วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คำพิพากษาศาลฎีกา .... ติว นรต.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 304/2500


ตำรวจเบิกความว่า พอเกิดเหตุแล้ว จำเลยออกมาจากที่เกิดเหตุฆาตกรรม มีผู้ตามจำเลยติดมาชี้บอกให้จับจำเลยว่าแทงผู้ตายคำของตำรวจนี้เป็นพยานชั้นที่1 ไม่ใช่คำบอกเล่า แต่ถ้อยคำที่ผู้ตามจำเลยมาบอกแก่ตำรวจนั้น เป็นคำบอกเล่าคำบอกเล่าในขณะกระชั้นชิดทันที ซึ่งตามธรรมดายังไม่ทันจะมีช่องโอกาสคิดแกล้งปรักปรำศาลรับฟังประกอบพฤติเหตุอื่นๆ ลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนโดยเจตนาได้

________________________________

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อคืนวันที่ 11 มิถุนายน 2497 จำเลยบังอาจฆ่าโดยใช้มีดแทงนายประทินหรือสุทินตายโดยเจตนาเพราะพิษบาดแผลในคืนนั้น เหตุเกิดตำบลวงฆ้อง อำเภอพรมพิราม จังหวัดพิษณุโลกขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การปฎิเสธต่อสู้ว่า มีคนร้ายแทงผู้ตาย จำเลยเข้าแย่งมีดคนร้ายได้ จึงมอบแก่เจ้าพนักงาน
ศาลจังหวัดพิษณุโลกพิจารณาเห็นว่า แม้คดีนี้จะไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความชั้นศาล แต่มีพยานประพฤติเหตุแวดล้อมเพียงพอฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้กระทำร้ายนายสุทินตายโดยเจตนา มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249 ให้จำคุก 18 ปี คำรับของจำเลยชั้นอำเภอมีประโยชน์แก่ทางพิจารณาอยู่บ้าง ให้ลดฐานปรานีตาม มาตรา 59 ลง 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 12 ปี มีดของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังอ่อน ไม่มีน้ำหนักจะลงโทษจำเลยได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ในระหว่างฎีกา เว้นแต่จะมีประกันไปตามที่ศาลชั้นต้นจะพิจารณาเห็นสมควรส่วนมีดของกลางปรากฏว่า เป็นของใช้ในการกระทำผิดจริงคงให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ตามทางนำสืบที่ไม่โต้เถียงกัน ได้ความว่า นายสุทินมีอาชีพเล่นลิเกอยู่ในคณะของนายสวาสดิ์ ซึ่งนำมาแสดงที่วิกของนายฉุยพ่อตาจำเลยได้ 6-7 คืน ก็ถึงคืนเกิดเหตุ ซึ่งนายฉุยเจ้าของวิกจัดให้มีการฉายภาพยนต์แทนลิเกหยุดแสดง พวกลิเกคงพักอยู่บนเวทีเบื้องหลังจอภาพยนต์ในคืนนั้นเวลา 2 ทุ่มเศษ ภาพยนต์จวนฉายอยู่แล้วนายสุทินซึ่งอยู่บนเวทีหลังฉาก ได้ถูกคนร้ายแทงด้วยมีดปลายแหลมที่เหนือนมซ้าย และชายโครงขวารวม 2 แห่ง อยู่ได้สัก 2 นาทีก็ขาดใจตายเพราะพิษบาดแผลนั้น
โจทก์นำสืบว่า ก่อนภาพยนต์จะลงมือฉายเล็กน้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจมีนายสิบตำรวจเอกเสถียร เป็นหัวหน้าซึ่งไปรักษาการณ์คืนนั้นได้พากันไปรอดูภาพยนต์อยู่ในที่นั่งชั้น 2 ห่างจอสัก 8 วา ได้ยินเสียงดังปังข้างหลังจอ คล้ายของหนักกระทบพื้น ทันใดนั้นก็มีชายคนหนึ่งคือจำเลยนี้กำลังเดินออกมาจากด้านหลังของจอภาพยนต์ทางข้างจอ ติด ๆ กันนั้นก็มีนางเจียนภริยาโต้โผลิเกวิ่งตามมาในทางเดียวกันชี้มือร้องบอกให้ตำรวจจับจำเลย ขณะนั้นจำเลยมีกลิ่นสุรา เอามือกุมท้องตำรวจเข้าจับดึงมือออกก็พบมีดของกลางในฝักเหน็บพุงจำเลยอยู่ชักมีดออกดูยังเปื้อนเลือดสด ๆ สอบถามจำเลยซึ่งเป็นคนเคยรู้จักกันว่า เรื่องอะไรกันเล่าเตี้ยง จำเลยตอบว่า เรื่องอะไรเล่าเอาเข้าแล้ว 2 ที และพูดต่อไปว่า พวกลิเกประมาณ 10 กว่าคนลุมทำร้ายเขา ๆ จึงแทงป้องกันตัวไป แต่ไม่รู้ถูกที่ไหนบ้าง ตำรวจคนหนึ่งคุมตัวจำเลย อีก 3 คนเข้าไปที่หลังจอพบผู้ตายนอนจมกองเลือดอยู่ มีหญิงอยู่ด้วย 2 คน คือนางบุญมีภริยาผู้ตาย และนางเจียนหญิงทั้งสองนี้บอกว่าจำเลยแทงผู้ตาย ตำรวจที่ควบคุมนำส่งตัวไปยังนายร้อยตำรวจโท จินต์ นาคเสวี และอำเภอเป็นลำดับ ก็ยังคงรับอยู่ตลอดมา
