วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ฏีกาเกี่ยวกับฟ้องซ้อน

ฏีกาที่ 471/2541
 ....ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 4085/2538 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในคดีดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเอกสารหมาย ล.26 โจทก์ฟ้องนางพัชรี พังคะวิบูลย์ เป็นจำเลยที่ 1และจำเลยในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 28416 เลขที่ 28417 เลขที่ 28418 เลขที่ 28419และเลขที่ 917 พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 2, 2/1, 2/2 และ 2/3ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวตามลำดับ เดิมจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 28422 เลขที่ 30897 และเลขที่ 7225 ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ว่างอยู่ด้านหน้าที่ดินโจทก์ดังกล่าว โดยจำเลยตกลงยอมให้โจทก์และบุคคลที่ซื้อตึกแถวจากจำเลยใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเป็นที่จอดรถกลับรถและใช้ประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งจะจดทะเบียนภารจำยอมให้ ต่อมาจำเลยบ่ายเบี่ยงและขายที่ดินดังกล่าวให้นางพัชรีโดยฉ้อฉลและไม่สุจริตเพื่อหลบเลี่ยงไม่จดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์ ขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างนางพัชรีกับจำเลย และให้นางพัชรีกับจำเลยจดทะเบียนภารจำยอมที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวเป็นภารจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 28416, เลขที่ 28417, เลขที่ 28418และเลขที่ 28419 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนและห้ามมิให้รบกวนการใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาทสำหรับในคดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างเหตุเช่นเดียวกันว่า โจทก์มีสิทธิใช้ที่ดินภารจำยอมดังกล่าว แต่ไม่ได้ขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างนางพัชรีกับจำเลยและมิได้ขอให้จดทะเบียนภารจำยอมแก่โจทก์ โดยอ้างเพิ่มเติมเข้ามาว่าจำเลยให้นางพัชรีรบกวนการใช้สิทธิในที่ดินภารจำยอมโดยนำอิฐ หิน ปูน ทราย และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเข้ามาวาง ทำให้โจทก์ไม่มีทางเข้าออกไม่มีพื้นที่ว่างด้านหน้าตึกแถว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ใช้ค่าเสียหาย 
...ศาลฏีกาเห็นว่า คดีทั้งสองเรื่องนี้โจทก์อ้างสิทธิอย่างเดียวกันว่า ที่ดินโจทก์มีสิทธิภารจำยอมเหนือที่ดินพิพาทที่จำเลยโอนให้นางพัชรี โดยในคดีก่อนโจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนและจดทะเบียนภารจำยอม แต่ในคดีนี้โจทก์เรียกค่าเสียหายซึ่งค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ยอมให้ที่ดินพิพาทเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์นั่นเอง เมื่อค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์สามารถฟ้องเรียกได้ในคดีก่อนอยู่แล้ว แต่โจทก์ไม่เรียกกลับมาฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีนี้ ขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น