้ ดังนี้ศาลต้องตั้งทนายให้ (ฎ.2067/20) ในกรณีเช่นนี้หากในวันนัดสืบพยาน จำเลยหาทนายไม่ได้แต่ลำเลยไม่ได้ขอให้ศาลตั้งทนายให้ ศาลก็ไม่มีหน้าที่ต้องตั้งทนายให้จำเลย (ฎ.1260/14)
- ในวันที่ศาลสอบถามคำให้การ จำเลยแถลงว่าจะหาทนายสู้คดีเอง เช่นนี้ ย่อมแสดงว่าจำเลยไม่ต้องการให้ศาลตั้งทนายให้ จึงไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะตั้งทนายให้จำเลย แม้ในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยในเวลาต่อมาจำเลยจะมิได้ตั้งทนาย ศาลก็ย่อมดำเนินการพิจารณาต่อไป และถือว่าการพิจารณาคดีของศาลเป็นการชอบ และถ้าจำเลยมีทนายแล้ว แต่ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ ถือไม่ได้ว่าจำเลยไม่มีทนาย (ฎ.666/19)
การตรวจพยานหลักฐานก่อนสืบพยาน มาตรา 173/1-2
การกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานไม่จำต้องดำเนินการทุกคดี เช่น คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ หรือคดีที่ผู้ต้องหาให้การปฎิเสธแต่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดร้องขอและศาลไม่เห็นสมควรให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน ประกอบกับเป็นคดีที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนหรือพยานหลักฐานไม่มากนัก เหล่านี้ไม่ต้องมีการกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน
การยื่นบัญชีระบุพยาน คู่ความต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน ส่วนการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมต้องยื่นต่อศาลก่อนการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้น การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อล่วงระยะเวลาข้างต้น จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล โดยต้องแสดงเหตุผลอันสมควรว่าไม่สามารถทราบถึงพยานหลักฐานนั้น หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หรือเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
การเรียกหรือส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ
1. กรณีที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก
- ให้ยื่นคำขอต่อศาลพร้อมกับยื่นบัญชีระบุพยาน ให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ มาจากผู้ครอบครอง เพื่อให้ได้มาก่อนวันตรวจพยานหลักฐาน
2. กรณีที่อยู่ในความครอบครองของคู่ความ
- ในวันตรวจพยานหลักฐาน ให้คู่ความส่งเอกสารหรือพยานวัตถุที่ยังอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตรวจสอบ เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น
กระบวนพิจารณาในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน
1. ให้คู่ความส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อศาล เพื่อให้อีกฝ่ายตรวจสอบ
2. ให้คู่ความแต่ละฝ่ายแถลงแนวทางการเสนอพยานหลักฐานต่อศาล
3. ให้ศาลสอบถามคู่ความถึงความเกี่ยวข้องกับประเด็น และความจำเป็นที่จะต้องสืบพยานหลักฐานอ้างอิง ตลอดจนยอมรับพยานหลักฐานของอีกฝ่าย เสร็จแล้วให้ศาลกำหนดวันนัดสืบพยาน โดยแจ้งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน
กรณีโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ให้นำบทบัญญัติ มาตรา 166 มาใช้บังคับโดยอนุโลม (การขาดนัดและศาลต้องมีคำสั่งยกฟ้อง โปรดดูมาตรา 166 )
หน้าที่นำสืบในคดีอาญา มาตรา 174
- โจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยก่อน เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วจำเลยจึงมีหน้าที่นำพยานเข้าสืบ แสดงว่าในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนเสมอ ถ้าศาลให้จำเลยนำสืบพยานก่อน เป็นการไม่ชอบ (ฎ.1217/03)
- หากโจทก์ไม่สืบพยาน หรือสืบมาฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด ก็จะลงโทษจำเลยไม่ได้ และจะเอาคำเบิกความของจำเลยที่ตอบคำถามค้านโจทก์มาลงโทษจำเลยไม่ได้ (ฎ.5485/39)**
- จำเลยให้การต่อสู้ว่ากระทำเพื่อป้องกันเท่ากับจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำ ดังนั้นโจทก์ยังคงมีหน้าที่ นำสืบว่าจำเลยกระทำผิด (ฎ.2019/14)
- อายุความฟ้องในคดีอาญา เป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะนำสืบว่าคดียังไม่ขาดอายุความ (ฎ.1035/40)*
- ความผิดฐานรับของโจร โจทก์ต้องนำสืบว่าจำเลยรับทรัพย์ของกลางมาโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด ตาม ป.อ.มาตรา 357 (ฎ. 5435/43)
- ในคดีร้องขอคืนของกลางเป็นหน้าที่ของผู้ร้องจะต้องนำสืบว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของและมิได้รู้เห็นด้วยในการกระทำความผิด ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์(ฎ.368/35)
- โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากโทษในคดีอื่น แต่จำเลยมิได้ให้การรับว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอื่น แม้คดีที่ขอให้นับโทษต่อนั้นจะฟ้องต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลรับรู้ได้เอง จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องสืบว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอื่น(ฎ.7262/46) ดังนั้นศาลต้องสอบถามจำเลย และถ้าจำเลยยอมรับโจทก์จึงจะขอให้นับโทษต่อได้ (ฎ.4255/41)***
- เมื่อจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงแล้วว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาอื่น ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่าเคยต้องโทษแต่ศาลรอการลงโทษไว้ ศาลจึงบวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ได้ โดยโจทก์ไม่จำต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว (ฎ.3040/35)
- จำเลยให้การต่อศาลว่า ความจริงลูกระเบิดไม่ใช่ของจำเลย แต่เพื่อมิให้ยุ่งยากแก่คดี จำเลยขอรับสารภาพตลอดข้อหา ดังนี้มิใช่คำให้การรับสารภาพตามฟ้อง (ฎ. 1318/23)
- กรณีที่ผู้เสียหายมีคำแถลง ถ้าโจทก์ไม่คัดค้านและไม่ขอสืบพยาน ศาลรับฟังข้อเท็จจริงจากคำแถลงของผู้เสียหายได้(ฎ.1476/25)
คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ มาตรา 176
หลักเกณฑ์ ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องให้ศาลพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไป แต่ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษหนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานหลักฐานจนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิด
- ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำไม่ถึง 5 ปี ที่ให้อำนาจศาลพิพากษาได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานนั้น มิได้หมายความว่าศาลต้องพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยเสมอไปไม่ ดังนี้เมื่อศาลพิจารณาคำฟ้องแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยตามที่กล่าวในฟ้องไม่เป็นความผิด ศาลมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง (ฎ.128/43)
- โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดภายหลังวันที่โจทก์ฟ้อง เป็นคำฟ้องไม่ชอบ ตามมาตรา 158 จึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้ (ฎ.568/37) เหตุผลเพราะวันเวลาซึ่งเกิดการกระทำที่โจทก์กล่าวหาว่าเป็นความผิด เป็นสาระสำคัญของข้อเท็จจริงที่โจทก์จะต้องบรรยายในคำฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158(5) โจทก์จะละเลยเสียมิได้ โจทก์จึงจะอาจอ้างว่าเกิดจากความผิดหลงไม่ได้โดยเด็ดขาด
- คำรับสารภาพที่ไม่ชัดเจนว่าจำเลยรับสารภาพว่ากระทำผิดฐานใด ลงโทษจำเลยไม่ได้ คงเป็นหน้าที่โจทก์ต้องนำสืบว่าจำเลยกระทำผิดฐานใด เช่นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง คำให้การดังกล่าวไม่ชัดเจนพอที่จะฟังว่าจำเลยกระทำผิดฐานใด เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ได้ความเช่นนั้น และแม้ว่าในคำร้องขอบรรเทาผลร้ายของจำเลยจะมีเนื้อหาว่ารับซื้อไมรโครโพนของกลางไว้เพื่อให้หลานใช้ร้องเพลงเล่นก็ตาม แต่คำร้องขอบรรเทาโทษมิใช่คำให้การ เป็นเพียงขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและบรรยายเหตุผลต่างๆให้ศาลปราณี ถึงแม้จะใช้ถ้อยคำที่อาจแสดงว่าจำเลยรับสารภาพในความผิดฐานใดฐานหนึ่ง หรือมิได้รับสารภาพในความผิดฐานใดเลย ก็มิอาจถือได้ว่าคำร้องขอบรรเทาผลร้ายดังกล่าว เป็นคำให้การของจำเลย เมื่อคำให้การของจำเลยไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดในข้อหาใด ศาลย่อมพิพากษาลงโทษไม่ได้
ดู ฎ.4129/43 " โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรตาม ป.อ.มาตรา 334 , 335 และ 357 จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำผิดตามฟ้อง คำให้การฉบับนี้ย่อมไม่ชัดเจนว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาใด แต่ในวันเดียวกันนั้นจำเลยยื่นคำให้การอีกฉบับหนึ่งมีข้อความว่า จำเลยขอถอนคำให้การทั้งหมดแล้วขอให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์ตาม 334 เท่ากับจำเลยยังคงปฎิเสธคำฟ้องโจทก์ในความผิดตาม 335 และ 357 เมื่อโจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน เท่ากับโจทก์ไม่ติดใจที่จะสืบพยานในความผิดตาม 335 และ 357 อีกต่อไป ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยกระทำผิดตาม 334 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม 335(8) วรรคแรก จึงไม่ถูกต้อง "
- ฟ้องที่ไม่ถูกต้องแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ (ฎ. 473/86) เช่น ปรากฏว่าบรรยายฟ้องเรื่องวันเวลาการบาดเจ็บ ขัดกับรายงานการชันสูตรบาดแผล ดังนี้ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำผิดตามวัน ที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง แม้จำเลยจะรับสารภาพตามฟ้องก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ศาลจึงต้องยกฟ้อง(ฎ.833/95)
- จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร แต่กลับแถลงว่าไม่รู้ว่าทรัพย์ที่เอามาเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา ถือว่าเป็นคำให้การปฎิเสธ แต่เมื่อโจทก์ยังไม่ทราบคำแถลงเพิ่มเติมนี้ จะถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานไม่ได้ จึงต้องให้สืบพยานกันต่อไป (ฎ.2596/41)
- จำเลยให้การรับสารภาพ "เพื่อมิให้ยุ่งยากแก่คดี" ดังนี้ไม่เป็นคำรับสารภาพ (ฎ.1318/23) แต่ถ้าเป็นการรับสารภาพแล้วได้แถลงต่อไปว่ากระทำไปโดย "รู้เท่าไม่ถึงการณ์" ดังนี้เป็นคำแถลงเพื่อขอบรรเทาโทษ ไม่ใช่คำให้การว่าจำเลยมิได้เจตนากระทำผิด (ฏ.2274/25) แต่ถ้านอกจากจะให้การรับสารภาพว่ากระทำไปโดย "รู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้ว จำเลยยังให้การด้วยว่าไม่รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด" ดังนี้ไม่เป็นคำรับสารภาพ(ฎ.5114/31)
จำเลยให้การรับสารภาพ กับ รับสารภาพตามฟ้อง
คำให้การของจำเลยที่ให้การว่า "รับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง หรือรับสารภาพผิดตลอดข้อหา หรือให้การรับสารภาพ" มีความหมายว่าจำเลยให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น ไม่ถือว่าจำเลยรับสารภาพในเรื่องอื่นๆที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง เช่น การเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอื่นที่โจทก์ขอให้บวกโทษ ฎ.6806/39) ดังนั้นหากโจทก์ไม่สืบพยานและศาลชั้นต้นนำโทษที่รอมาบวกเข้ากับโทษในคดีใหม่นี้ด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย (ฎ. 3834/31)
- แต่คำให้การว่า "รับสารภาพตามฟ้อง" ถือว่าเป็นคำให้การที่รับตามที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ทั้งในข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้องและรับในเรื่องอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับข้อหาความผิดที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องด้วย เช่น รับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับคดีก่อนๆ จึงสามารถขอให้เพิ่มโทษ การขอให้นับโทษต่อ การรอการลงโทษไว้ในคดีก่อนได้ (ฎ.2167/47,2413/47,2335/47)
- ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ก่อนศาลมีคำพิพากษา โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องให้นำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีอื่นมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ ดังนี้หากศาลยังไม่ได้สอบจำเลยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการที่จำเลยเป็นบุคคลเดียวกันกับคดีก่อน ศาลจะนำโทษจำคุกที่รอไว้มาบวกโทษในคดีนี้ไม่ได้(ฎ. 5739/ 31)
- ** เมื่อศาลพิพากษาไปตามคำรับสารภาพของจำเลย (ไม่ปรากฏว่าคำรับสารภาพของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร) หากคู่ความไม่พอใจต้องใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไป จะขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ไม่ได้ (ฎ. 243/43) อย่างไรก็ตาม การอุทธรณ์หรือฎีกา ต้องเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น เช่น อุทธรณ์ว่าโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้นสูงหรือต่ำไป หรือกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- *** ข้อที่จำเลยจะอุทธรณ์หรือฎีกาว่าไม่มีเจตนากระทำผิด ซึ่งขัดกับคำรับสารภาพของจำเลย ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลล่าง จึงต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 หรือ 249 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15 แล้วแต่กรณี (ฎ. 1576/47) เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขั้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างอีกด้วย
หมายเหตุ
1. ป.วิ.อาญา มาตรา 195 บัญญัติไว้แต่เฉพาะในเรื่องปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ที่ต้องว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น แต่ถ้าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องนำมาตรา ป.วิ.พ.มาตรา 225 หรือ 249 ประกอบ วิ.อาญา มาตรา 15
2. แต่ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งเป็นคดีที่โจทก์ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ จำเลยอุทธรณ์ได้ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักลงโทษจำเลยได้ (ฎ. 2879/40) เพราะเมื่อเป็นคดีที่โจทก์ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ศาลก็ต้องวินิจฉัยว่าพยานที่โจทก์นำมาสืบนั้นฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ จึงถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มีการว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยจึงอุทธรณ์ได้ **
3. ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ จำเลยมีสิทธิยกข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยขึ้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง เช่น อุทธรณ์ได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวไม่ใช่หลายกรรม (ฎ. 22/42)
คำรับสารภาพในความผิดฐานทำร่ายร่างกายตาม ป.อ.มาตรา 297
- ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายนั้น เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลจะงดสืบพยานโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องก่อน 20 วันและลงโทษจำเลยเพียงฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บธรรมดาไม่ได้ ศาล ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบก่อนว่าบาดแผลจะถึงสาหัสจริงตามฟ้องหรือไม่ จึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้าในวันฟ้องผู้เสียหายมาศาลด้วย แสดงว่าผู้เสียหายอาจหายก่อน 20 วันก็ได้ ศาลลงโทษจำเลยตามมาตรา 295 ได้ (ฎ. 517/2499)
- กรณีที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่ารักษาบาดแผลเพียง 10 วัน เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานศาลก็ลงโทษจำเลยได้ตาม มาตรา 295 เท่านั้น (ฎ. 418/09)
คดีที่ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ
ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพมีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปฯ ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง (โทษตาม 176 เป็นโทษที่กฎหมายกำหนดมิใช่โทษที่ศาลลงแก่จำเลย และถือตามอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในความผิดข้อหาที่โจทก์ฟ้อง)
- ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 2-20 ปี ถือว่ามีโทษขั้นต่ำไม่ถึง 5 ปี ถ้าจำเลยรับสารภาพ ศาลลงโทษได้เลยโดยไม่ต้องสืบพยาน(ฎ. 1214/29)
- ต้องพิจารณาอัตราโทษเฉพาะข้อหาในกระทงความผิดที่จำเลยรับสารภาพแต่ละข้อหา ว่ามีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป ไม่ใช่นำโทษทุกกระทงมารวมกัน (ฎ. 775/30)
- ในคดีที่ต้องสืบพยานประกอบนี้หากโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ (ฎ.591/36)เพราะถือว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่จะฟังลงโทษจำเลยได้ และไม่ใช่กรณีที่ศาลสูงจะยกย้อนเพื่อให้ศาลชั้นต้นสืบพยาน ตาม มาตรา 208 เนื่องจากโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานแล้ว (แตกต่างกับกรณี มาตรา 173 หากไม่มีการสอบถามเรื่องทนายในคดีที่ต้องสอบถาม ต้องยกย้อนตาม 208 เพราะกรณีหลังนี้เป็นความผิดของศาลเอง ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ ส่วนกรณีมาตรา 176 เป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่สืบพยาน ศาลจึงยกฟ้องได้ )
- ** ถ้าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีที่ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้อยู่ในศาลในขณะนั้น ศาลจะถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบแล้วพิพากษายกฟ้องทันทีไม่ได้เพราะในวันดังกล่าวไม่ใช่วันสืบพยาน เพราะแม้โจทก์จะมาในวันนั้นคดีก็ไม่อาจสืบพยานได้เพราะไม่ใช่วันสืบพยาน ศาลชั้นต้นจะต้องเลื่อนการพิจารณาคดีไปแล้วนัดสืบพยานโจทก์ในภายหลัง การที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องเสียทีเดียว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนการพิจารณา กรณีไม่ต้องด้วย มาตรา 166,181 และแม้จะถือว่าโจทก์ทราบกำหนดนัดแล้ว เพราะในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มีข้อความระบุว่า รอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ก็ยังไม่เป็นเหตุให้พิพากษายกฟ้องทันที (ฎ. 947/33)
- ในการสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย หากปรากฏว่าจำเลยมิได้กระทำผิด หรือการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ศาลก็ต้องยกฟ้อง ตามมาตรา 185 (ฎ. 602/02 ป.)