จำเลยนำสืบว่า คืนเกิดเหตุสัก 2 ทุ่ม จำเลยเข้าไปหลังจอภาพยนต์ เพื่อตรวจดูประตูหลังของวิกกับคนลอบเข้าดูเปล่า ๆ พบพวกลิเกกำลังกินเหล้ากันอยู่ จำเลยกลับออกมา ต่อมาประมาณ 3 ทุ่มได้ยินคนพูดว่าทางหลังวิกเกิดทะเลาะกัน จำเลยจึงเข้าไปกับนายใช้นายรี เห็นผู้ตายนอนมีเลือดไหลที่หน้าอก มีชายแปลกหน้าคนหนึ่งยืนถือมีด เข้าใจว่าเป็นคนร้าย จำเลยกระโดดเข้าแย่งมีด มีดตกชายนั้นหนีไปได้ จำเลยเก็บมีดและฝักซึ่งหล่นอยู่ปลายเท้าผู้ตายเดินออกมาทางที่ผู้นั่งชมภาพยนต์หน้าเวทีพบเจ้าพนักงานตำรวจก็มอบมีดและเล่าเหตุการณ์
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาเห็นว่า คดีนี้โจทก์มีประจักษ์พยานสองปาก คือนางบุญมี ภริยาผู้ตายและนางเจียน ภริยาโต้โผลิเก เป็นคนต่างท้องถิ่นเพียงมาหากินทางลิเกที่นั่นชั่วคราวครั้นเกิดเหตุแล้วก็กลับถิ่นเดิมหาตัวยาก ถึงกระนั้นทางการก็พยายามติดต่อ จนในวันนัดสืบพยานครั้งแรกได้ตัวนางเจียนมาคนหนึ่งแต่ต้องเลื่อนไปเพราะขาดนางบุญมี พยานคู่ ต่อจากนั้นมาทางการจะพยายามสักเท่าไร ๆ ก็หาตัวไม่พบอีกทั้งสองคน แม้ในนัดแรกที่นางเจียนมานั้น ก็ได้ความจากเจ้าหน้าที่ว่า นางเจียนตัวสั่นงันงก กลัวอันตรายถูกขู่จะเอาชีวิตในการที่มาเป็นพยาน ลงท้ายเป็นอันไม่ได้ตัวมาสืบทั้งสองคน
ได้พิเคราะห์เทียบเคียงน้ำหนักคำพยาน ประกอบด้วยเหตุผลทางคดีแล้วเห็นว่า นายสิบตำรวจเอกเสถียร กับพวกไม่เคยมีสาเหตุอันใดกับจำเลย อันจะระแวงในทางแกล้งปรักปรำ ได้ประสพเหตุการณ์อย่างกระชั้นชิด ตามที่ยืนยันว่ามีนางเจียนตามติดจำเลยออกมาชี้ให้จับจำเลยหาว่า แทงผู้ตายนั้น คำยืนยันของตำรวจถึงเหตุการณ์ตามที่รู้เห็นมานี้นับว่า เป็นพยานชั้นที่ 1 ไม่ใช่คำบอกเล่า กล่าวคือฟังได้ว่านางเจียนได้ตามติดออกมาชี้ให้ตำรวจจับจำเลย หาว่าแทงผู้ตายจริง หากจะเป็นคำบอกเล่าก็คือถ้อยคำของนางเจียนที่บอกแก่ตำรวจนั้นเป็นคำบอกเล่าของนางเจียน อย่างไรก็ดีนางเจียนได้บอกในขณะกระชั้นชิดทันที ซึ่งตามธรรมดายังไม่ทันจะมีช่องโอกาสให้คิดแกล้งหาปรักปรำกัน ขณะนั้นจำเลยเอามือกุมท้องปิดบังไม่ให้ตำรวจเห็นมีดเปื้อนเลือด และฝักที่เหน็บพุงมีพิรุธอยู่เต็มตัว เมื่อตำรวจเข้าไปหลังจอ ไม่เห็นมีใครอื่นนอกจากผู้ตายภริยาผู้ตายกับลูกอ่อนและนางเจียนประตูหลังวิกก็ปิดตายถ้าไม่ใช่จำเลยแล้วจะเป็นใครทั้งจำเลยยังรับว่าแทงผู้ตายจริงต่อตำรวจผู้จับกุมชั้นแรกต่อนายร้อยตำรวจโท จินต์ และต่อนายอำเภอเป็นลำดับ แต่ในชั้นสอบสวนมีการโอ้เอ้ ลงท้ายจำเลยจึงเพิ่งให้การปฏิเสธซัดไปคนอื่นจำเลยเพียงเข้าแย่งได้มีดจากคนร้ายอื่น แต่ถึงกระนั้นก็ยังรับอยู่ว่า เคยรับต่อตำรวจว่า ใช้มีดแทงไป 2 ที แต่แก้ว่า เพราะความเกรงกลัวและตำรวจซักถามมากเข้าจึงรับไปอย่างนั้น ซึ่งเห็นว่าไม่มีเหตุผลอันควรรับฟัง
พยานจำเลยนำสืบไม่สม และไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยละเอียดแล้ว
คดีฟังได้ว่า จำเลยฆ่านายสุทินตายโดยเจตนาจริง ควรรับโทษดังที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดมา
จึงพิพากษากลับ ให้บังคับคดีลงโทษจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลจังหวัดพิษณุโลกทุกประการ

