วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

ค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
ผมขอนำเสนอคอลัมน์ใหม่ เพื่อเป็นอีกหน้าหนึ่งของการเรียนรู้กฎหมายแรงงาน หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สำหรับสัปดาห์แรกผมขอนำเสนอ ความหมายของคำว่า "ค่าจ้าง"
"ค่าจ้าง" เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้าง อาจเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น เงินเดือน ค่าครองชีพ เงินเบี้ยเลี้ยง เบี้ยขยัน เงินช่วยเหลือบุตร เป็นต้น
"ค่าจ้าง" ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๕ ให้คำจำกัดความไว้ว่า
"ค่าจ้าง"หมายความว่าเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวันรายสัปดาห์รายเดือนหรือระยะเวลาอื่นหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้
"ค่าจ้างในวันทำงาน" หมายความว่าค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการทำงานเต็มเวลาการทำงานปกติ
"อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ"หมายความว่าอัตราค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้
"อัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐาน"หมายความว่าอัตราค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
"การทำงานล่วงเวลา" หมายความว่าการทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา๒๓ในวันทำงานหรือวันหยุดแล้วแต่กรณี
"ค่าล่วงเวลา" หมายความว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน
"ค่าล่วงเวลาในวันหยุด" หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด


จากตัวบทกฎหมาย คำว่า "ค่าจ้าง" ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน ฯ จึงมีองค์ประกอบสำคัญ ๆ คือ
1. ต้องเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่าย
ตามกฎหมาย ปัจจุบัน กำหนดให้มีการจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเท่านั้น ดังนั้นสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงินจึงไม่ถือเป็นค่าจ้าง เช่น รถประจำตำแหน่ง ชุดยูนิฟอร์ม ห้องพัก ประกันภัย อุปกรณ์ป้องกันภัย รองเท้า ถุงมือ เป็นต้น


การตกลงกฎหมายไม่ได้กำหนด แบบหลักเกณฑ์ไว้ ดังนั้น การตกลง ไม่ว่าจะตกลงด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ หรือ โดยพฤติกรรมหรือโดยปริยายก็ได้


ผู้จ่ายต้องเป็นนายจ้าง ผู้รับต้องเป็นลูกจ้าง ดังนั้น ผู้อื่นหรือบุคคลที่ไม่ได้รับมอบอำนาจ หรือมีอำนาจกระทำการแทนนายจ้าง จ่ายค่าจ้างแทนนายจ้างไม่ได้ ไม่ถือว่าเป็นการจ่ายค่าจ้าง ในทางตรงกันข้าม ผู้รับต้องเป็นลูกจ้าง ค่าจ้างถือเป็นสิทธิเฉพาะบุคคล พนักงานคนอื่น บุคคลอื่นรับค่าจ้างแทนไม่ได้ หรือจ่ายด้วยวิธีการอื่น โดยที่ลูกจ้างไม่ได้ตกลงด้วยไม่ได้ ไม่ถือว่าเป็นการจ่ายหรือรับค่าจ้างโดยชอบ เว้นแต่การรับมรดกของทายาท


2. จ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง
เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างตามที่ตกลงในสัญญาจ้าง ตามตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆ การจ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ อื่น ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง เช่น จ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการ เป็นเงินจูงใจ
กรณีถือว่าจ่ายไปเพื่อตอบแทนการทำงาน เช่น
-เงินค่าครองชีพ ที่จ่ายเป็นประจำ แน่นอนทุกเดือน
-ค่าเบี้ยเลี้ยงทำงานต่างจังหวัดและค่าที่พัก สำหรับพนักงานทำงานต่างจังหวัด โดยเหมาจ่ายเป็นจำนวนเงินแน่นอน เป็นประจำทุกเดือน
-ค่าน้ำมันรถ ค่าโทรศัพท์ เหมาจ่ายประจำทุกเดือน
-ค่าตอบแทนการขาย จ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขายที่ทำได้แต่ละเดือนเป็นประจำทุกเดือน มากน้อยขึ้นอยู่กับยอดขายที่ทำได้แต่ละเดือน ถือเป็นค่าจ้าง
กรณีไม่ถือว่าจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน เช่น

- เงินเบี้ยเลี้ยงพิเศษ
-ค่าเบี้ยเลี้ยงต่างจังหวัด ที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อออกไปทำงานต่างจังหวัดเมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งเป็นครั้งคราว
-ค่ายังชีพ ที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างหยุดกิจการ


-กรณีจ่ายเป็นสวัสดิการจ่ายเพื่อจูงใจในการทำงานหรือจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน ไม่ถือว่าจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน ไม่เป็นค่าจ้าง เช่น สวัสดิการค่าเช่าบ้าน, เงินค่าที่พักสำหรับพนักงานที่ไม่มีที่พักเป็นของตนเอง, เงินเพิ่มจูงใจในการทำงานเพื่อตอบแทนคุณงามความดีของพนักงาน เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้เป็นกำลังใจในการทำงาน เป็นรางวัลตอบแทนความดีของลูกจ้าง, เงินเพิ่ม ที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ไม่ขาดงานเลยในเดือนหนึ่งๆ, เบี้ยขยัน, เงินค่ารับรอง,เงินค่าภาษีและเงินประกันสังคม