การแยกฟ้องเป็นคดีใหม่
ในคดีที่มีจำเลยหลายคน จำเลยบางคนให้การรับสารภาพ ศาลอาจจำหน่ายคดีจำเลยที่ปฎิเสธโดยให้โจทก์ฟ้องเป็นคดีใหม่ได้ตาม 176 วรรคสอง แต่โจทก์จะต้องฟ้องตามข้อหาเดิมเท่านั้น จะฟ้องข้อหาอื่นไม่ได้ (ฎ. 831/02) เมื่อแยกฟ้องแล้ว คำขอของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ปฎิเสธในคดีเดิมย่อมสิ้นสภาพไปด้วย
- การฟ้องคดีใหม่ ต้องระบุบัญชีพยานใหม่ แต่ถือได้ว่าคำเบิกความในคดีเดิมได้พิจารณาโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยแล้ว ศาลนำคำเบิกความในคดีก่อนมาประกอบการพิจารณาได้ (ฎ. 1457/31)
คำพิพากษาและคำสั่ง
การอ่านคำพิพากษา มาตรา 182
- การอ่านคำพิพากษาต้องอ่านต่อหน้าคู่ความ ในส่วนของจำเลยหมายถึงเฉพาะตัวจำเลยเท่านั้น มิใช่ทนายความจำเลย(ฎ. 3072/46)
- ถ้าได้ออกหมายจับจำเลยให้มาฟังคำพิพากษา แต่ไม่ได้ตัวจำเลยมาภายใน 1 เดือน นับแต่วันออกหมายจับ ศาลก็อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้ โดยถือว่าได้อ่านคำพิพากษาโดยชอบแล้วในวันนั้น(วันที่ครบ 1 เดือน) กำหนดเวลาอุทธรณ์หรือฎีกาจึงต้องนับแต่วันนั้น แม้ศาลจะได้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยทราบอีกในภายหลังก็เป็นเพียงให้จำเลยทราบคำพิพากษาเท่านั้น ไม่ทำให้เป็นการยืดกำหนดเวลาอุทธรณ์หรือฎีกาออกไป (ฎ.276/04 ป.) และการอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยหลังจากที่ออกหมายจับจำเลยนี้ ไม่จำต้องแจ้งวันนัดอ่านคำพิพากษาให้จำเลยทราบอีก (ฎ.60/28)
เหตุยกฟ้อง มาตรา 185
ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิด การกระทำไม่เป็นความผิด คดีขาดอายุความ มีเหตุที่ไม่ต้องรับโทษ ให้ศาลยกฟ้อง
- ข้อที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามมาตรา 185 แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในศาลชั้นต้น ศาลก็อาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง (ฎ.8046/42)
- ศาลมีอำนาจพิจารณาพยานหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในสำนวนทั้งหมด การที่ศาลชั้นต้นสั่งคดี มีมูลแทนที่จะสั่งยกฟ้องโจทก์เสียในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เป็นเพียงแต่ให้รับฟ้องไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเท่านั้น แต่ในชั้นพิจารณาเมื่อปรากฏจากพยานหลักฐานชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลก็มีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ ตาม มาตรา 185 (ฎ.644/36)
- ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องโจทก์ตามมาตรา 185 ได้ แม้จะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
การแก้ไขคำพิพากษา มาตรา 190
ห้ามแก้ไขคำพิพากษา หรือคำสั่งที่อ่านแล้ว นอกจากถ้อยคำที่ เขียนหรือพิมพ์ผิด
- การแก้ไขหมายจำคุกในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว ไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา เพราะเป็นเรื่องการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นจะต้องออกหมายจำคุกในคดีที่ถึงที่สุดให้ถูกต้องตามกฎหมาย(ฎ. 2355/39)
- ถ้าคำพิพากษาให้นับโทษต่อ จะแก้คำพิพากษาให้นับโทษต่อไม่ได้ เป็นการแก้คำพิพากษา(ฎ.177/84)
คำพิพากษาต้องไม่เกินคำขอ มาตรา 192
ห้ามมิให้ พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ตามมาตรา 192 วรรคแรก มี 2 ประการ คือ
1. ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่ง "เกินคำขอ"
2. ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่ง "ที่มิได้กล่าวในฟ้อง"
- ฟ้องขอให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ศาลลงโทษฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตาม ป.อ.มาตรา 290 ได้ ไม่เกินคำขอเพราะเป็นบทที่เบากว่าที่โจทก์ฟ้อง (ฎ. 1950/27) (ไม่ใช่วรรคสาม เพราะวรรคสามเป็นเรื่องความแตกต่างระหว่างเจตนากับประมาท แต่ฎีกานี้แตกต่างระหว่างเจตนากับไม่เจตนา) อย่างไรก็ตาม มีฎีกาที่ 223/46 วินิจฉัยว่าเป็นกรณีตามมาตรา 192 วรรคท้าย ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะว่าความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนารวมการกระทำที่เป็นการทำร้ายร่างกายด้วย จึงต้องด้วย มาตรา 192 วรรคท้าย โดยผลของการทำร้ายทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายซึ่งเป็นผลธรรมดาที่เกิดขึ้นจากการทำร้าย ศาลจึงลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 290 ได้
- บรรยายฟ้องว่า ร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน แต่ไม่ได้ขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 365 ดังนี้ศาลจะลงโทษตามมาตรา 365 ไม่ได้ เกินคำขอตาม 192 ว.1 (มาตรา 365 โทษสูงกว่า มาตรา 364 ) ฎ. 2624/41
- การบรรยายฟ้องว่าจำเลยวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 217,218(1) ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นอยู่ด้วย จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 218(1) ศาลลงโทษในข้อหาทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของตนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา 220 วรรคสอง ได้ หรือถ้าฟ้องมาตรา 220 ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำโดยประมาทศาลลงโทษ 225 ได้ เพราะเป็นข้อแตกต่างระหว่างการกระทำโดยเจตนาและประมาทตาม วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม ซึ่งไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญ ***
- ในการบรรยายฟ้องโจทก์ "ไม่จำต้องอ้างมาตราที่ขอให้ริบของกลาง" เพราะไม่ใช่มาตราซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามมาตรา 158(6) แต่การที่ศาลจะริบของกลางโจทก์ "ต้องมีคำขอ" มาด้วย ศาลจึงจะริบของกลางได้(ฎ.828/34) ถ้าฟ้องไม่มีคำขอให้ริบของกลาง ศาลริบไม่ได้ (ฎ. 885/18 ป.) แต่ถ้าของกลางเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิด ซึ่งกฎหมายให้ริบโดยเด็ดขาด เช่นปืนไม่มีทะเบียน ยาเสพติด แม้โจทก์มิได้มีคำขอให้ริบ ศาลก็มีอำนาจสั่งริบได้ เพราะของกลางดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิด เป็นบทบังคับเด็ดขาด ***
- ในคดีที่โจทก์ขอให้ริบของกลาง ศาลย่อมมีอำนาจสั่งคืนแก่เจ้าของได้ ไม่เกินคำขอ(ฎ. 2557/22)**
- โจทก์ไม่ขอให้นับโทษต่อ นับโทษต่อไม่ได้เป็นกรณีเกินคำขอ(ฎ.1847-8/41) และ ในคดีที่มีการรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน ถ้าตามคำขอท้ายฟ้องของคดีที่มีการรวมพิจารณาไม่ได้ขอให้นับโทษต่อกันไว้ ก็นับโทษติดต่อกันไม่ได้ เป็นกรณีเกินคำขอ (ฎ.6214-16/44) เมื่อนับโทษต่อกันไม่ได้ ก็ต้องนับโทษจำคุกไปพร้อมๆกัน
- กรณีการบวกโทษจำคุกที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีก่อนนั้น เนื่องจาก ป.อ.มาตรา 58 ให้อำนาจศาลในคดีหลังบวกโทษที่รอไว้ในคดีก่อนเข้ากับคดีหลังได้ ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่บรรยายฟ้องและขอให้บวกโทษคดีก่อนเข้ามาในคดีนี้ ศาลก็มีอำนาจนำโทษที่รอลงโทษไว้นั้นมาบวกเข้ากับโทษในคดีหลังได้(ฎ. 1908/47)
- ในเรื่องความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม หากโจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมแล้ว แม้โจทก์จะมิได้ขอให้เรียงกระทงลงโทษ หรือ มิได้อ้าง ป.อ. มาตรา 91 ศาลก็เรียงกระทงลงโทษจำเลยได้ (ฎ. 2692/46) เพราะ มาตรา 91 มิใช่มาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด และ ป.วิ.อาญา มาตรา 158 ก็มิได้บังคับให้โจทก์จะต้องอ้างมาตรา 91 ดังกล่าวมาในท้ายคำฟ้องด้วย แต่ถ้าบรรยายฟ้องว่าเป็นความผิดกรรมเดียว แต่ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นหลายกรรม ศาลลงโทษได้เพียงกรรมเดียว (ฎ. 2764/22)
- การบรรยายฟ้องไม่จำต้องระบุวรรคก็ชอบด้วย มาตรา 158(6) และเมื่อศาลฟังข้อเท็จจริงได้ตามฟ้อง ก็มีอำนาจพิพากษาว่าเป็นความผิดในวรรคใดได้ไม่เกินคำขอ(ฎ.1875/45)
- ฟ้องว่าเป็นตัวการ ได้ความว่าเป็นผู้ใช้ ดังนี้จะลงโทษฐานผู้ใช้ไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญตามมาตรา 192 วรรคสอง แต่ลงโทษฐานผู้สนับสนุนได้เพราะมีโทษเบากว่า ไม่เกินคำขอ (ฎ.6677/40) แต่ถ้าฟ้องว่าเป็นผู้ใช้ไห้ผู้อื่นกระทำความผิด ได้ความว่าเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญตามมาตรา 192 วรรคสอง ศาลลงโทษฐานเป็นตัวการได้(ฎ. 9367/46) และฟ้องว่าเป็นตัวการได้ความว่าเป็นผู้สนับสนุน ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ เพราะมีโทษเบากว่าตัวการ(ฎ.47/14)
- *** ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษแก่ผู้อื่น ได้ความว่าเป็นการจำหน่ายระหว่างจำเลยทั้งสอง(จำหน่ายกันเอง) แตกต่างในข้อสาระสำคัญศาลต้องยกฟ้อง(ฎ. 493/48)
- ฟ้องว่าจำเลยพรากผู้เยาว์ไปโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจ( ป.อ.มาตรา 318) ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ( มาตรา 319) ศาลลงโทษตามมาตรา 319 ได้ เพราะมีอัตราโทษเบากว่า(ฎ. 2245/37 , 740/36)
- ฟ้องขอให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 336 ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นลักทรัพย์ โดยมิได้ฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ศาลลงโทษตาม ม. 334 ได้ แต่จะลง ม. 335 ไม่ได้ เพราะความผิดตาม 335 มีโทษหนักว่า 336 (ฎ. 2130/14)
- ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 138 มิได้อ้างมาตรา 140 จะลงโทษตามมาตรา 140 ไม่ได้ เพราะมาตรา 140 มีโทษหนักกว่า (ฎ. 124/32)
ข้อเท็จจริงที่มิได้กล่าวในฟ้อง( ข้อเท็จจริงนอกฟ้อง)
ศาลจะพิพากษาตามข้อเท็จจริงที่มิได้กล่าวในฟ้องไม่ได้ (มาตรา 192 วรรคแรกตอนท้าย) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องไม่ได้ เช่นฟ้องว่าจำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยใช้มีดแทงที่ศีรษะ ไหล่ และหลัง การที่ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าว แต่ฟังว่าหลังจากที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายแล้วการที่จำเลยถือมีดวิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปเป็นพยายามทำร้ายเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับที่โจทก์ฟ้อง เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้กล่าวในฟ้อง(ฎ.738/40)
- การที่ศาลหยิบยกข้อเท็จจริงจากรายงานการสืบเสาะมากล่าวในคำพิพากษา ประกอบดุลพินิจในการลงโทษ หรือรอการลงโทษ มิใช่พิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้อง
- โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเฮโรอีนจำนวนหนึ่งไว้ในความครอบครอง แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าเฮโรอีนที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้เป็นคนละจำนวนกับที่โจทก์ฟ้อง ถือว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ลงโทษไม่ได้(ฎ. 850/42) แต่ถ้าเป็นยาเสพติดจำนวนเดียวกันแต่ต่างกันเฉพาะปริมาณหรือน้ำหนัก ถือว่าแตกต่างกันเพียงรายละเอียด ศาลลงโทษได้
- ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 288,80 ได้ความว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 297 แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องมาว่าสาหันอย่างไร ศาลลงโทษได้เพียงมาตรา 295 (ฎ.1450/29) แต่ถ้าโจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสมาด้วย ศาลลงโทษฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส ตาม 297 ได้ (ฎ.217/37)
ข้อเท็จจริงในการพิจารณาแตกต่างจากฟ้อง มาตรา 192 วรรคสอง วรรคสาม
- ข้อหาที่ปรากฏในการพิจารณานั้น พนักงานสอบสวนจะได้มีการแจ้งข้อหาหรือมีการสอบสวนหรือไม่ ศาลก็ลงโทษได้(ฎ.2129/37)เพราะการไม่แจ้งข้อหา มีผลเพียงห้ามอัยการฟ้องเท่านั้น แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากในตัวคำฟ้อง(แต่ในคำฟ้องไม่ได้แจ้งข้อหาไว้เท่านั้น)และในทางพิจารณา ก็เป็นอำนาจของศาลที่จะลงโทษได้