---------
84/2534
แจ้งแก้ไขข้อมูล
โจทก์มีแต่คำเบิกความของผู้เสียหายคนเดียวโดยขาดพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายมีน้ำหนักน้อยประกอบกับขณะที่เกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน จำเลยกับพวกรวม 4 คน รุม ชกต่อยทำร้ายผู้เสียหาย ผู้เสียหายสวมแว่นสายตา เป็นประจำ คนร้ายเอามือปิดตา และทำร้ายบริเวณใต้ตา จากลักษณะบาดแผลที่ตา ถ้าผู้เสียหายใส่แว่นตาแว่นตาน่าจะแตก เชื่อว่าแว่นสายตาของผู้เสียหายน่าจะหลุดตอนถูกคนร้ายเอามือปิดตา หรือหลุดหรือแตก ขณะถูกทำร้ายใต้ตา ผู้เสียหายอ้างว่าเห็นหน้าจำเลย ขณะที่ผู้เสียหายล้มลงจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าผู้เสียหายจะมองเห็นหน้าคนร้ายได้ชัดเจนหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227วรรคสอง.
-----------
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 37/2536
พนักงานอัยการ จังหวัด สตูล
โจทก์
นาย ประเสริฐ ศิริพันธ์
จำเลย

ป.วิ.อ. มาตรา 227

เกิดเหตุคนร้ายตีผู้ตายในเวลากลางคืน ในที่เกิดเหตุมีแสงไฟฟ้าจากที่อื่นส่องมาถึงเท่านั้น โจทก์คงมี ว. เป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว เมื่อเกิดเหตุแล้ว ว. ไม่ได้บอกคนอื่นว่าใครเป็นคนทำร้ายผู้ตาย ครั้นเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการชันสูตรพลิกศพและสอบปากคำ ว.ว. ก็ไม่ได้บอกเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับตัวคนร้ายเช่นเดียวกัน จึงไม่น่าเชื่อว่าในที่เกิดเหตุจะมีแสงสว่างพอให้ ว. จำคนร้ายได้ จำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่เพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยได้ และไม่ต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานจำเลย.

________________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 288
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ลงโทษจำคุก 20 ปี จำเลยนำสืบมีประโยชน์แก่การพิจารณาลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม คงลงโทษจำคุกจำเลย 13 ปี 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ ได้มีคนร้ายทำร้ายนายเฉลิม ชูแก้ว จนได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและทำการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสตูล ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2533 นายเฉลิมถึงแก่ความตายมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายวิชัยหรือหนึ่ง บุญรักษา เป็นพยานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุเวลา 20 นาฬิกา พยานและนายเฉลิมผู้ตายนั่งดื่มสุราอยู่ที่ร้านนายเจ๊ะหนุ่ย ผู้ตายพูดเสียงดัง จำเลยกับพวกซึ่งนั่งดื่มสุราที่ร้านนั้นด้วยแสดงอาการไม่พอใจผู้ตาย หลังจากที่พยานขึ้นไปร่วมหลับนอนกับผู้หญิงในร้านแล้วลงมาไม่พบผู้ตาย ได้ความว่าผู้ตายกลับไปแล้ว พยานจึงเดินตามผู้ตายไปทางแพปลาก็เห็นจำเลยใช้เหล็กสีดำ ๆ คล้ายค้อนตีผู้ตายที่บริเวณศีรษะ เห็นในระยะประมาณ50 เมตร ครั้นพยานเข้าไปใกล้ในระยะ 3 เมตร จำเลยก็ยังตีผู้ตายอยู่ พยานร้องห้าม จำเลยหันหน้ามามองแล้ววิ่งหลบหนีไป ในที่เกิดเหตุมีแสงไฟฟ้าส่องสว่างไปถึง โจทก์คงมีนายวิชัยเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว ประกอบกับคดีนี้เหตุเกิดในเวลากลางคืน นายวิชัยไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน ตรงที่เกิดเหตุคงมีแสงไฟฟ้าจากอาคารองค์การสะพานปลาส่องมาถึงเท่านั้น เมื่อเกิดเหตุแล้วนายวิชัยไปเรียกนายเสน่ห์ ขอจิตต์เมตต์ ให้ช่วยพาผู้ตายส่งโรงพยาบาลสตูล นายเสน่ห์ก็เบิกความว่า นายวิชัยไม่ได้บอกว่าใครเป็นคนทำร้ายผู้ตาย ครั้นนายวิชัยให้นายเสน่ห์ไปตามนายจบให้ไปพบที่โรงพยาบาล นายวิชัยก็เบิกความว่าพยานไม่ได้บอกนายจบว่าใครเป็นคนร้าย เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการชันสูตรพลิกศพและสอบปากคำนายวิชัย นายวิชัยก็เบิกความว่า พยานไม่ได้บอกเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับตัวคนร้าย ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อว่าในที่เกิดเหตุจะมีแสงสว่างพอให้นายวิชัยจำคนร้ายได้ ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน ตลอดจนชั้นพิจารณาจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยได้ ไม่ต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.