-ค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าเช่าบ้าน ที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง มีลักษณะจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการค่าน้ำมันรถ, ค่าที่พักอาศัย ,เงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้า,เงินค่าน้ำและค่าไฟฟ้า ที่ลูกจ้างจะเบิกได้ต้องมีใบเสร็จไปแสดงและเบิกได้ไม่เกินที่นายจ้างกำหนดไว้

3.จ่ายเพื่อตอบแทนสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ
เป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามระยะเวลาทำงานปกติเท่านั้น อาจเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน หรือตามผลงาน ตามระยะเวลาที่ทำงานในวันทำงานปกติ เงินอื่นที่จ่ายนอกเวลาทำงานปกติ ไม่ถือเป็นค่าจ้าง เช่น ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด เป็นต้น


ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องบางส่วน เช่น
คำพิพากษาฎีกาที่ 876/2544
ค่าเบี้ยเลี้ยงทำงานต่างจังหวัด และค่าที่พัก หากจ่ายเป็นจำนวนเงินแน่นอนทุกเดือนโดยเหมาจ่าย ถือเป็นค่าจ้าง
คำพิพากษาฎีกาที่ 7402-7403/2544
ค่าน้ำมันรถ และค่าโทรศัพท์ หากนายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างมีจำนวนแน่นอน โดยไม่คำนึง ว่าจ่ายมากน้อยเท่าไร เป็นค่าจ้าง
คำพิพากษาฎีกาที่ 6961/2546
เงินบำเหน็จกรรมการธนาคาร เงินรางวัล (โบนัสพิเศษ) เงินค่าพาหนะ เบี้ยประชุม และเงินรางวัลพิเศษ (โบนัสจากงบลับเฉพาะผู้บริหาร) ไม่ใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ใช่ค่าจ้าง ส่วนเงินค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับในฐานะเป็นประธานกรรมการบริษัทที่จำเลยถือหุ้น ไม่ใช่จำเลยเป็นผู้จ่าย และโจทก์ไม่ได้รับในฐานะลูกจ้างจึงไม่เป็นค่าจ้าง

คำพิพากษาฎีกาที่ 9023/2546
จ่ายเงินช่วยค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือพนักงานเป็นปกติทุกเดือน มีจำนวนแน่นอนทำนองเดียวกับเงินเดือน เงินช่วยค่าครองชีพมีลักษณะการจ่ายเป็นประจำและแน่นอนทุกวันที่ ๑ และวันที่ ๑๖ ของเดือน แม้จะจ่ายเพื่อช่วยเหลือพนักงาน แต่ก็เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานเช่นเดียวกับเงินเดือน จึงถือเป็นค่าจ้าง

คำพิพากษาฎีกาที่ 9024/2546
ค่าคอมมิชชั่นเป็นเงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน และจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานจึงถือเป็นค่าจ้าง

คำพิพากษาฎีกาที่ 9096/2546
ค่าเช่าบ้านที่นายจ้างตกลงแก่ลูกจ้างเพื่อเป็นการช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย ค่าเช่าบ้านจึงเป็นเพียงสวัสดิการ มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติ แม้จะมีการจ่ายเงินจำนวนนี้แน่นอนทุกเดือน ก็ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง

คำพิพากษาฎีกาที่ 1528/2548
เงินโบนัสที่โจทก์ได้รับเป็นประจำทุกปีโดยจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ปีละ 1 ครั้ง พร้อมกับเงินเดือน โดยระบุว่าเป็นเงินโบนัส
เงินค่าน้ำและค่าไฟฟ้าเดิมจำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์ต่อเมื่อต้องมีใบเสร็จรับเงินมาแสดง แม้ต่อมาโจทก์จะไม่ต้องนำใบเสร็จมาแสดง และเหมาจ่ายให้แก่โจทก์เป็นประจำทุกเดือน ก็ตาม เห็นว่าค่าน้ำและค่าไฟฟ้า เป็นการจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการโดยแท้ ไม่มีเจตนาที่จะจ่ายให้เป็นเงินค่าจ้าง
เงินโบนัส เงินค่าน้ำ และเงินค่าไฟฟ้าจึงไม่ใช่เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาปกติ จึงไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง


คำพิพากษาฎีกาที่ 2246/2548
เงินจูงใจ นายจ้างตกลงจ่ายเฉพาะพนักงานที่ทำยอดขายได้ตามเป้าที่โจทก์กำหนด อันเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้พนักงานขายทำยอดขายเพิ่มขึ้น แม้จะจ่ายพร้อมกับกาจ่ายเงินเดือน ก็ไม่ใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง ไม่ใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน เงินจูงใจ จึงไม่ถือเป็นค่าจ้าง
















...........Jackie.........
Police Lieutenant Colonel chakgrid chukong
pan tram rod trow jag grid chu kong

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น