- กรณีที่ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ (บรรยายมาไม่ถูกต้องครบถ้วนตาม 158 ) ศาลไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตามมาตรา 192 วรรคสอง (ฎ. 4807/36) ศาลต้องยกฟ้องโดยไม่ต้องสืบพยานคู่ความ
- ข้อแตกต่างเกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำผิด ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญเว้นแต่จำเลยจะหลงข้อตู้สู้ ดังนั้นการที่จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบ(ไม่ได้นำสืบตามที่โจทก์ฟ้อง) แสดงว่าจำเลยไม่มิได้หลงต่อสู้(ฎ. 3333/45) หรือฟ้องว่ากระทำผิดวันใดวันหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากทางพิจารณา แต่จำเลยมิได้นำสืบต่อสู้เกี่ยวกับวันเวลา แสดงว่าการที่ฟ้องผิดไปนั้นมิได้เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้
- ข้อแตกต่างในการกระทำโดยเจตนากับการกระทำโดยประมาท ไม่เป็นข้อแตกต่างในสาระสำคัญ(ฎ. 2589/46) เช่น ฟ้องว่าฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ข้อเท็จจริงได้ความว่าเป็นการกระทำโดยประมาท ศาลลงโทษจำเลยฐานทำให้ตายโดยประมาทได้ หรือ กลับกันก็ได้(ฎ.1962/41) แต่ถ้าปรากฎว่าในทางพิจารณากับฟ้องนอกจากจะแตกต่างกันในองค์ประกอบเรื่องเจตนากับประมาทแล้ว องค์ประกอบความผิดอื่นๆ ยังแตกต่างกันเป็นคนละเรื่อง ดังนี้ไม่ใช่ข้อแตกต่างระหว่างการกระทำโดยเจตนากับประมาทตาม มาตรา 192 วรรคสาม ศาลลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาไม่ได้ เช่น ฟ้อง ป.อ. มาตรา 149 และ 157 แต่ทางพิจารณาว่าเป็น 205 ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ศาลลงโทษตาม 205 ไม่ได้ เกินคำขอ
- ข้อแตกต่างในฐานความผิด ตามวรรคสาม เช่น ฟ้องลักทรัพย์ ได้ความว่าเป็นความผิดทำให้เสียทรัพย์ ศาลลงโทษฐาน ทำให้เสียทรัพย์ได้ หรือฟ้องว่าลักทรัพย์ ได้ความว่าเป็นฉ้อโกง เมื่อจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ( เพราะจำเลยสืบว่าทรัพย์เป็นของจำเลย) ศาลลงโทษฉ้อโกงได้ (ฎ. 3462/28) ฟ้องว่ารับของโจร ได้ความว่าฉ้อโกงศาลลงโทษฉ้อโกงได้(ฎ. 2652/43) ฟ้องว่าชิงทรัพย์ ได้ความว่าเป็นวิ่งราวทรัพย์ ลงวิ่งราวไม่ได้ แต่ลงลักทรัพย์ได้( ฎ.831/32) เพราะทั้งความผิดฐานชิงทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ต่างมิใช่ความผิดตามที่ระบุไว้ใน 192 วรรคสาม ฟ้องลักทรัพย์ ได้ความว่ารับของโจร ศาลลงรับของโจรได้
*** ข้อสังเกต ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในทางพิจารณา น่าจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยในการพิจารณาของศาล หากคดีนั้นจำเลยให้การรับสารภาพ(คดีไม่ต้องสืบประกอบ) จึงไม่มีการสืบพยานโจทก์ กรณีเช่นนี้ทำให้ไม่มีข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา จึงไม่ต้องด้วย มาตรา 192 วรรคสาม เช่น ฟ้องรับของโจร จำเลยรับว่าลักทรัพย์ ซึ่งมิใช่การกระทำที่กล่าวในฟ้อง เมื่อโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจะลงลักทรัพย์ไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์นั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในทางพิจารณา (ฏ.5666/45)
- ในกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์ หรือ รับของโจร ฐานใดฐานหนึ่งเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาได้ความว่าจำเลยประทำผิดฐานใดฐานหนึ่งในสองฐานดังกล่าว ศาลชั้นต้นก็ลงโทษได้ตามฟ้อง กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องข้อแตกต่างในฐานความผิด แต่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่ง หากศาลสูงเห็นว่า เป็นความผิดอีกฐานหนึ่งก็ลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 192 วรรคสาม(ฎ.1610/39 ป.)***
- ฟ้องว่าลักทรัพย์หรือรับของโจรอย่างหนึ่ง ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นทรัพย์อีกอย่างหนึ่ง ดังนี้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษ ตามมาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสี่ (ฎ.8802/43 ลักสายยู ออกผู้ช่วย ปี 50) แต่ถ้าฟ้องว่ารับของโจรซึ่งได้มาจากการกระทำผิดฐานหนึ่ง แต่ได้ความว่าได้มา จากการกระทำผิดอีกฐานหนึ่ง ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ (ฎ.228/10 ป.)
- ถ้าโจทก์ระบุตัวทรัพย์ผิดพลาด แต่โจทก์ได้ระบุราคาทรัพย์ของกลางที่ถูกต้องมาด้วย ไม่ถือว่าเป็นข้อสาระสำคัญ (ฎ.1995/18 ป.)
- ถ้าทรัพย์ของกลางตามที่โจทก์ฟ้อง และที่ปรากฏในการพิจารณาเป็นทรัพย์อันเดียวกันแต่แตกต่างกันที่เจ้าของ ถือว่าแตกต่างกันในรายละเอียด ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ ถ้าจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลจะพิพากษายกฟ้องไม่ได้ (ฎ.913/13)
สรุปได้ว่า ถ้าแตกต่างในตัวทรัพย์เป็นสาระสำคัญ ถ้าแตกต่างในตัวเจ้าของทรัพย์ ไม่ใช่สาระสำคัญ
- ฟ้องว่าใช้อาวุธอย่างหนึ่งทำร้ายผู้เสียหาย ได้ความว่าเป็นอาวุธอีกอย่างหนึ่ง มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ(ฎ.1351/39) หรือฟ้องว่าใช้อาวุธปืนยิงที่ศีรษะผู้เสียหาย ได้ความว่าจำเลยใช้อาวุธตีที่ศีรษะ จำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลลงโทษฐานทำร้ายร่างกายได้ ตาม 192 วรรคท้าย (ฎ. 2768/36, 1052/45 ป. )
- ในคดีดูหมิ่นเจ้าพนักงานฟ้องว่าดูหมิ่นคนหนึ่งแต่ได้ความว่าเป็นอีกคนหนึ่ง เป็นข้อแตกต่างในสาระสำคัญ(ฎ.207/28) แต่ในคดีหมิ่นประมาทบรรยายฟ้องว่ากล่าวข้อความหมิ่นประมาทต่อบุคคลที่สามคนหนึ่ง ได้ความทางพิจารณาว่าเป็นอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ (ฎ.3086/16)
- ในคดีที่ฟ้องว่าฆ่าคนตายหรือทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายสาหัส แต่ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นการชุลมุนต่อสู้กันตาม ป.อ. ม. 294 หรือ 299 เป็นข้อแตกต่างในสาระสำคัญ (ฎ. 48/28) ในกรณีที่รู้ว่าใครเป็นคนทำร้ายใคร แม้ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นการชุลมุนต่อสู้ก็ไม่เป็นข้อแตกต่างจากฟ้อง(ฎ. 3141/27)
- ข้อแตกต่างที่ไม่เป็นสาระสำคัญและจำเลยไม่หลงต่อสู้ เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คโจทก์ฟ้องว่าผู้เสียหายเป็นผู้นำเช็คไปเข้าบัญชีของผู้เสียหาย แต่ทางพิจารณาได้ความว่าผู้อื่นเป็นผู้นำเช็คไปเข้าบัญชีของผู้เสียหาย (ฎ.1298/39) หรือ บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายนำเช็คเข้าบัญชีของผู้เสียหาย แต่ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายนำเช็คไปเข้าบัญชีของผู้อื่นเพื่อเรียกเก็บเงิน มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ (ฎ. 1084/42)
- ในคดีละเมิดรถชนกัน แม้ทางพิจารณาได้ความว่ารถที่ชนมีหมายเลขทะเบียนแตกต่างจากเลขทะเบียนที่กล่าวในฟ้อง ข้อแตกต่างนั้นไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ (ฎ. 779/15) เรื่องนี้ตัวรถถูกต้อง แต่จำหมายเลขทะเบียนเพี้ยนไป
- ฟ้องว่าจำเลยร่วมกันทำร้าย ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยต่างมีเจตนาทำร้าย โดยมิได้เป็นตัวการร่วม มิใช่ข้อแตกต่างกันในสาระสำคัญ ศาลลงโทษตามข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้(ฎ.7165/42) หรือฟ้องว่าจำเลยแต่ผู้เดียวทำร้ายผู้ตาย ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยร่วมกับพวกทำร้ายตาย เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียด(ฎ.2444/43)
ข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ( มาตรา 192 วรรคสี่)
- หมายถึง กรณีที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้อง ให้ครอบคลุมถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด ฐานใดฐานหนึ่งด้วย แม้จะได้ความจากทางพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดฐานนั้นด้วยก็ตาม (ไม่ได้บรรยายในฟ้องในความผิดฐานซึ่งในทางพิจารณานำสืบพบในความผิดฐานดังกล่าวนั้น ประกอบกับไม่ได้ขอให้ลงโทษฐานความผิดตามที่พิจารณาได้ความ) ดังนี้ เป็นกรณีไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ( ดังนั้นศาลลงโทษฐานนั้นไม่ได้) เช่น บรรยายฟ้องว่าชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ (ไม่ได้บรรยายว่าฉกฉวยเอาซึ่งหน้า) ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ศาลลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ไม่ได้ ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ แต่ศาลลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ตาม มาตรา 192 วรรคท้าย เพราะความผิดฐานลักทรัพย์เป็นการกระทำที่รวมอยู่ในความผิดฐาน วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ (ฎ. 7884/44,1985/39)
- และหมายถึง กรณีที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายฐาน และโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเป็นองค์ประกอบความผิดมาแล้ว แต่คำขอท้ายฟ้องได้ขอให้ลงโทษเพียงบางฐานเท่านั้น ถือว่าฐานที่ไม่ได้ขอเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เช่น บรรยายฟ้องและบรรยายองค์ประกอบความผิด ว่าพยายามฆ่าเจ้าพนักงานในการปฎิบัติตามหน้าที่ โดยขับรถพุ่งเข้าชนไม่ให้จับกุมขณะตั้งจุดตรวจโดยมีเจตนาฆ่าและขัดขางการจับกุม ซึ่งเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 138 แต่โจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษ ตามมาตรา 138 มาท้ายฟ้องด้วย จึงถือว่าไม่ประสงค์ให้ลงโทษฐานต่อสู้ขัดขวางฯ (ฎ. 3452/43) ซึ่งอาจจะเป็นกรณีเกินคำขอ( 192วรรคแรก) อยู่ในตัว
ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์สืบสมแต่อ้างฐานความผิดผิด( มาตรา 192 วรรคห้า)
- หมายถึงกรณีที่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้ว และโจทก์สืบสม แต่กลับขอให้ลงโทษในความผิดอีกฐานหนึ่ง (อ้างฐานหรือบทมาตราผิด) ศาลจึงมีอำนาจลงโทษตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ( แต่ไม่ใช่อ้างกฎหมายผิดเป็นคนละฉบับ ฎ. 1173/39) (ฎ. 2048/47, 1750/48)
- การอ้างกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้ว เท่ากับไม่ได้อ้างกฎหมายใดๆมาเลย (ฎ. 6444/46)
ความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง ( มาตรา 192 วรรคท้าย)
- กรณีความผิดตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นความผิดอันยอมความได้ จึงต้องมีคำร้องทุกข์ไว้ตามกฎหมาย หากไม่มีคำร้องทุกข์ พนักงานสอบสวน ไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลก็ลงโทษความผิดที่พิจารณาได้ความไม่ได้ เช่น ฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 276 วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เป็นความผิดตาม มาตรา 276 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย เช่นนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามมาตรา 276 วรรคแรก ที่พิจารณาได้ความ ศาลต้องยกฟ้อง (ฎ. 4906/43)
- ฟ้องฐานฆ่าผู้อื่น ทางพิจารณาได้ความว่า เป็นการทำร้ายร่างกายผู้อื่น ถือว่า ความผิดฐานทำร้ายร่างกายรวมอยู่ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นด้วย ศาลจึงลงโทษฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้ (ฎ. 584/45) หรือฟ้องพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อฟังว่ามีเพียงเจตนาทำร้าย ก็ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามมาตรา 296 ได้(ฎ.2444/43) หรือฟ้องว่าพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ได้ความว่าเป็นความผิดฐาน ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ก็ลงโทษฐานนี้ได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย (ฎ.7793/47)
- ฟ้องขอให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามมาตรา 288 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตามมาตรา 290 วรรคแรกอยู่ด้วย (ฎ. 1522/47)
- ฟ้องว่าพยายามฆ่าโดยใช้อาวุธปืนยิง ได้ความว่าทำร้ายร่างกายโดยใช้ผืนตีทำร้าย ลงโทษฐานทำร้ายผู้อื่นได้ (ฎ. 1052/45 ป.)