( เธียรไท สุนทรนันท - นำชัย สุนทรพินิจกิจ - สุชาติ สุขสุมิตร )


หมายเหตุ
ป.วิ.อ. มาตรา 227 บัญญัติว่า "ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำผิดนั้น
เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย"
คำว่า ถ้ามีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยให้กระทำผิดหรือไม่นั้น หมายถึงว่า ความสงสัยนั้นจะต้องเกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดตามฟ้องของจำเลย ไม่ใช่ยกเอาเหตุสงสัยในกรณีอื่นอันไม่มีส่วนเกี่ยวเนื่องหรือเป็นคนละเรื่องกันมารับฟังให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยและที่สำคัญประโยชน์แห่งความสงสัยที่จะให้เป็นผลดีแก่จำเลยนั้นจะต้องมีเหตุผลอันสมควรให้เกิดความสงสัย ข้อสงสัยที่ห่างไกลต่อเหตุผลย่อมไม่เป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 572/2500วินิจฉัยว่า ประโยชน์แห่งความสงสัยที่จะยกให้เป็นผลดีแก่จำเลยนั้นต้องมีเหตุผลอันสมควรให้เกิดความสงสัย ข้อสงสัยที่ห่างไกลต่อเหตุผลไม่เป็นเหตุให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์
คดีนี้ศาลวินิจฉัยว่า ที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากอาคารองค์การสะพานปลาเท่านั้น พยานไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน จึงเป็นที่สงสัยว่าพยานโจทก์จะจำคนร้ายได้หรือไม่ ถ้าพยานจำคนร้ายได้ ทำไมพยานจึงไม่บอกว่าใครเป็นคนร้ายให้คนที่มาช่วยพาผู้ตายไปส่งโรงพยาบาลหรือญาติผู้ตายตลอดจนพนักงานสอบสวนที่สอบปากคำพยานได้ทราบ ซึ่งเป็นข้อสงสัยที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดในคดีและเป็นข้อสงสัยด้วยเหตุผลอันสมควร จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย.
-------

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 330/2526
พนักงานอัยการจังหวัดระนอง
โจทก์
นายธวัช หรืออู๊ด ธาราสุข ที่ 1
จำเลย
นายสมหมาย เพชรจันทร์ ที่ 2
จำเลย

ป.วิ.อ. มาตรา 227

ตำรวจจับจำเลยที่ 2 ข้อหาฆ่า และจับจำเลยที่ 1 ในข้อหาจ้างวานใช้จำเลยที่ 2 ในวันเกิดเหตุนั้นเอง การสอบสวนทำในวันเดียวกับวันจับกุม พนักงานสอบสวนเบิกความว่าจำเลยที่ 1 รับสารภาพโดยสมัครใจแม้จะเป็นพยานบอกเล่าแต่เป็นคำรับที่เป็นผลร้ายแก่ตนเอง ย่อมมีน้ำหนักแก่การรับฟังได้