ข้อสังเกต กรณีฟ้องข้อหาพยายามฆ่า ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยทำร้ายเท่านั้น ศาลพิพากษาลงโทษฐานทำร้ายร่ากายตาม ป.อ. มาตรา 295 ได้ แต่ถ้าข้อเท็จจริงที่ได้ความเป็นการทำร้ายร่างกายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 ข้อเท็จจริงที่ถือว่าเป็นอันตรายสาหัสตามมาตรา 297(1)-(8) ไม่ได้รวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าด้วย ดังนั้นเมื่อไม่ได้บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอันตรายสาหัสที่ผู้ต้องหาได้รับ ศาลลงโทษตามมาตรา 297 ไม่ได้ คงลงโทษได้ตามาตรา 295 เท่านั้น
แต่ถ้าฟ้องว่าพยายามฆ่า โดยบรรยายฟ้องด้วยว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสอย่างไร ศาลลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 297 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ความได้ โดยรายงานการชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องที่ระบุว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง เท่ากับโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสอย่างไร เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเป็นการทำร้ายร่างกายสาหัสตาม ป.อ.มาตรา 297 ศาลก็ลงโทษ ฐานนี้ได้ ตาม ป.วิ.อาญามาตรา 192 วรรคท้าย (ฎ. 7135/47 ป.)***
- ความผิดฐานชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ และการใช้กำลังประทุษร้าย ดังนี้ แม้ฟังไม่ได้ว่ามีการลักทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ คงฟังได้ว่ามีการทำร้าย ศาลก็ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายตาม ป.อ.มาตรา 295 หรือ 297 ได้ แล้วแต่กรณี (ฎ. 8701/47)
- แม้ฟ้องขอให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์เพียงกระทงเดียว แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและฐานลักทรัพย์ รวม 2 กระทง ศาลก็ลงโทษ ทั้งสองกระทงนั้นได้ แต่ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย แม้จะได้ความว่าเป็นการทำร้ายร่างกายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลลงโทษได้เพียงตามมาตรา 295 (ฎ. 108/46)
- ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ มิได้เป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ ศาลลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความไม่ได้( มิได้บรรยายว่าฉกฉวยเอาทรัพย์ไป) คงลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการชิงทรัพย์ได้เท่านั้น ทั้งนี้ตาม มาตรา 192 วรรคท้าย ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์สืบสมแต่อ้างฐานหรือบทความผิดผิด ตามมาตรา 192 วรรค 5 (ฎ. 12584/47)
- ความผิดฐานทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว ตาม ป.อ.มาตรา 392 มิได้รวมอยู่ในความผิด ฐานชิงทรัพย์ (ฎ.3084/30)
- หากความผิดที่ได้ความในทางพิจารณาเป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องดูว่ามีการร้องทุกข์ตามกำหนดเวลาตาม ป.อ. มาตรา 96 หรือไม่ หากไม่ได้ร้องทุกข์ตามกำหนดคดีก็ขาดอายุความ (ฎ. 4752/45)
อุทธรณ์ ( มาตรา 193)
- การอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่ว่าจะเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือในข้อกฎหมาย ก็ต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ตามลำดับชั้นศาล ซึ่งตาม ป.วิ.อ.มาตรา 193 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว คู่ความจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาดังเช่นคดีแพ่ง จะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ มาใช้บังคับมิได้ (ฎ. 3946/42)
- การที่คู่ความแถลงไม่ติดใจอุทธรณ์ คำแถลงเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการตัดสิทธิอุทธรณ์ คู่ความจึงยื่นอุทธรณ์ภายในระยะอุทธรณ์ได้ (ฎ. 302/95)
-โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในความผิดข้อหาที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 78,160 ซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ส่วนโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายเฉพาะในความผิด ตาม ป.อ.มาตรา 291 (ฎ.9299/39) หรือกรณีความผิดฐานทำลายพยานหลักฐานตาม ป.อ. มาตรา 199 (ฎ. 2110/48) ****
- ในกรณีการรวมพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นอุทธรณ์เฉพาะสำนวนที่ตนยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมเท่านั้น หากยื่นอุทธรณ์ในสำนวนที่ตนไม่ได้เข่าเป็นโจทก์ร่วมถือว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์โดยไม่ชอบ (ฎ. 7364/38)
- อุทธรณ์ทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อ หรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ ตามมาตรา 193 วรรคสอง ซึ่งนำไปใช้ในชั้นฎีกาด้วย
- จำเลยฎีกาถือเอาคำพิพากษาศาลชั้นต้น หรือคำฟ้องอุทธรณ์ เป็นข้อฎีกาของจำเลย หรือฎีกา โดยถือเอาคำแถลงการณ์ปิดคดีในศาลชั้นต้น เป็นส่วนหนึ่งของฎีกาจำเลยไม่ได้ (ฎ. 1199/35) ถือเป็นฎีกาไม่ชัดเจน ไม่ชอบด้วยมาตรา 193 วรรคสองประกอบมาตรา 225
- อุทธรณ์หรือฎีกาที่ระบุว่า คำพิพากษาของศาลล่างวินิจฉัยคลาดเคลื่อนต่อเหตุผลและความเป็นจริง โดยมิได้ระบุว่าวินิจฉัยไม่ชอบหรือขัดต่อกฎหมายอย่างไร ไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่าง ไม่ชอบด้วยมาตรา 193 วรรคสอง (ฎ. 3918/25)
-**คำแถลงการณ์ในชั้นอุทธรณ์ หรือฎีกา มิใช่ส่วนหนึ่งของอุทธรณ์หรือฎีกา หากอุทธรณ์หรือฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำแถลงการณ์จึงไม่ทำให้อุทธรณ์หรือฎีกาชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ เช่นยื่นอุทธรณ์โดยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อ แม้ว่าจะยื่นคำแถลงการณ์ภายในกำหนดอายุอุทธรณ์ ก็ไม่ทำให้อุทธรณ์นั้น เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 1514/32)
- คู่ความจะฎีกาโดยอ้างว่าเห็นชอบด้วยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ แต่เพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเพื่อเป็นแบบอย่างต่อไป เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ (ฎ. 890/90)
- **การที่ทนายความยื่นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยจำเลยไม่ได้แต่งตั้งให้เป็นทนายความของตน เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลต้องสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวนั้นให้ถูกต้อง(ฎ. 2281/45) หากศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียสิทธิที่จะรับการพิจารณาในเนื้อหาแห่งอุทธรณ์ ศาลฏีกาสั่งให้แก้ไขตามมาตรา 208(2) ประกอบมาตรา 225 แต่หากต่อมาปรากฏว่าได้มีการแต่งตั้งทนายความคนดังกล่าวให้มีอำนาจอุทธรณ์หรือฎีกาแทน ก็ไม่จำต้องสั่งให้แก้ไข และต้องถือว่าได้ยื่นอุทธรณ์โดยชอบมาแต่ต้นแล้ว
คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ( มาตรา 193 ทวิ)
- กรณีต้องห้ามอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม 193 ทวิ ต้องเป็นการโต้แย้งเนื้อหาแห่งคำฟ้องหรือตามประเด็นแห่งคดี ดังนั้นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาหรือประเด็นแห่งคดี ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ เช่นการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลที่ไม่รับฟ้อง (ฎ. 14/37) , อุทธรณ์คำสั่งศาลที่ให้งดสืบพยาน(ฎ. 1927/37) , กรณีร้องขอคืนของกลางตามมาตรา 36 แห่ง ป.อาญา ( ไม่อยู่ภายใต้บังคับข้อห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง) ฎ. 211/04 ป. และฎ. 1025/22
- การพิจารณาอัตราโทษว่าเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ ต้องพิจารณาจากอัตราโทษ จากฐานความผิดที่โจทก์ขอให้ลงโทษเป็นสำคัญ ไม่ใช่จากอัตราโทษในฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ (ฎ. 2590/40,4911/37)
- กรณีความผิดข้อหาใดที่ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้อง แต่ไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดไว้ด้วย ถือว่าไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษข้อหานั้นด้วย จึงจะนำอัตราโทษในข้อหานั้นมาพิจารณาว่าเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ ไม่ได้
- สิทธิอุทธรณ์ในคดีที่มีหลายข้อหา การพิจารณาว่าคดีต้องห้ามตาม 193 ทวิหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าความผิดเหล่นั้น เป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรม ถ้าเป็นหลายกรรม ต้องพิจารณาอัตราโทษแต่ละข้อหา ( พิจารณาทุกข้อหา ) (ฎ. 586/44, 204/22) แต่ถ้าเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้พิจารณาเฉพาะบทหนัก ถ้าบทหนักไม่ห้ามถือว่าอุทธรณ์ได้ทุกข้อหา (ฎ. 3154/43, 95/21)
- มาตรา 193 ทวิ นำไปใช้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องด้วย (ฎ. 3062/32)
- คำพิพากษาของศาลที่สั่งให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมตาม ป.อ. มาตรา 74 ไม่ถือว่าเป็นคำพิพากษาที่ให้ลงโทษจำคุก จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง (ฎ. 432/40)
- ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ตรวจว่าเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามหรือไม่ ถ้าต้องห้าม ศาลชั้นต้นก็สั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ ตามมาตรา 195 แต่ถ้าศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ที่ต้องห้ามมาแล้ว ศาลอุทธรณ์ย่อมพิพากษายกอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 242 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 โดยไม่จำต้องวินิจฉัยเนื้อหาที่อุทธรณ์(ฎ. 2482/27)
- คดีที่มีหลายกระทง บางกระทงต้องห้ามตาม 193 ทวิ บางกระทงไม่ต้องห้ามฯ เมื่อจำเลยอุทธรณ์รวมกันมา หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดในกระทงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 (ฎ. 3184/45, 1724/26)
การรับรองอุทธรณ์ ( มาตรา 193 ตรี)
ในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 193 ทวิ ผู้พิพากษาซี่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น อาจอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ หรืออัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุดได้มอบหมายให้ลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย
- การที่จะให้อธิบดี กรมอัยการรับรองนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติให้ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งอุทธรณ์ไปให้อธิบดีกรมอัยการ การรับรองอุทธรณ์เป็นประโยชน์แก่ผู้อุทธรณ์เอง ผู้อุทธรณ์จึงต้องขวนขวายขอร้องไปยังอธิบดีกรมอัยการเอง หาใช่อาศัยศาลเป็นเครื่องมือส่งไปยังอธิบดีอัยการไม่(ฎ.656/06)
- การอนุญาตให้อุทธรณ์ ต้องมีถ้อยคำที่ใช้ให้มีความหมายให้เห็นว่า เป็นการรับรองข้อที่ต้องห้าม ก็ชอบแล้ว(ฎ. 2255/34) แต่ควรมีข้อความให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ว่า " ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ และอนุญาตให้อุทธรณ์" (ฎ. 2216/21)
- ถ้าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้ง ไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ คู่ความมีสิทธิขอให้อัยการสูงสุด หรือพนักงานอัยการผู้ได้รับมอบหมายรับรองอุทธรณ์ได้ หรือกรณีกลับกันหากครั้งแรกยื่นขอให้อัยการสูงสุดหรือผู้ได้รับมอบหมายให้รับรอง แต่ หากอัยการสูงสุด หรือผู้ได้รับมอบหมาย ไม่รับรองอุทธรณ์ คู่ความมีสิทธิขอให้ผู้พิพากษาดังกล่าวอนุญาตให้อุทธรณ์ได้อีก (ฎ. 659/41)
- เมื่อศาลอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ศาลนั้นจะเพิกถอนคำสั่งนั้นไม่ได้(ฎ.659/41)
การวินิจฉัยคดีที่อุทธรณ์แต่ข้อกฎหมาย( มาตรา 194)
- ถ้ามีการอุทธรณ์แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน แต่ถ้าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดกฎหมาย (เช่นถือเอาข้อเท็จจริงในคดีแพ่งมาผูกพันในคดีอาญา) ศาลอุทธรณ์มีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243(3) ก ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 (ฎ. 3202/27) แต่ถ้ามีอุทธรณ์ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้
- ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ต้องฟังตามศาลชั้นต้น หมายถึงข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่อุทธรณ์เท่านั้น (ฎ. 1245/10)
- ในกรณีที่ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาไม่ชัดเจนเพียงพอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ย่อมรับฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ (ฎ.3305/30)
- คดีที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ย่อมวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงต่างจากศาลชั้นต้นได้ การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้ดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อมาตรา 194(ฎ. 14/42)
ข้อกฎหมายที่อุทธรณ์ได้ ( มาตรา 195)
- ข้อกฎหมายนั้นจะต้อง แสดงไว้ชัดเจน และต้องเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
- อุทธรณ์ต้องโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น การที่อุทธรณ์แต่เพียงว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง จึงเป็นเป็นการอุทธรณ์ที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลต้น ( เทียบ ฎ. 5280/40)
- ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อาญา แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ผู้อุทธรณ์ หรือศาลยกขึ้นเองได้ ( ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่ยก ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยให้ได้) (ฎ.4313/45)
-** ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เช่น ปัญหาเรื่อง อำนาจฟ้อง , ฟ้องเคลือบคลุม , คดีขาดอายุความ ,กรรมเดียวหรือหลายกรรม, การปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดนั้น , ปัญหาว่าเพิ่มโทษจำเลยชอบหรือไม่ , ปัญหาว่าฟ้องที่ไม่ลงลายมือชื่อโจทก์เป็นฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ , ความผิดสำเร็จหรือพยายาม , ระวางโทษไม่ถูกต้อง , ศาลล่างพิพากษาเกินคำขอ
- *** กรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพในคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกไม่ถึง 5 ปี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว ตาม 176 วรรคแรก จำเลยจะอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดไม่ได้ เพราะข้ออุทธรณ์ที่ว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดนั้นไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น (ฎ. 6558/47,3061/47) แต่ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เป็นคดีที่โจทก์ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ และศาลจะลงโทษจำเลยต่อเมื่อพอใจว่าจำเลยกระทำผิด ดังนี้ถือได้ว่ามีประเด็นในศาลชั้นต้นแล้วว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เป็นข้อที่ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยจึงอุทธรณ์ได้ว่าพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด (ฎ. 2879/40 )
- คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์(ฎ. 1675/29) หรืออุทธรณ์เท่ากับไม่อุทธรณ์ ถ้าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็เท่ากับไม่ได้วินิจฉัย
คำสั่งระหว่างพิจารณา (มาตรา 196)
คำสั่งระหว่างพิจารณา คือคำสั่งใดๆของศาลที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญ ซึ่งไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน อาจเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา ก็ได้
- ในกรณีที่ศาลสั่งปรับนายประกัน นายประกันย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 119 มิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา(ฎ. 93/21) แต่คำสั่งศาลที่ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา(ฎ.107/37)
- ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง( ยังไม่ได้รับฟ้อง ยังไม่ได้ไต่สวนมูลฟ้อง) ศาลชั้นต้นสั่งในคำฟ้องว่าให้รอฟังคดีอาญาอีกเรื่องหนึ่งก่อน ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา(ฎ.1262/04) แต่ถ้าศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องไว้แล้ว แต่ในภายหลังกลับสั่งให้รอหรืองดการไต่สวนมูลฟ้องไว้ก่อนชั่วคราว (มีผลเป็นการเลื่อนคดี) ดังนี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา (7080/41) หรือในกรณีที่ศาลทำการไต่สวนมูลฟ้อง แล้วมีคำสั่งให้รอฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลคดีอื่น ก็เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเช่นกัน(ฎ.391/32) สองเรื่องหลังนี้อยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว **
- คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้โอนคดี หรือการไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา(ฎ. 67/89)
- คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ไม่ถือเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความ แต่ในคดีแพ่งเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226,227 (ฎ.2229/33) , คดีที่มีจำเลยหลายคน คำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยบางคน ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา (ฎ. 1020/18) เพราะถือว่าคำฟ้องที่เกี่ยวกับจำเลยคนนั้นเสร็จสำนวนไปจากศาลแล้ว
- คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งอนุญาตหรือยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ เป็นคำสั่งที่เกิดขี้นภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว และก่อนที่จะสั่งรับอุทธรณ์ ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา (ฎ. 3082-3/37)
ข้อสังเกต เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วคำสั่งของศาลชั้นต้น ย่อมไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ส่วนคำสั่งระหว่างพิจารณาในชั้นอุทธรณ์จะเกิดขึ้นเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์แล้ว เรื่องนี้เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลาออกไป 3 วัน และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังนี้จะเห็นได้ว่าคำสั่งที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นคำสั่งที่เกิดขึ้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์ร่วมจึงอุทธรณ์คำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลาอุทธรณ์ได้ทันที โดยไม่ต้องให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งหรือพิพากษาก่อน ซึ่งเรื่องนี้ศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมฟังขึ้นและไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพราะยื่นหลังจากครบกำหนดแล้ว
- คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ก็มีได้ (ฎ. 905/68) เรื่องนี้ เป็นคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่สั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยาน แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ฎีกาทันทีไม่ได้
- การอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาในคดีอาญาต้องกระทำเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญแล้ว โดยไม่จำต้องมีการโต้แย้งไว้ดังเช่นในคดีแพ่ง (ฎ. 532/48)**
- กฎหมายห้ามอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาจนกว่าจะมีคำพิพากษา มิได้ห้ามอุทธรณ์เด็ดขาด ดังนั้นเมื่อศาลพิพากษาคดีแล้ว คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ คำสั่งระหว่างพิจารณาได้ แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญแห่งคดีด้วย
ข้อสังเกต ถ้าเป็นคดีแพ่งคู่ความอาจอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาอย่างเดียวได้ แต่ในคดีอาญาจะอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาได้ ก็ต้องมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญแห่งคดีด้วย และตามมาตรา 196 ใช้คำว่า " .... และมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย" ความตรงนี้ไม่ได้บอกว่าคู่ความที่อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาต้องเป็นผู้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งด้วยแต่อย่างใด ฉะนั้นหากคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่ง คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์เฉพาะคำสั่งระหว่างพิจารณาได้
กำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ ( มาตรา 198)
ผู้อุทธรณ์ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง(ฎ. 1572/25)
- การแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์หรือฎีกานั้น ต้องดูว่าเป็นการเพิ่มประเด็นจากอุทธรณ์หรือฎีกาหรือไม่ ถ้าเป็นการเพิ่มประเด็นจากอุทธรณ์หรือฎีกาเดิมต้องกระทำภายในกำหนดเวลาอุทธรณ์ หรือฎีกา (ฎ. 7127/40) ซึ่งต่างกับการยื่นคำฟ้องในศาลชั้นต้นที่ไม่ได้กำหนดเวลายื่นฟ้องไว้
- การแก้ไขอุทธรณ์อันมีผลเป็นการเพิ่มตัวผู้อุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้วไม่ได้ เพราะเท่ากับตัวผู้อุทธรณ์ที่เพิ่มขึ้นภายหลังนั้นยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ตามมาตรา 198 นั่นเอง เช่น เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้อุทธรณ์เท่านั้น จำเลยจะขอเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งห้า เป็นผู้อุทธรณ์ จึงเป็นการเพิ่มเติมประเด็นสำหรับจำเลยที่ 2,5 และ 5 เป็นผู้อุทธรณ์ด้วย ศาลจึงชอบที่จะยกคำร้องดังกล่าวเสีย
- แต่ถ้าจำเลยหลายคนยื่นอุทธรณ์มาในฉบับเดียวกัน แต่พิมพ์ผิดพลาดเป็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้อุทธรณ์เพียงผู้เดียว โดยข้อที่อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นของจำเลยทั้งหมด ดังนี้การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอระบุชื่อจำเลยอื่นเป็นผู้อุทธรณ์ด้วย จึงเป็นเพียงการแก้ไขข้อบกพร่องหรือเพิ่มเติมรายละเอียดในประเด็นเดิม ไม่ใช่เพิ่มเติมประเด็นจากอุทธรณ์เดิม ขอแก้เมื่อพ้นระยะเวลาอุทธรณ์หรือฎีกา ได้ (ฎ. 2575/16)
- ในกรณีที่จำเลยหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลได้ออกหมายจับจำเลย แต่ไม่ได้ตัวมาภายใน 1 เดือน จึงได้อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยตามมาตรา 182 ดังนี้กำหนดระยะเวลาอุทธรณ์จึงต้องนับแต่วันอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย แม้ภายหลังจับตัวจำเลยได้ศาลจะอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังอีกก็ไม่เป็นการยืดอายุอุทธรณ์(ฎ. 276/04)
-ระยะเวลาอุทธรณ์ ตามมาตรา 198 นั้น คู่ความอาจจะขยายได้ตามมาตรา 23 แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยื่นคำร้องได้ต้องเป็นคู่ความในคดี ส่วนผู้ประกันหรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกันไม่ใช่คู่ความ จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาได้ ถ้าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ถือว่าไม่ชอบ ไม่ทำให้จำเลยยื่นอุทธรณ์ได้เกินกำหนดเวลาตามมาตรา 198 (ฎ. 7223/39)
- แม้จะพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ หากปรากฏว่ามีการแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย คู่ความฝ่ายที่เสียหาย ก็อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาได้ ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าว (ฎ. 5689/45)
อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ( มาตรา 198 ทวิ)
- คำสั่งของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ไม่ว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งยืนตามคำปฎิเสธของศาลชั้นต้นหรือคำสั่งให้รับอุทธรณ์ คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุดตามวรรคสาม (ฎ. 377/28)
- คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามคำปฎิเสธของศาลชั้นต้น แม้จะอ้างเหตุผลในการปฎิเสธต่างกับศาลชั้นต้นก็ตาม คำสั่งศาลอุทธรณ์ก็เป็นที่สุด เช่นศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ เพราะเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระฯ จึงไม่รับอุทธรณ์ (ฎ. 735/30)
- คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามคำปฎิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ ย่อมเป็นย่อมที่สุดตาม 198 ทวิ วรรคสาม แม้จะเป็นการอุทธรณ์ในเรื่องที่มิใช่ประเด็นแห่งคดีก็ตาม เช่น ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ในเรื่องการคัดค้านคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำปฎิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด (ฎ. 896/40) หรือกรณีศาลอุทธรณ์ยืนตามคำสั่งของศาลที่ไม่รับอุทธรณ์เพราะยื่นเกินกำหนดก็เป็นที่สุดเช่นกัน (ฎ.4673/45)
- คำสั่งของศาลอุทธรณ์จะเป็นที่สุดหรือไม่ ต้องสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ แล้วมีการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้นขึ้นมา ถ้าเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่รับอุทธรณ์ไว้ คู่ความโต้แย้งว่าศาลชั้นต้นไม่มีสิทธิเพิกถอนคำสั่งที่รับอุทธรณ์ไว้แล้ว จึงไม่ใช่การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ตามมาตรา 198 ทวิวรรคท้าย จึงไม่เป็นที่สุด(ฎ.659/41)**
- คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่ใช่คำสั่งยืนตามคำปฎิเสธของศาลชั้นต้น ในเรื่องไม่รับอุทธรณ์ ไม่เป็นที่สุด (ฎ.1010/40) เช่น แทนที่ศาลอุทธรณ์จะพิจารณาว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ต้องห้ามตามคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือไม่ แล้วมีคำสั่งยืนตามหรือให้รับอุทธรณ์ แต่กลับไปสั่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ว่า ไม่ชัดแจ้ง ให้ยกคำร้อง เท่ากับศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้มีคำสั่งในเรื่องการรับอุทธรณ์เลย กรณีจึงไม่ต้องห้ามตาม 198 ทวิ วรรคท้าย
- กรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ส่งไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นอุทธรณ์ต้องห้าม จึงสั่งยกอุทธรณ์(โดยไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาอุทธรณ์) ดังนี้ไม่เป็นที่สุด (ฎ. 462/21)
- เมื่อศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ต้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ตาม 198 ทวิ แต่ผู้อุทธรณ์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จึงจะโต้แย้งคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นอีกไม่ได้ ผู้อุทธรณ์จึงร้องขอ(ต่อศาลชั้นต้น)ให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ ไม่ได้ เพราะการเพิกถอนเป็นการโต้แย้งคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ (คร.821/47)
การส่งสำเนาอุทธรณ์ ( มาตรา 200-201)
- ในคดีอาญานั้น มาตรา 200 แห่ง ป.วิ.อ. ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลเป็นผู้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายหนึ่งแก้ จึงให้โจทก์นำส่งดังเช่นในคดีแพ่งหาได้ไม่ (ฎ. 3478/24)
- คู่ความอีกฝ่ายต้องแก้ฎีกาใน 15 วัน ซึ่งบังคับในชั้นฎีกาด้วย ( มาตรา 216 วรรคสอง) โจทก์ขอมาในคำแก้ฎีกาให้นับโทษต่อจากคดีอื่นได้โดยไม่ต้องทำเป็นอุทธรณ์ขึ้นมา(ฎ.1408/16)
- ในคดีที่มีโจทก์ร่วม ก็ต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ร่วมด้วย จึงจะชอบ(ฎ.2538/41)
- การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งก็เพื่อให้แก้อุทธรณ์ไม่ใช่ให้ทราบเท่านั้น (ฎ. 1972/37)
การถอนอุทธรณ์( หรือฎีกา) มาตรา 202
- ก่อนที่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์(หรือศาลฎีกา ในกรณีฎีกา) ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งคำร้องขอถอนอุทธรณ์หรือฎีกา ได้ ซึ่งต่างจากคดีแพ่งศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งคำร้องขอถอนอุทธรณ์เลย แต่ในกรณีเช่นนี้ ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ก็ยังมีอำนาจสั่งได้(ฎ.173/83)
- การถอนอุทธรณ์โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย มีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดถึงที่สุดสำหรับผู้ถอนอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์จะยื่นอุทธรณ์ใหม่ไม่ได้ แม้จะยังอยู่ในกำหนดอายุอุทธรณ์ก็ตาม (ฎ. 260/12 ป.)***
- จำเลยที่ 5 ถอนอุทธรณ์ ก่อนส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตและออกหมายแจ้งโทษเด็ดขาดแล้ว จำเลยอื่นยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 5 ไม่ชอบ ให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎ. 1673/22 (ตามฎีกานี้โจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย จึงถือว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมิได้อุทธรณ์ แม้จำเลยอื่นจะอุทธรณ์ก็ไม่ถือว่าเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงเด็ดขาด สำหรับจำเลยที่ 5)
- แม้การถอนอุทธรณ์จะมีผลเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอนก็ตาม ถ้าภายหลังศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยอื่น แล้วพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกฟ้องโจทก์ตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่ถอนอุทธรณ์ไปแล้วได้ ตามมาตรา 213 (ฎ. 505/37,4093/30) ( คำพิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน ตามมาตรา 202 นั้น หมายความเพียงว่า จำเลยที่ถอนอุทธรณ์ไปแล้วจะยื่นอุทธรณ์อีกไม่ได้ หาได้ห้ามศาลอุทธรณ์ใช้อำนาจตามมาตรา 213 ไม่ )***
แต่ถ้าไม่เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจหยิบยกเอาอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอถอนไปแล้วมาวินิจฉัยได้ (ฎ. 6007/31,263/31)
- การขอถอนอุทธรณ์หรือฎีกาโดยมีเงื่อนไขว่าถ้าอีกฝ่ายอุทธรณ์ฎีกา ก็ไม่ขอถอน ดังนี้ศาลจะสั่งอนุญาตไม่ได้ (ฎ. 14/20) หรือขอถอนอ้างว่าเพื่อจะได้รับการอภัยโทษ แต่ถ้าหากศาลออกหมายจำคุกให้ไม่ทันอภัยโทษ ก็ไม่ขอถอนฎีกา ดังนี้ถอนไม่ได้ (ฎ.774/03) ( สรุปว่า การขอถอนจะต้องมามีเงื่อนไข)
- แต่ถ้าถอนชั่วคราวเพื่อจัดทำอุทธรณ์(หรือฎีกา) มายื่นใหม่ ไม่ใช่การขอถอนอุทธรณ์โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ย่อมยื่นอุทธรณ์ใหม่ได้ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ฎีกา (ฎ. 248/03)
-ศาลจะอนุญาตให้ถอนหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล (ฎ. 5457/30)