________________________________

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2524 เวลากลางวันถึงวันที่ 26 มกราคม 2524 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยที่ 1 ได้ใช้จ้างวาน จำเลยที่ 2 ให้ฆ่านายสมนึก เภาวิเศษ โดยตกลงให้เงิน 10,000 บาท เป็นค่าตอบแทน ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ได้ฆ่านายสมนึกเภาวิเศษ ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 เหตุเกิดที่ตำบลปากน้ำและที่ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2524 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนลูกซองสั้นใช้ยิงได้ ไม่มีหมายเลขทะเบียนจำนวน 1 กระบอก ปลอกกระสุนปืนลูกซอง 1 ปลอก ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมาย และบังอาจพกพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในเมืองโดยไม่รับอนุญาตทั้งไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามควรแก่พฤติการณ์ และไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย และตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาให้ยิงนายสมนึก เภาวิเศษ ถึงแก่ความตายดังรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้อง โดยเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน เหตุเกิดที่ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เจ้าพนักงานยึดอาวุธปืน ปลอกกระสุนปืน และหัวกระสุนปืนที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 7 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 พ.ศ. 2514 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 84, 86, 91 และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 84 วางโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) วางโทษประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 7 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 พ.ศ. 2519 ข้อ 6 จำคุก 2 ปี ฐานพกพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 5 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 พ.ศ. 2518 ข้อ 3, 7 จำคุก 1 ปี อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่จำเลยที่ 2 รับโทษถึงประหารชีวิตแล้ว ไม่อาจรวมโทษเข้าอีกได้ คำให้การชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละหนึ่งในสาม ประกอบด้วยมาตรา 52(1) คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ตลอดชีวิต ของกลางให้ริบ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ แต่คงถือได้ว่า ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษารวมไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ตามความในมาตรา 245 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2524 เวลาประมาณ 18.00 นาฬิกา ขณะที่นายสมนึก เภาวิเศษผู้ตายไปนั่งดื่มกาแฟร่วมกับคนอื่น ๆ ที่ร้านของนายอั้นซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับสามแยกธนาคารกรุงไทย ในตลาดเมืองระนอง ทันใดนั้นเองจำเลยที่ 2 มาที่หน้าร้าน เข้าไปในร้านแล้วใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงนายสมนึก เภาวิเศษ ถูกบริเวณกกหูด้านซ้าย 1 นัดถึงแก่ความตาย แล้วจำเลยที่ 2 ได้หลบหนีไปทางโรงเรียนอนุบาล และถูกเจ้าพนักงานจับกุมตัวได้พร้อมของกลางบางอย่างที่ซุกซ่อนในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง และในวันเดียวกันนั้นเองเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยที่ 1 มาดำเนินคดีในข้อหาฐานจ้างวานใช้ให้จำเลยที่ 2 ฆ่านายสมนึก เภาวิเศษผู้ตาย
โจทก์นำสืบว่า เมื่อเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับสารภาพและซัดทอดไปถึงตัวจำเลยที่ 1 เป็นผู้จ้างให้ไปฆ่าผู้ตาย ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1รับสารภาพ สาเหตุที่จำเลยที่ 1 ใช้จ้างวานจำเลยที่ 2 ไปฆ่าผู้ตาย เพราะโกรธแค้นที่ผู้ตายแจ้งให้ตำรวจจับรถยนต์จำเลยที่ 1 ที่เข้าไปวิ่งทับเส้นทางสัมปทานเดินรถยนต์โดยสารของบริษัทที่ผู้ตายเป็นผู้จัดการ
จำเลยที่ 1 นำสืบปฏิเสธความผิด ที่รับสารภาพชั้นสอบสวนเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจขู่เข็ญทำร้ายบังคับให้รับสารภาพ
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยเฉพาะจำเลยที่ 1 ว่าเป็นผู้จ้างวานใช้ให้จำเลยที่ 2 ไปฆ่าผู้ตายดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์มีนายสกลหรือกล แพวิเศษ เพียงลำพังปากเดียวที่อ้างว่ารู้เห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าก่อนหน้าเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 1 เคยไปว่าจ้างพยานให้ไปฆ่าผู้ตาย แต่มีเหตุจำเป็นพยานไม่อาจไปทำการให้ได้ นายสกลหรือกล แพวิเศษ พยานโจทก์ปากนี้มีส่วนร่วมกับการกระทำความผิดและตกเป็นผู้ต้องหาร่วมด้วยคนหนึ่ง แต่พนักงานสอบสวนกันไว้เป็นพยาน จึงเป็นพยานที่ไม่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์มิได้ถือเอาคำเบิกความของนายสกลหรือกล แพวิเศษ เพียงลำพังมาเป็นหลักเพื่อการวินิจฉัยในการรับฟังและเชื่อไปตามนั้นเสียทีเดียวศาลอุทธรณ์ ได้พิเคราะห์คำเบิกความพยานของโจทก์ปากอื่น ๆ ด้วย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ เชื่อว่าพนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลยที่ 1 ต่างก็ไม่มีสาเหตุกับจำเลยมาก่อน การจับกุมและสอบสวนได้มีขึ้นในวันเดียวกัน ร้อยตำรวจเอกชม หนูแป้นน้อย พนักงานสอบสวนก็เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 รับสารภาพโดยสมัครใจ มีน้ำหนักและเหตุผล ไม่มีเหตุชวนระแวงสงสัยเป็นอย่างอื่น ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ว่าถูกขู่บังคับไม่มีน้ำหนักรับฟัง เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 รับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ แม้จะเป็นพยานบอกเล่า แต่เป็นคำรับที่เป็นผลร้ายแก่ตนเองเช่นนี้ ย่อมมีน้ำหนักแก่การรับฟังได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
-------------------


ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2525
นายเป็น จะเรรัมย์
โจทก์
นายเจีย สมบูรณ์
จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา 1368, 1381
ป.วิ.พ. มาตรา 95, 104

โจทก์จำเลยพิพาทกันว่าใครมีสิทธิครอบครองที่พิพาท คำที่จำเลยได้เคยกล่าวกับบุคคลภายนอกว่า จำเลยรับจำนำที่นาแปลงพิพาทไว้จากโจทก์นั้น เป็นคำกล่าวที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของตนเอง ใช้ยันจำเลยได้
โจทก์กู้เงินจำเลยแล้วมอบที่นาให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยการที่จำเลยครอบครองทำกินในที่นาแปลงพิพาท และเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมานั้น เป็นการครอบครองแทนโจทก์

________________________________

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับเงิน 8,000 บาทจากโจทก์ แล้ว ส่งมอบที่นาแปลงพิพาทคืนให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่โจทก์จำเลยนำสืบไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า ที่นาแปลงพิพาทตั้งอยู่ที่บ้านสามแว่งต่อเขตบ้านถนน ตำบลสามแวง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เดิมเป็นของโจทก์ ที่นาแปลงนี้มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งทางราชการออกให้โจทก์เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2500 ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1ในปี พ.ศ. 2510 ที่นาแปลงพิพาทตกอยู่ในความครอบครองของจำเลยโดยโจทก์อ้างว่าโจทก์กู้เงินจำเลย 8,000 บาท แล้วมอบที่นาแปลงพิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย แต่จำเลยอ้างว่าจำเลยซื้อมาจากโจทก์ในราคา 8,000 บาท ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ได้กู้เงินจำเลยแล้วมอบที่นาแปลงพิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยจริงหรือไม่ แม้โจทก์มีตัวโจทก์ผู้เดียวเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ได้กู้เงินจำเลยจำนวน 8,000 บาท แล้วมอบที่นาแปลงพิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยทำสัญญากู้ที่บ้านนายเยียน ผู้ใหญ่บ้านบ้านถนน ตำบลสามแวง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ โดยนายเยียนผู้นี้น่าจะหมายถึงนายเยือน หินปราณี พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านถนน อันเป็นหมู่บ้านของจำเลยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502จนถึงปัจจุบัน นายเยียนหรือเยือนเป็นผู้เขียนสัญญากู้ซึ่งทำไว้เพียงฉบับเดียวและเป็นผู้เก็บรักษาสัญญากู้ดังกล่าว สัญญากู้ไม่มีกำหนดเวลา และโจทก์ได้มอบ น.ส.3 ของที่นาแปลงพิพาทให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน โจทก์ยังมีนายชื่น พารารัมย์ เจ้าของที่นาข้างเคียงกับที่นาแปลงพิพาท นายบุญช่วย บุญศิริ ผู้ใหญ่บ้านบ้านสามแวง อันเป็นหมู่บ้านของโจทก์ เป็นพยานสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ข้างต้น โดยพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเบิกความว่า ที่นาแปลงพิพาทเดิมเป็นของโจทก์และโจทก์เป็นผู้เข้าทำประโยชน์ต่อมาเห็นจำเลยเข้าทำ บุคคลทั้งสองสอบถามจำเลยได้ความว่า จำเลยรับจำนำที่นาแปลงพิพาทไว้จากโจทก์ นายชื่นพยานโจทก์ว่าการจำนำที่นาหมายถึงการกู้เงินแล้วมอบที่นาให้ผู้ให้กู้ทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อผู้กู้นำเงินไปชำระ ผู้ให้กู้ต้องคืนที่นาให้แก่ผู้กู้ และจำเลยบอกแก่นายบุญช่วยพยานโจทก์ว่า โจทก์นำจำที่นาแปลงพิพาทไว้ในราคา 8,000 บาท ไม่มีกำหนดไถ่จำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งในเรื่องนี้เป็นอย่างอื่น กรณีต้องฟังว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำเช่นว่านั้นแก่นายชื่นและนายบุญช่วยพยานโจทก์จริงดังที่บุคคลทั้งสองกล่าวอ้าง คำกล่าวของจำเลยเป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของตนเอง แม้เป็นพยานบอกเล่าก็รับฟังใช้ยันจำเลยได้ ประกอบกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่นาแปลงพิพาทของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์จัดส่งมาตามคำสั่งเรียกของศาลเป็น น.ส. 3 ฉบับ พนักงานเจ้าหน้าที่ มิใช่ฉบับของเจ้าของที่ดิน การที่ น.ส.3 ของที่นาแปลงพิพาทฉบับของเจ้าของที่ดินมิได้อยู่ที่โจทก์เป็นพฤติการณ์แวดล้อมแสดงให้เห็นว่า โจทก์คงจะได้เอามอบให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันดังข้ออ้างของโจทก์ พยานจำเลยที่รู้เห็นเกี่ยวกับการที่จำเลยซื้อที่นาแปลงพิพาทจากโจทก์ มีจำเลยกับนางบุญ สมบูรณ์ ภรรยาของจำเลย และนายเยือน หินปราณี ผู้ใหญ่บ้านบ้านถนน ส่วนพยานจำเลยนอกจากนั้นมิได้รู้เห็นในเรื่องนี้แต่อย่างใด ปรากฏว่าจำเลยและนายเยือนพยานจำเลยเบิกความแตกต่างขัดแย้งกันในข้อสำคัญ โดยจำเลยเบิกความว่า จำเลยซื้อที่นาแปลงพิพาทจากโจทก์เมื่อปี พ.ศ. 2510 ในราคา 8,000บาท หลังจากตกลงซื้อขายกันแล้ว โจทก์กับภรรยาได้มาขอรับเงินค่าที่ดินที่บ้านของจำเลยจำเลยชำระเงิน 8,000 บาทให้โจทก์แล้ว นายเยือนผู้ใหญ่บ้านบ้านถนน จึงมาที่บ้านจำเลยและได้ทราบเรื่องการซื้อขายที่นาแปลงพิพาทแต่นายเยือนพยานจำเลยเบิกความว่า เมื่อเดือน 3 ปี พ.ศ. 2511 นายเยือนไปเก็บภาษีบำรุงท้องที่จากราษฎรในหมู่บ้านแล้วไปที่บ้านจำเลย นายเยือนพบโจทก์กับภรรยาอยู่ที่บ้านจำเลยโดยโจทก์บอกขายที่นาแปลงพิพาทให้แก่จำเลยและตกลงราคากันได้ในราคา 8,000 บาท ตอนแรกจำเลยจะขอชำระเงินค่าที่ดินให้โจทก์ที่บ้านของนายเยือน แต่นายเยือนว่ามารู้เห็นแล้วชำระที่บ้านของจำเลยก็ได้ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่านายเยือนมารู้เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่แรก มิใช่มารู้เห็นหลังจากที่จำเลยได้ชำระเงินค่าที่ดินให้แก่โจทก์แล้วแต่อย่างใด การที่จำเลยขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่นาแปลงพิพาทให้ในปี พ.ศ. 2520 ดังปรากฏตาม น.ส.3 เอกสารหมาย ล.1 นั้นจำเลยได้อ้างต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ที่นาแปลงพิพาทเป็นที่นาที่จำเลยจับจองไว้เองและเป็นที่นาตกสำรวจอันเป็นการปกปิดความจริงและแสดงพิรุธอยู่ในตัว และปรากฏว่าสำนักงานที่ดินอำเภอเมืองบุรีรัมย์ และนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ค้นหาเรื่องราวการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่นาแปลงพิพาทของจำเลยไม่พอ คงพบแต่เรื่องราวการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่นาแปลงพิพาทของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.10 ดังปรากฏตามหนังสือของสำนักงานที่ดิน อำเภอเมืองบุรีรัมย์และนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2522 และ 14 กุมภาพันธ์ 2523 ตามลำดับ (รวมอยู่ในสำนวนตามสารบาญอันดับที่ 28 และ 33) ประกอบกับนายละอองจรัลรัมย์ พยานจำเลย ซึ่งเป็นกำนันตำบลสามแวง อำเภอเมืองบุรีรัมย์เบิกความว่า โจทก์ไม่ทราบ ถึงการที่จำเลยนำที่นาแปลงพิพาทไปขอออกน.ส.3 ด้วยเหตุนี้การที่โจทก์ มิได้คัดค้านการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่นาแปลงพิพาทของจำเลย จึงไม่เป็นเหตุที่จะถือเป็นพิรุธดังข้อตำหนิของศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีเหตุผลและมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังได้ว่าโจทก์ได้กู้เงินจำเลย 8,000 บาท แล้วมอบที่นาแปลงพิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย โจทก์หาได้ขายที่นาแปลงนี้ให้แก่จำเลยแต่อย่างใดไม่การที่จำเลยครอบครองทำกินในที่นาแปลงพิพาทและเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา เป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ จำเลยได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 โดยอ้างต่อโจทก์ว่า จำเลยได้ซื้อที่นาแปลงพิพาทมาจากโจทก์ ยังไม่ถึงหนึ่งปี โจทก์ก็ฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยจึงยังไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงพิพาท โดยสิทธิครอบครองที่ดินแปลงพิพาทยังคงเป็นของโจทก์อยู่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 1,500 บาท"