- ฎ. 7531/46 จำเลยยื่นฎีกาในประเด็นว่ามิได้กระทำผิดและขอให้ลดโทษ ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา ซึ่งแม้จะถือว่าเป็นการขอแก้ไขคำให้การปฎิเสธเป็นคำให้การรับสารภาพ แต่จำเลยไม่อาจกระทำได้เพราะการขอแก้ไขคำให้การต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ( มาตรา 163 วรรคสอง) และไม่อาจถือว่าการยื่นคำร้องนี้เป็นการขอถอนฎีกา ( 202 ประกอบ 225) เพราะจำเลยยังติดใจฎีกาในประเด็นการลดโทษอยู่ (มีเงื่อนไขว่าขอให้ลดโทษ ขึงไม่ใช่การถอนฎีกา) ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาด้วยการสละประเด็นบางข้อ เพราะพ้นระยะเวลาฎีกาตามมาตรา 216 แล้ว (การขอแก้ไขฎีกา ต้องกระทำภายในอายุฎีกา) แต่การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา ถือว่าได้ยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่ได้โต้แย้งข้อที่ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง (เท่ากับรับ่าตนเองกระทำผิด) กรณีจึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ คดีคงเหลือแต่ประเด็นว่าสมควรลดโทษให้แก่จำเลยอีกหรือไม่ เท่านั้น ***
การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ( มาตรา 203-207)
- คำแถลงการณ์มิให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ แต่เป็นเพียงคำอธิบายข้ออุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์เท่านั้น (มาตรา 205 วรรคสาม)
- คำร้องขอแถลงการณ์ด้วยปากให้ติดมากับฟ้องอุทธรณ์(หรือฎีกา) หรือคำแก้อุทธรณ์(หรือฎีกา) ตามมาตรา 205 วรรคแรก ดังนี้ จะหลีกเลี่ยงโดยทำเป็นคำร้องขอเพิ่มเติมอุทธรณ์ ฎีกา ไม่ได้ (ฎ.65/08)
กระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ (มาตรา 208)
-แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ปฎิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา จะพิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ จะต้องเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฏีกา "เห็นเป็นการจำเป็น" ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ตามมาตรา 208(2) ตอนแรก เช่น กรณีที่ต้องสอบจำเลยในเรื่องทนายความตามมาตรา 173 ถ้าศาลไม่ดำเนินการดังกล่าว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง แต่ถ้าปรากฎว่าก่อนสืบพยานโจทก์จำเลยได้แต่งทนายความเข้ามาและได้ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนมาโดยตลอด ศาลฏีกาเห็นว่าไม่สมควรให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่(ฎ. 2064/32) เพราะไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี **
- การสอบจำเลยเรื่องทนายความตามมาตรา 173 จะต้องดำเนินการก่อนเริ่มพิจารณา กล่าวคือ ก่อนอ่าน อธิบายฟ้องและสอบถามคำให้การจำเลย ถ้าศาลสอบถามคำให้การจำเลยก่อนแล้ว จึงสอบเรื่องทนายความ ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ถูกต้อง แต่เมื่อจำเลยได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาว่าต่างให้ตั้งแต่วันสืบพยานโจทก์นัดแรกแล้วก็ "ไม่จำเป็น" ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ (ฎ. 871/09 ป., 4460/46)
ข้อสังเกต จะเห็นได้ว่า ถึงอย่างไรก็มีการสอบเรื่องทนายความแล้ว แม้ภายหลังถามคำให้การจำเลย ซึ่งไม่ถูกต้องตามขั้นตอนก็ตาม แม่เมื่อจำเลยมีทนายความมาช่วยเหลือโดยตลอด ศาลฎีกาจึงเห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควรหรือเหตุจำเป็นที่จะให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ แต่ถ้าปรากฏว่าศาลไม่ได้สอบเรื่องทนายความไว้เลย จนศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาโดยจำเลยไม่มีทนายความว่าความให้ กรณีถือว่าเป็นการจำเป็นที่จะต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการใหม่ตามมาตรา 208(2) ดู ฎ. 2984/43,2835/39,261/10
***** ฎีกาที่น่าสนใจคือ ฎ. 3279/50 วินิจฉัยดังนี้ " ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ มาตรา 66 วรรคสาม อันเป็นคดีที่มีอัตราดทษประหารชีวิต ซึ่ง ป.วิ.อ.มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น บัญญัติว่า ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก้ให้ศาลตั้งทนายคามให้ ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยทั้งสองเรื่องทนายความแล้ว จำเลยที่ 1 แถลงไม่ต้องการทนายความ แต่ศาลชั้นต้นให้มีหนังสือขอแรงทนายความให่จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว แล้วดำเนินคดีไปจนเสร็จการพิจารณาโดยไม่มีการตั้งทนายควาให้จำเลยที่ 1 ด้วย แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ปฎิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาก็ตาม แต่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 พอใจในผลของคำพิพากษาแล้ว โดยเห็นได้จากจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ หรือฎีกาแต่อย่างใด และเนื่องจากศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย แสดงว่าข้อเท็จจริงในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีทนายคามในการต่อสู่คดีก็รับฟังได้มั่นคงเช่นกันว่ากระทำผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่ใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลที่ 2 ก็เป็นพยานหลักฐานเดียวกันกับที่ใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 จึงเห็นได้ว่าการทำหน้าที่ของทนายความจำเลยที่ 2 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 2 มีผลเป็นการด๔แลคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ด้วยในตัว ดังนี้ จำเลยที่ 1 จะมีทนายความในการดำเนินกระบวนการพิจารณาหรือไม่ ย่อมไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ทั้งปรากฎด้วยว่าศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลยไปแล้วกว่า 2 ปีด้วย ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิ ในฐานะนักโทษเด็ดขาดไปบ้างแล้ว แม้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นข้อกฏหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ก็ตาม แต่ศาลฎีกา "ไม่เห็นเป็นการจำเป็น" ที่จะพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษา หรือสั่งใหม่ตามรูปคดี ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208(2) ประกอบมาตรา 225 *****
- คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนประทับฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการใหม่ (ฎ. 477/08) ศาลอุทธรณ์ไม่ยกฟ้องโจทก์ เพราะไม่ใช่การกระทำของโจทก์ ดังนั้นกรณีนี้จึงต้องยกย้อนตามมาตรา 208(2) เท่านั้น
-คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาลักทรัพย์ หรือรับของโจร ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ ไม่ชัดเจนว่ารับข้อหาใด เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานศาลก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ต้องยกฟ้อง และกรณีเช่นนี้ ไม่ใช่กรณีที่ศาลปฎิบัติไม่ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา จึงไม่มีเหตุที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ ตามมาตรา 208(2) (ฎ. 819/13 ป.)***
- ทนายความลงลายมือชื่อในคำฟ้องอุทธรณ์ หรือคำฟ้องฎีกา โดยไม่มีใบแต่งทนายความในสำนวน เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ ตามมาตรา 158(7) ศาลชั้นต้นสั่งให้รับอุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ (ฎ. 4125/41)
- เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องหรือคำให้การ แล้วศาลชั้นต้นมีหน้าที่ที่จะต้องสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามมาตรา 163,164 การที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้สั่งคำร้องดังกล่าวถือว่าไม่ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาตามมาตรา 208(2) (ฎ.2008/38)
กรณีที่ต้องย้อนสำนวน
- กรณีที่ล่ามยังไม่ได้สาบานตน ไม่ชอบตามมาตรา 13 ศาลฎีกาต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ให้ถูกต้อง ตามมาตรา 208,225
- กรณีที่ศาลแขวงลงโทษจำคุกจำเลย มีกำหนด 2 ปี แต่มีผู้พิพากษาเพียงคนเดียวลงชื่อ เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิ่ได้ปฎิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาล ฯ ศาลสูงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง (ฎ. 1875/36)
กรณีที่ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินการใหม่
- ฎ. 1034/33 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ได้วินิจฉัยว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่ เมื่อศาลสูงเห็นว่าเป็นจริงเช่นนั้น ศาลสูงมีอำนาจวินิจฉัยถ้อยคำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่ ก็ได้ ไม่ต้องยกย้อนตาม 208(2)
- ฎ. 2281/45 จำเลยยื่นอุทธรณ์โดย ก.ทนายความลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์แทนจำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แต่งตั้ง ก.เป็นทนายความไว้ การอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ซึ่งกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นชอบที่จะตรวจอุทธรณ์โดยละเอียด และมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องก่อนที่จะรับอุทธรณ์ ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ ถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฎิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา เป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาในเนื้อหาแห่งอุทธรณ์ ศาลฎีกาสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามมาตรา 208(2) ประกอบ 225 แต่เมื่อปรากฎว่าจำเลยได้แต่งตั้ง ก. เป็นทนายจำเลยโดยให้มีอำนาจอุทธรณ์ และฎีกา แทนจำเลยได้ พร้อมกับยื่นฎีกาเข้ามาแล้ว จึงไม่จำต้องสั่งให้แก้ไข และต้องถือว่าจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยชอบแล้ว
การพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย (มาตรา 212)
หลักเกณฑ์ คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองให้เพิ่มโทษ ด้วย
- ในกรณีที่โจทก์ขอให้ริบของกลาง แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยไม่มีคำวินิจฉัยในเรื่องของกลาง ไม่ชอบด้วยมาตรา 186(9) ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบได้ แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องและพิพากษาให้ริบของกลางได้ ตามมาตรา 195 วรรคสอง ไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย (ฎ. 6247/45)**
- แม้การริบของกลางจะเป็นโทษอาญาก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบวัตถุระเบิด และเครื่องกระสุนปืนของกลาง และ มาตรา 186(9) ก็บัญญัติให้ศาลจะต้องมีคำวินิจฉัยในเรื่องของกลางในคำพิพากษาหรือคำสั่งด้วย ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยไม่มีคำสั่งเรื่องของกลางด้วย ศาลอุทธรณ์ จึงมีอำนาจทำคำวินิจฉัยในเรื่องของกลางนี้ได้ เพราะมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย และ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ (ฎ. 1020/41) และฎ. 3299/47 ***
การบวกโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อน ไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษ
-กรณีศาลชั้นต้นไม่นำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับคดีนี้ ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา นำโทษจำคุกที่รอไว้นั้นมาบวกกับโทษในคดีนี้ได้ตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 212 เพระกฎหมายบังคับให้ดำเนินการ (ฎ. 3400/41,8682/43, 2115/47)
- ศาลชั้นต้นพิพากษารอการลงโทษ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเป็นไม่รอการลงโทษ โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย (ฎ. 1472/45)
-ในกรณีศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย ศาลอุทธรณ์แก้เป็นลงโทษปรับจำเลยด้วย แล้วให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษ ( ฎ. 1366/33) เพราะแม้ศาลอุทธรณ์จะลงโทษปรับก็เป็นการลงโทษสถานเบากว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงไม่เป็นการเพิ่มโทษ (ฎ. 1723/42)
- ถ้าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยเพียงปรับอย่างเดียว ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยด้วย แม้จะรอการลงโทษจำคุกก็ตาม เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย (ฎ. 4899/36) เรื่องนี้ศาลชั้นต้นเพียงลงโทษปรับสถานเดียว แต่ศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยเพิ่มโทษจำคุกอีกสถานหนึ่ง และให้รอการลงโทษก็ตาม ก็เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ( ผู้ช่วย ปี 49)
- ในกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด เป็นการไม่ชอบ หากโจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จะแก้โทษให้เป็นโทษขั้นต่ำตามกฎหมายไม่ได้ เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย (ฎ. 7568/47, 1715/45) แต่ถ้าศาลชั้นต้นวางโทษเกินกว่าอัตราโทษสูงสุด ศาลอุทธรณ์ มีอำนาจแก้ไขได้ เพราะ เป็นผลดีแก่จำเลย ไม่เป็นการเพิ่มโทษ
- แต่การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีอำนาจกระทำได้ ทั้งถือว่าการปรับบทลงโทษ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลสูงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้(ฎ. 1983/44,3366/48) แต่จะแก้โทษให้สูงขึ้นโดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ให้เพิ่มโทษ ไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 212 แม้โทษที่ศาลล่างวางไว้จะต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด
- การที่ศาลชั้นต้นคำนวณโทษผิดพลาด โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง ศาลสูงไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย(ฎ. 6397/40,571/42)
- การกระทำความผิดที่เป็นหลายกรรม แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ แต่จะลงโทษอีกกรรมหนึ่งไม่ได้ เป็นการเพิ่มเติมโทษ (ฎ. 147/38,822/40)
- การที่จำเลยเป็นผู้อุทธรณ์ ฎีกา ขอให้ลงโทษหนักขึ้น โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกาให้ลงโทษหนักขึ้นด้วย ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา จะลงโทษหนักขึ้นไม่ได้ เป็นการเพิ่มเติมโทษ (ฎ.3741/40,1472/45)
คำพิพากษาฎีกาที่ถือว่าโจทก์อุทธรณ์ทำนองขอให้เพิ่มโทษ
- ศาลอุทธรณ์ลงโทษ ตาม ป.อ.มาตรา 295 เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ลงตามมาตรา 297 ถือว่าโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น (ฎ. 677/10 ป.) หรือศาลอุทธรณ์ตาม ป.อ. มาตรา 288 เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ลง 289 ศาลฎีกาลงตามมาตรา 289 ได้ (ฎ. 1231/08 ป.)
- ฎ. 525/26 ป. โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบ 80 ศาลชั้นต้นฟังว่าไม่มีเจตนาฆ่า จึงพิพากษาลงโทษ ตามมาตรา 297 ศาลอุทธรณ์ ฟังว่าไม่มีเจตนาฆ่า และไม่สาหัสตาม 297 จึงลง 295 ดังนี้ถือว่า
1. ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนว่า ไม่ผิด 288 ประกอบ 80
2. ตามข้อ 1 คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 220 โจทก์จึงจะฎีกาว่าทำผิดตาม 288ประกอบ 80 ไม่ได้
3. คดีจึงไม่อาจเข้าสู่ชั้นฎีกาได้ และจะถือว่าโจทก์ฎีกาทำนองขอให้เพิ่มโทษจำเลยในข้อหา มาตรา 297 ไม่ได้
- กรณีเหตุบรรเทาโทษ ตาม ป.อาญา นั้น แม้ศาลอุทธรณ์จะลดโทษให้เพราะเห็นว่ามีเหตุบรรเทาโทษ และจำเลยฝ่ายเดียวฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีเหตุบรรเทาโทษ ศาลฎีกามีอำนาจไม่ลดโทษให้ได้ (ฎ. 691/02 ป.)