( กิติ บูรพรรณ์ - ชลูตม์ สวัสดิทัต - อุดม บรรลือสินธุ์ )


หมายเหตุ

---------

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1819/2532
อัยการ กรมอัยการ
โจทก์
ร้อยตำรวจตรี วิน วัน หวัง
จำเลย

ป.อ. มาตรา 268
ป.วิ.พ. มาตรา 95

จำเลยยอมรับต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่กองกำลังพล กรมตำรวจว่าจำเลยเป็นผู้แก้ไขตำแหน่งและเลขประจำตำแหน่งในบันทึกการขอบรรจุข้าราชการตำรวจที่ผู้บังคับบัญชาของจำเลยเสนอแต่งตั้งให้จำเลยดำรงตำแหน่งรองสารวัตรปกครองป้องกันสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่นเป็นตำแหน่งรองสารวัตรปกครองป้องกันสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามแม้คำรับดังกล่าวจะเป็นคำบอกเล่าก็ตาม แต่ก็เป็นคำบอกเล่าที่ทำให้ตนเองเสียประโยชน์ จึงรับฟังได้ จำเลยปลอมเอกสารบันทึกการขอบรรจุข้าราชการตำรวจอันเป็นเอกสารราชการขณะเอกสารดังกล่าวถูกส่งไปตามสายงานจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลถึงอธิบดีกรมตำรวจและยังคงค้างอยู่ที่กองกำลังพล กรมตำรวจย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กองกำลังพลกรมตำรวจ ที่จะเสนอเอกสารดังกล่าวไปตามลำดับจนถึงอธิบดีกรมตำรวจอยู่แล้ว จำเลยจึงมิใช่เป็นผู้ใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่กองกำลังพล กรมตำรวจ โดยวิธีแนบเรื่องไปตามลำดับจนถึงอธิบดีกรมตำรวจดังโจทก์ฟ้อง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268