เหตุในลักษณะคดี (มาตรา 213)
- เหตุในลักษณะคดี หมายถึง เหตุที่เกี่ยวข้องกับสภาพความผิด หรือพฤติการณ์แห่งคดี และมีผลไปถึงจำเลยอื่นในลักษณะเดียวกันซึ่ง อาจเป็นข้อกฎหมาย เช่น คำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย มาตรา 158 (ฎ. 2370/44), ข้อที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว(ฎ.7921/44) ข้อที่ว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 371/31) หรืออาจจะเป็นข้อเท็จจริง เช่น พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำผิดตามฟ้อง (ฎ. 217/31) หรือพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง(ฎ. 432/36)
คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (มาตรา 218)
ข้อสังเกต
1. วรรคแรก
1.1 เป็นกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษายืนหรือแก้ไขเล็กน้อย และศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี
1.2 ห้ามคู่ความฎีกา
2. วรรคสอง
2.1 เป็นกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษายืนหรือแก้ไขเล็กน้อย และศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกเกิน 5 ปี
2.2 ห้ามเฉพาะโจทก์
- มาตรา 218 มีความหมายถึงโทษที่ลงแก่จำเลย มิใช่โทษตามที่กฎหมายกำหนด (คร. 980/29)
- โทษจำคุกที่ลงแก่จำเลยไม่เกิน 5 ปี นั้น ไม่รวมโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อน และศาลนำมาบวกด้วย ดังนี้ ถ้าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เมื่อนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีอื่นมาบวกแล้วโทษจำคุกจะเกิน 5 ปี ก็เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามมารตรา 218 วรรคแรก (ฎ. 3055/43)
***** - โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี รวมถึงการเพิ่มโทษตามที่กฎหมายกำหนดด้วย โปรดดูฎ.ประชุมใหญ่ปี 50
- สิทธิในการฎีกา ต้องพิจารณาเป็นรายกระทงไป เช่นเดียวกับสิทธิในการอุทธรณ์ และต้องถือตามกำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยได้รับหลังจากลดโทษและหรือเพิ่มโทษ แต่ไม่นับรวมโทษที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีก่อนแล้วนำมาบวกในคดีหลังด้วย(ฎ. 7838/47,6242/44)
- อย่างไรก็ตามถ้าความผิดกระทงที่ไม่ต้องห้ามฎีกาและที่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องเพราะพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้าย ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องในกระทงความผิดที่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงได้ด้วย(ฎ. 3292/47)
- ในกรณีที่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ตามมาตรา 245 หากศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ย่อมถึงที่สุดตามมาตรา 245 วรรคสอง (ฎ.5343/40)
- การพิจารณาว่าเป็นกรณีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามมาตรา 218 วรรคแรกหรือไม่ นอกจากจะดูว่าศาลอุทธรณ์จะพิพากษายืน หรือแก้ไขเล็กน้อยหรือไม่แล้ว ต้องย้อนดูโทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์กำหนดว่าต้องไม่เกิน 5 ปี ด้วย ส่วนศาลชั้นต้นแม้จะลงโทษจำคุกเกิน 5 ปี ก็ไม่นำมาพิจาณาด้วย (ฎ. 5681/44)***
การไขเล็กน้อยหรือแก้ไขมาก
การแก้ไขมาก
ได้แก่กรณีที่ศาลอุทธรณ์ไขทั้งบทความผิดและแก้ไขโทษด้วย ตรงกันข้ามหากศาลอุทธรณ์แก้ไขบทความผิดย่างเดียว ไม่ได้แก้ไขโทษด้วย หรือแก้ไขโทษอย่างเดียวแต่ไม่ได้แก้ไขบทความผิดด้วย เป็นการแก้ไขเล็กน้อย (ฎ.6560/40,5691/39)
- การที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทกฎหมายที่ลงโทษให้ถูกต้องไม่ถือเป็นการแก้บท ดังนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะแก้โทษด้วยก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เช่น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผิดตาม ป.อ. มาตรา 264,265 ศาลอุทธรณ์ ปรับบทเป็นว่าความผิดตา 265 (ฎ. 3292/3)
- ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยโดยใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ แม้ศาลอุทธรณ์จะแก้ไขโทษด้วย ก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย (ฎ. 3751/47,8086/46)
การแก้ไขวรรค
ในบทมาตราความผิดที่มีหลายวรรค แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นมิได้ระบุให้ชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดวรรคใด การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยระบุวรรคให้ชัดเจนขึ้น ไม่ถือว่าเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์จะแก้ไขโทษด้วย ก็ถือว่าเป็นการไขเล็กน้อย (ฎ. 663/36, 3894/33) ต่อมาวินิจฉัยเปลี่ยนแนวไปเป็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกันไม่เป็นการแก้บท ดังนี้แม้จะโทษด้วยก็เป็นการไขเล็กน้อย (ฎ. 4451/42, 8524/44 และ 3448/47 )
ในปัจจุบันได้มีคำพิพากษา ฎ.ที่ 7511/47 อธิบายวางหลักเพิ่มเติมว่ากรณีการแก้ไขวรรคจะถือว่าเป็นการแก้ไขมาก หมายถึงการเปลี่ยนบทลงโทษจากบทหนึ่งไปเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิมซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นสูงแตกต่างกันมาก และลักษณะความผิดในแต่ละวรรคแตกต่างกัน เช่นความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น
- การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ลดมาตราส่วนโทษให้ ศาลอุทธรณ์จึงลดามาตราส่วนโทษให้ก่อน แล้วกำหนดโทษใหม่ ถือว่าเป็นการแก้เฉพาะกำหนดโทษ ไม่ได้แก้บทลงโทษ เป็นแก้ไขเล็กน้อย (ฎ. 4540/39)
ข้อสังเกตจากคำพิพากษาข้างต้น กรณีต้องห้ามฎีกา ตามมาตรา 218 วรรคแรก นั้น ถ้าศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและให้จำคุกไม่เกิน 5 ปีนั้น คงพิจารณาแต่เพียงว่าศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี โดยไม่ต้องคำนึงว่าศาลชั้นต้นจะลงโทษจำคุกเกิน 5 ปี หรือไม่ ต่างจากมาตรา 219 ที่บัญญัติว่าทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี
- ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ไม่เพิ่มโทษจำเลย เป็นการแก้เฉพาะโทษไม่เป็นการแก้บท (ฎ. 3427/27) คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้แก้เรื่องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ไม่เป็นการแก้บท(ฎ.396/12) เหล่านี้เป็นการแก้ไขน้อย
- ศาลอุทธรณ์แก้โทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นโทษปรับหรือกักขัง เป็นการแก้ไขเล็กน้อย (ฎ. 2220/44,1315/31)
- การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จากกรรมเดียวเป็นหลายกรรม หรือจากหลายกรรมเป็นกรรมเดียว และแก้โทษด้วย ก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย (ฎ.775/44,6441/40)
-กรณีที่มีผู้เสียหายหลายคนในความผิดกรรมเดียวกัน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยให้ยกฟ้องในข้อหาเกี่ยวกับผู้เสียหายบางคน แต่ยังลงโทษเท่าเดิม เป็นการแก้ไขเล็กน้อย(ฎ.3380/37)
- หากศาลอุทธรณ์แก้เฉพาะโทษริบทรัพย์สิน ดังนี้ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย (ฎ. 2249/43,2273/33) ปัญหาว่าศาลจะริบทรัพย์ของกลางได้หรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล จึงถือว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริง
-การแก้ไขจำนวนเงินที่ให้จำเลยใช้แก่ผู้เสียหาย เป็นการแก้ไขเล็กน้อย(ฎ. 1164/31)
- การแก้ทั้งบทกำหนดโทษ และแก้โทษด้วย เป็นแก้ไขมาก (ฎ. 4788/38)
- ในกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำโดยบันดาลโทสะ และแก้โทษ เป็นแก้มาก (ฎ. 3874/29ล1741/09)
- ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยเป็นตัวการ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเป็นผู้สนับสนุนถือว่าเป็นการแก้บทลงโทษ หากแก้โทษด้วยถือว่าเป็นการแก้มาก (ฎ.1247/31) แต่ต่อมามี ฎ . 752/41 วินิจฉัยว่ากรณีดังกล่าวแม้จะเป็นการแก้โทษด้วย ก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย***
-ในกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นพยายามกระทำความผิด ตามมาตรา 80 แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเป็นพยายามตามมาตรา 81 และแก้กำหนดโทษ เป็นการแก้มาก (ฎ. 908/20,1737/16)
- การแก้เรื่องรอการลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นการแก้จากรอเป็นไม่รอ หรือ จากไม่รอเป็นรอ ก็ถือว่าเป็นการแก้ไขมาก (ฎ. 1103/10,6505/44) และถ้าเป็นการแก้จากรอเป็นไม่รอถือว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย***
- ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรม เป็นการแก้ไขน้อย (ฎ. 826/44,2772/39) แต่ถ้าศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกและให้เปลี่ยนเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรม แต่ศาลอุทธรณ์แก้เป็นว่าไม่สมควรส่งตัวไปฝึกและอบรม แต่ให้จำคุก เป็นการแก้ไขมาก(ฎ. 4816/43) และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย
- มาตรา 218 ต้องเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนหรือแก้ไขเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่ต้องห้าม เช่น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่ามีอำนาจฟ้อง มีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่ต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริง (ฎ. 1167-8/30)***
-บางกรณีแม้จะเป็นการแก้ไขมาก แต่อาจต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 219 ได้ เช่นกรณีที่ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี (ฎ. 1662/35,5083/33)
กรณีที่โจทก์ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 218 วรรคสอง
ได้แก่ คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ( ห้ามเฉพาะโจทก์ และในปัญหาข้อเท็จจริงเท่านั้น)
- หากจำเลยเป็นผู้ฎีกา ไม่ต้องห้ามตาม 218 วรรคสอง
- ในคดีร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบตามมาตรา 36 ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (ฎ. 802/27,211/04 ป.) เพราะการร้องขอคืนของกลางเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกริบ มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดโดยผู้ร้องไม่ได้ถูกฟ้องให้ลงโทษเป็นจำเลยด้วย จึงจะนำบทบัญญัติมาตรา 218,219,220 มาบังคับแก่ผู้ร้องไม่ได้
-แต่ถ้าเป็นกรณีที่โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้ฎีกาคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับการริบทรัพย์สินก็ยังคงต้องพิจารณาตามมาตรา 218,219,220 เช่นกัน (ฎ. 705/29,5976/45)
- ปัญหาข้อเท็จจริงที่พบเสมอ คือเรื่องการใช้ดุลพินิจของศาลในการรับฟังข้อเท็จจริงและการกำหนดโทษ ปัญหาว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดหรือไม่หรือปัญหาว่าควรรอการลงโทษหรือไม่ เหล่านี้ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง (443/46,82/39,2568/46)***
- จำเลยอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ถ้าศาลเห็นสมควรอาจลดมาตราส่วนโทษลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ตาม ป.อ.มาตรา 76 การลดมาตราส่วนโทษจำเลยหรือไม่ จึงเป็นดุลพินิจของศาล เป็นปัญหาข้อเท็จจริง (ฎ.472/39) แต่ถ้าเป็นการลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย ตาม ป.อ.มาตรา 75 (จำเลยอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 17 ปี ) เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ไม่ใช่ดุลพินิจของศาล ดังนี้ถ้าศาลล่างไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ เป็นการไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมาย (ฎ. 6558/47)
-ในคดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนี้ หากศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอจะฟังลงโทษจำเลยได้ ก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 185 (ฎ. 159/28,4505/31,1214-19/32)
ข้อสังเกต ในคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ยังคงมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ โดยมีอำนาจยกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยที่มิได้อุทธรณ์ ได้ เพราะเป็นเหตุลักษณะคดี*****
คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม มาตรา 219
ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย
- แม้การแก้ไขวรรค(ที่โทษสูงต่างกันมาก) และแก้ไขโทษด้วยจะเป็นการแก้ไขมาก แต่ถ้าโทษที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงแก่จำเลยไม่เกิน 2 ปี ก็ต้องห้ามตามมาตรา 219 (ฎ. 1751/43) เพราะเรื่องนี้ไม่มีการเพิ่มเติมโทษจำเลย จำเลยจึงฏีกาไม่ได้
- ในกรณีศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น จากรอการลงโทษเป็นไม่รอการลงโทษ ถือว่าเป็นการแก้ไขมาก และการที่ศาลอุทธรณ์แก้เป็นไม่รอการลงโทษจำเลยนั้น ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยแล้ว จำเลยมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ( 729/33 ป., คร. 2138/46) ***
-ถ้าศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยสถานเดียวโดยไม่รอลงอาญา ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ เป็นการแก้ไขมาก แต่ไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (ฎ. 6744/44,5898-9/40)
- ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรม แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าไม่สมควรเปลี่ยนโทษจำเลยโดยส่งตัวไปฝึกและอบรม ดังนี้ เป็นการแก้ไขมาก และเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย (ฎ. 4816/43)
คดีต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 220
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้อง ไม่ว่าจะโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย หรือเป็นการยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ก็ต้องห้ามฎีกาทั้งสิ้น และเป็นการต้องห้ามทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎมายด้วย (ฎ.4328/47,238/47) ซึ่งแตกต่างจากมาตรา 218,219 ซึ่งต้องห้ามเฉพาะในปัญหาข้อเท็จจริงเท่านั้น***
-ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเพราะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน มีผลเท่ากับทั้งสองศาลพิพากษายกฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ก็ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 220 นี้(ฎ. 5863-64/41, 4712/40)
- ในกรณีที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งไม่รับหรือไม่ประทับฟ้องมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์นั่นเอง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 220 (ฎ. 1184/46,4824/33)***
- ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รับฟ้องบางข้อหา ข้อหาอื่นให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ดังนั้นเฉพาะข้อหาอื่นถือว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์จะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายในข้อหาดังกล่าวว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมไม่ได้ ต้องห้ามฎีกา ตามมาตรา 220 (ฎ. 4261/41)
-โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 289,288 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า
จำเลยมีความผิดตามมาตรา 290 หรือ 297 มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามมาตรา 288 หรือ 289 แล้วแต่กรณี โจทก์จะขอให้ลงโทษตามมาตรา 288 หรือ 289 แล้วแต่กรณี ไม่ได้ (ฎ.1648/31,9024/43)
- กรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 297 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 295 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ถือว่าข้อหาตามมาตรา 297 นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ต้องห้ามตามมาตรา 220 (ฎ. 9279/39) หรือฟ้องขอให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานทำร้ายร่างกาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์ เท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องข้อหาปล้นทรัพย์ จึงฎีกาข้อหาปล้นทรัพย์ไม่ได้(ฎ. 3293/43)
- ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสอง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 276 วรรคแรก ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ตามมาตรา 276 วรรคแรกเสียด้วย ( ทั้งมาตรา 276 วรรคแรก และมาตรา 276 วรรคสอง ) ดังนี้ถือว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามมาตรา 276 วรรคสอง ( แต่ไม่ห้ามฎีกาในข้อหา 276 วรรคแรก ) (ฎ. 4906/43)
- ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่ไม่ต้องรับโทษ มีผลเท่ากับยกฟ้อง (ฎ. 2168/28) เรื่องนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทำผิดด้วยความจำเป็นตาม ป.อ.มาตรา 67 ซึ่งชอบที่ศาลจะยกฟ้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185 แม้จะให้มีการคุมประพฤติจำเลย ก็มีผลเท่ากับพิพากษายกฟ้องในข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าไม่ได้กระทำผิด พิพากษายกฟ้อง จึงต้องด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 220
-ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ เพราะเป็นอุทธรณ์ต้องห้าม ไม่ใช่พิพากษายกฟ้อง ไม่ต้องห้ามฎีกา (คร. 319/27,2669/46,548/46)
- ในกรณีที่โจทก์ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตามมาตรา 166 วรรคสอง ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ ไม่เป็นการยกฟ้องตามมาตรา 220 โจทก์ฎีกาได้ (ไม่ใช่เนื้อหาแห่งคดี) ย่อมมีสิทธิฎีกาในข้อเท็จจริงได้ (ฎ. 1729/29)
- มีข้อสังเกตว่า การต้องห้ามฎีกา ตามมาตรา 220 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องพิพากษายกฟ้องทั้งสองศาล ถ้าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง หรือศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลย ทั้งสองกรณีนี้ไม่ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 220 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะถูกลงโทษเพียงใด (ฎ. 1321/35)
- ในกรณีที่ผู้เป็นเจ้าของร้องขอคืนของกลางตาม ป.อ.มาตรา 36 แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะยกคำร้อง ผู้ร้องก็ฎีกาได้ (คร. 342/19 ป.,ฎ.1025/22)
- ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องเพราะเหตุโจทก์ไม่มาศาลตามมาตรา 166 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 220 (ฎ.1751/48)***
ข้อสังเกต เรื่องนี้ศาล "ยกฟ้อง" เพราะโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ตามมาตรา 166 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นยกคำร้องเพราะโจทก์ยื่นคำร้องเกิน 15 วัน โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง "ยกฟ้อง" ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนในคำสั่งยกฟ้อง (แต่ถ้าเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ไม่ใช่กรณีศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องตามมาตรา 220 เพราะไม่ใช่เนื้อหาในคดี จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง คร. 1729/28 )
การรับรองให้ฎีกา (มาตรา 221)
-กรณีที่จะขอให้อนุญาต หรือรับรองให้ฎีกา ตามมาตรา 221 ได้นั้น ต้องเป็นคดีที่ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 218,219 และ 220 เท่านั้น ดังนี้ถ้าเป็นกรณีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 219 ตรี เรื่องการห้ามฎีกาเกี่ยวกับโทษกักขัง ไม่อาจให้รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ (ฎ. 725/47, 8354/43, 5524/41) หากรับรองไปเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้รอการลงโทษได้หากเห็นว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไม่เหมาะสม แก่รูปคดี (ฎ. 2393/42)
- ผู้พิพากษา แม้ขณะรับรองจะย้ายไปอยู่ศาลอื่นแล้ว ก็มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาได้ (ฎ.149/92 ป.) เรื่องนี้ ผู้พิพากษาที่เคยนั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นแม้ย้ายไปอยู่ที่ศาลอื่นแล้ว ถ้าหากยังเป็นผู้พิพากษาอยู่ ก็มีอำนาจอนุญาตให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงได้
-มีข้อน่าสังเกตว่า การอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาในคดีที่ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 220 อาจมีได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพราะตามมาตรา 221 มิได้จำกัดเฉพาะการอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาแต่เฉพาะปัญหาข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่การอนุญาตหรือรับรองต้องระบุให้ชัดเจนว่าอนุญาตหรือรับรองในปัญหาข้อใด ดังนี้ ถ้าฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในข้อกฎหมาย แต่อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ถือว่าไม่มีคำรับรองของอัยการสูงสุดให้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย เป็นฎีกาต้องห้าม (ฎ. 4197/41)***
- ผู้ฎีกาจะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา หรือขอให้รับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในกำหนดอายุความ 1 เดือน ถ้าผู้ฎีกายื่นคำร้องดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นฎีกา แม้ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาของศาลล่างจะอนุญาตให้ฎีกาได้ และรับฎีกา ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย (ฎ. 651/44, คร.5769/47) แต่เมื่อคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาได้ยื่นภายในกำหนดเวลาฎีกาแล้ว แม้ผู้พิพากษาจะอนุญาตให้ฎีกาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้ว ก็เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ.3094/39)**
-กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาแล้ว แต่เมื่อยังอยู่ในกำหนดเวลายื่นฎีกา ผู้ฎีกาก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาอนุญาตให้ฎีกา ตามฎีกาที่ยื่นไว้แล้วได้ (คร.1178/44, คร.4182/46)
- ในกรณีที่ผู้พิพากษาทำความเห็นแย้งไว้เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้อนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ก็ฎีกาไม่ได้ (ฎ. 595/08) ต้องรับรองให้ฎีกาอีกชั้นหนึ่งจึงจะฎีกาได้
- ผู้พิพากษาที่ทำความเห็นแย้งจะรับรองฎีกาล่วงหน้าก็ได้ (คร. 478/13 ป.)
-คดีที่อัยการสูงสุดมีอำนาจรับรองตามมาตรา 221 หมายความรวมทั้งคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์และคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ด้วย(ฎ. 1039/04) และอัยการสูงสุดอาจทำหนังสือรับรองต่างหากก็ได้ (ฎ. 1661/31) โดยปกติอัยการสูงสุดจะอนุญาตในต้นฉบับฎีกา
- การยื่นคำร้องให้อนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาตามมาตรา 221 ทนายความมีอำนาจดำเนินการแทนได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องเป็นทนายความที่ได้รับแรแต่งตั้งให้ดำเนินคดีในชั้นฎีกาได้ด้วย (ฎ. 2795/44)
- การอนุญาตให้คู่ความฎีกาหรือไม่ เป็นดุลพินิจเด็ดขาดของผู้พิพากษาที่สั่งอนุญาตให้ฎีกา (ฎ. 187/42)
- เนื่องจากผู้พิพากษาที่จะอนุญาตมีหลายคน ผู้ฎีกาอาจจะระบุเจาะจงว่าให้ผู้พิพากษาคนใดอนุญาตหรืออาจไม่เจาะจงก็ได้ ในกรณีที่ขอให้ผู้พิพากษาหลายคนรับรองโดยมิได้เจาะจงว่าเป็นผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งเท่านั้น หากผู้พิพากษาคนแรกๆไม่อนุญาต ก็ต้องให้ผู้พิพากษาคนอื่นๆ พิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่ต่อไป (คร.610/40)
หมายเหตุ เกี่ยวกับเรื่องนี้ถ้าเป็นคดีแพ่ง มีมาตรา 224 วรรคท้ายและมาตรา 248 วรรคท้าย กำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นส่งคำร้องให้รับรองอุทธรณ์ไปยังผู้พิพากษาพิจารณารับรอง สำหรับในคดีอาญาก็น่าจะนำมาบังคับใช้ได้โดยอนุโลม (แต่การขอให้อัยการสูงสุดรับรองฎีกา ผู้ฎีกาต้องดำเนินการเอง)
-ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จะยกขึ้นเป็นข้อฎีกาไม่ได้ แม้จะมีการอนุญาตให้ฎีกาได้ก็ตาม(ฎ. 611/45,7894/47)
- คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์รับพิจารณาพิพากษาคดี เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ เมื่อมีการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอีก แม้จะมีการรับรองให้ฎีกา ก็ถือว่าเป็นการไม่ชอบ (ฎ. 4817/45) และ ในกรณีที่อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งยุติในศาลชั้นต้นแล้ว ( คดีที่อุทธรณ์ไม่ได้แต่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัย) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน (ฎ. 3563/36) และเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบ ศาลฎีกายกขึ้นเองได้
- แบบของการอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาที่ถูกต้อง ต้องประกอบไปด้วย 2 ประการ คือ 1) พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด และ 2) อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาตีความเคร่งครัดว่าจะต้องมีข้อความครบถ้วนทั้งสองประการ มิฉะนั้นไม่ถือว่าเป็นการรับรองที่ถูกต้อง (ฎ. 6259/34,1881/33) แต่ไม่จำต้องใช้ถ้อยคำตามมาตรา 221 แต่ต้องให้มีความหมายครบถ้วนทั้งสองประการ ก็เพียงพอแล้ว เช่น เป็นคดีมีพฤติการณ์ซับซ้อนหลาประการอันเป็นปัญหาสำคัญควรขึ้นสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดอีกชั้นหนึ่ง จึงอนุญาตให้ฎีกา (ฎ. 1159-60/04 ป.)
-เมื่อมีการยื่นคำร้องขออนุญาตให้ฎีกา ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี หรือลงชื่อในคำพิพากษาของศาลล่างมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาเท่านั้น จะไม่สั่งคำร้องโดยวินิจฉัยว่า เป็นคดีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ไม่ได้ ถือเป็นการสั่งโดยผิดหลง และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาย้อนสำนวนไปให้ผู้พิพากษานั้นพิจารณาคำร้องขอนั้นใหม่ (ฎ. 2019/48, 670/47)
การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา (มาตรา 224)
- เมื่อศาลชั้นต้นไม่ยอมรับฎีกา ผู้ฎีกายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลฎีกาได้ (ฎ. 161/30)
- ผู้ฎีกาจะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของศาลชั้นต้นได้ ต่อเมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาเสียก่อน ดังนั้นหากศาลชั้นต้นเพียงแต่สั่งยกคำร้องที่ขอให้รับรองฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง โดยยังไม่ได้สั่งเกี่ยวกับตัวฎีกาเลย จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นตามมาตรา 224 ยังไม่ได้(ฎ.141/26)
-มาตรา 224 ให้สิทธิอุทธรณ์เฉพาะคำสั่งไม่รับฎีกาของศาลชั้นต้นเท่านั้น ถ้าศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งจะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้สั่งไม่รับฎีกาไม่ได้(ฎ. 576/29)
- เมื่อคู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ส่งคำร้องนั้นไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาเท่านั้น ไม่มีอำนาจสั่งคำร้อง( คร.2146/41)
- แม้ผู้ฎีกายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา จะขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นก็ต้องส่งคำร้องไปยังศาลฎีกา ตามมาตรา 224 (ฎ. 1962/43)
การบังคับคดีตามคำพิพากษา (มาตรา 245-51)
การบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา จะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุด
- คำพิพากษาในส่วนที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย จะขอให้บังคับในคำพิพากษาส่วนนี้ได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดเช่นกัน (ฎ. 2786/32)
- ****ฎ. 1958/49 คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยทั้งสาม คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุนั้น เป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาคดีอาญา เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะบังคับคดีให้จำเลยทั้งสามปฎิบัติตามคำพิพากษาโดยไม่ชักช้าตาม มาตรา 245 วรรคแรก แต่เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้ออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสามปฎิบัติตามคำพิพากษา อัยการโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดี ชอบที่จะร้องขอให้ดำเนินการบังคับจำเลยทั้งสามปฎิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวได้
กรณี ป.วิ.อ.มิได้บัญญัติเกี่ยวกับการบังคับคดีไว้โดยเฉพาะ พนักงานอัยการก็อาจดำเนินการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15 ได้ด้วย มิต้องคำนึงว่าพนักงานอัยการ จะเป็นคู่ความหรือฝ่ายชนะคดี(เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 หรือไม่ เพราะมิฉะนั้นแล้วคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็อาจไร้ผลบังคับ
คดีที่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์(มาตรา 245 วรรคสอง)
คดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์พิจารณา ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เป็นอันถึงที่สุด
- คดีที่ลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้น ต้องส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ (เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ทบทวนการดำเนินคดีของศาลชั้นต้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณา การรับฟังพยานหลักฐาน การพิพากษา การกำหนดโทษ โดยเฉพาะการที่จะต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจะเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่) แต่ก็จำกัดเฉพาะกรณีที่ไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา ดังนี้หากจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ต้องพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย จะวินิจฉัยคดีตามมาตรา 245 ไม่ได้(ฎ.1591/29) เรื่องนี้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 245 ก่อนแล้ว ต่อมาจำเลยจึงอุทธรณ์ในกำหนดเวลาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และส่งไปยังศาลอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย กลับไปวินิจฉัยตามมาตรา 245 เป็นการไม่ชอบ
- จำเลยอุทธรณ์แต่เพียงขอให้ลงโทษสถานเบาหรือขอให้ลดโทษ ศาลอุทธรณ์ก็ต้องวินิจฉัยในปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ อีกครั้งหนึ่งตามมาตรา 245 (ฎ. 138/38,2692/37) อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยกรณีนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายืน คดีก็ไม่ถึงที่สุดตามมาตรา 245 เพราะกรณีเช่นนี้มีการอุทธรณ์ของจำเลยขึ้นมาด้วย มิใช่เป็นการวินิจฉัยโดยใช้อำนาจตามมาตรา 245 วรรคสอง เท่านั้น (ฎ. 481/29)
- ในกรณีที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ ต่อมาขอถอนอุทธรณ์เสีย ศาลชั้นต้นก็ยังมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 245 ถ้าถอนอุทธรณ์ภายหลังส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์แล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ถอนอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์ก็ยังต้องพิจารณาคดีต่อไปตามมาตรา 245 วรรคสอง(ฎ. 2248/18 ป.) กรณีนี้มิใช่การพิจารณาตามอุทธรณ์ของจำเลย แต่พิจารณาตามมาตรา 245 วรรคสอง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน มีผลทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ถึงที่สุด
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด
- หากศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ตามมาตรา 245วรรคสอง คงพิจารณาเฉพาะข้อหาความผิดที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น ในกรณีที่มีหลายข้อหาและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องข้อหาอื่น ส่วนข้อหาที่ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตไม่มีการแก้ไข จึงมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน ความผิดดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามมาตรา 245 วรรคสอง (ฎ. 6088/45)
- คดีที่ถึงที่สุดตามมาตรา 245 วรรคสอง ต้องเป็นกรณี ที่ไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้นหากจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายืน คดีก็ไม่ถึงที่สุด (ฎ. 3062/44)
-การที่จำเลยยื่นคำร้องขอถอนทนายความแล้ว ทนายความคนนั้นไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์แทนจำเลย การที่ทนายความดังกล่าวยื่นอุทธรณ์แทนจำเลย เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว ศาลชั้นต้นต้องส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 245 หากศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ย่อมถึงที่สุด(ฎ. 1558/46)
- เมื่อคดีถึงที่สุด ตามมาตรา 245 วรรคสองแล้ว จำเลยจะฏีกาขอให้ลงโทษสถานเบาก็ไม่ได้(ฎ. 10311/46)
จบบริบูรณ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น