________________________________

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันปลอมหนังสือบันทึกการขอบรรจุข้าราชการตำรวจให้ได้รับเงินเดือนตามวุฒิ อันเป็นเอกสารราชการของพลตำรวจโทเสน่ห์ สิทธิพันธ์ บันทึกเสนออธิบดีกรมตำรวจเพื่อบรรจุแต่งตั้งจำเลยซึ่งมียศสิบตำรวจเอก ซึ่งได้รับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิตให้ได้รับเงินเดือนตามวุฒิในตำแหน่งรอง สวป.สน.ประชาชื่น โดยจำเลยกับพวกได้ขูดลบข้อความ"รอง สวป.สน.ประชาชื่น" ออกแล้วพิมพ์ข้อความ "รอง สวป.สน.ชนะสงคราม"ลงไปแทนและขูดลบตัวเลขช่องตำแหน่งเลขที่ "สน.1-279" ออกแล้วพิมพ์เลขที่ "99" ลงไปแทน เพื่อให้อธิบดีกรมตำรวจหลงเชื่อว่าพลตำรวจโทเสน่ห์ สิทธิพันธ์ เสนอแต่งตั้งจำเลยให้ดำรงตำแหน่งรองสารวัตรปกครองป้องกันสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่พลตำรวจโทเสน่ห์ สิทธิพันธ์ อธิบดีกรมตำรวจและประชาชน และจำเลยได้นำเอกสารราชการปลอมแปลงดังกล่าวไปใช้และอ้างแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำลังพล กรมตำรวจโดยวิธีนำเอกสารปลอมดังกล่าวแนบเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาชั้นสูงตามลำดับจนถึงอธิบดีกรมตำรวจ เพื่อให้เชื่อว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารราชการที่แท้จริงจนอธิบดีกรมตำรวจแต่งตั้งจำเลยให้ดำรงตำแหน่งรองสารวัตรปกครองป้องกันสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่กองกำลังพล กรมตำรวจ พลตำรวจโทเสน่ห์สิทธิพันธ์ อธิบดีกรมตำรวจ และประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 และริบเอกสารปลอมจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 จำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหามีเพียงว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกปลอมและใช้เอกสารดังกล่าวตามฟ้องหรือไม่
ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วร้อยตำรวจตรีไพบูลย์ เบิกความตอบโจทก์ว่า ราวกลางเดือนมิถุนายน2523 ตำรวจที่ขอปรับคุณวุฒิกว่า 10 คนรวมทั้งจำเลยได้ไปติดตามเรื่องของแต่ละคนที่ร้อยตำรวจตรีไพบูลย์ จำเลยได้หยิบเอาแฟ้มเรื่องของจำเลยที่วางบนโต๊ะไปดูทางด้านหลังห้องทำงานของร้อยตำรวจตรีไพบูลย์ประมาณ 10-20 นาที จึงนำมาคืนและตอบค้านทนายจำเลยว่า เมื่อจำเลยนำแฟ้มมาคืนนั้น ร้อยตำรวจตรีไพบูลย์สังเกตว่ามีร่องรอยลบด้วยยาลบหมึกขาว ๆ แต่ก็มิได้สนใจโดยคิดว่าต้นสังกัดเป็นผู้แก้ไขคำเบิกความของร้อยตำรวจตรีไพบูลย์ดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาเห็นว่ารับฟังได้ เพราะร้อยตำรวจตรีไพบูลย์เป็นเพื่อนของจำเลยเข้ารับการอบรมเพื่อปรับคุณวุฒิรุ่นที่ 24 พร้อมกัน ทั้งร้อยตำรวจตรีไพบูลย์กับจำเลยก็ไม่มีสาเหตุกันมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะระแวงว่าร้อยตำรวจตรีไพบูลย์จะเบิกความปรักปรำจำเลย
นอกจากร้อยตำรวจตรีไพบูลย์แล้ว โจทก์ยังได้อ้างพันตำรวจตรีอาภรณ์ ไชยปะ ว่าที่พันตำรวจตรีบรรจง ตันศยานนท์พันตำรวจเอกสุเทพ ธรรมรักษ์ พันตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภและพลตำรวจตรีสนอง วัฒนวรางกูร มาเบิกความเป็นพยานว่าเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2523 หลังจากมีข่าวเรื่องคำสั่งแต่งตั้งจำเลยถูกแก้ไขแล้ว จำเลยได้มาที่กองกำลังพล พันตำรวจตรีอาภรณ์ และว่าที่พันตำรวจตรีบรรจงจึงได้เชิญจำเลยไปพบพันตำรวจเอกสุเทพพร้อมกับร้อยตำรวจตรีไพบูลย์ จำเลยก็ได้ยอมรับต่อพันตำรวจเอกสุเทพว่า จำเลยเป็นคนแก้ไขตำแหน่งและเลขประจำตำแหน่งในเอกสารหมาย จ.2 รุ่งขึ้นวันที่ 4 กันยายน 2523 เมื่อจำเลยมาพบพันตำรวจเอกวาสนา จำเลยก็ยอมรับต่อพันตำรวจเอกวาสนาต่อหน้าพลตำรวจตรีสนองว่า จำเลยเป็นผู้แก้ไขตำแหน่งและเลขประจำตำแหน่งในเอกสารหมาย จ.2 คำพยานโจทก์ดังกล่าวสอดคล้องต้องกัน และเป็นคำเบิกความของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไม่มีเหตุที่น่าสงสัยว่าจะเบิกความกลั่นแกล้งจำเลย แม้จะเป็นคำบอกเล่าแต่เป็นคำบอกเล่าที่ทำให้ตนเองเสียประโยชน์จึงรับฟังได้
นอกจากพยานดังกล่าวแล้ว พลตำรวจตรีธำรง ปิณฑะรุจิ และพลตำรวจตรีธวัช ทัพโพทยาน ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก็เบิกความอย่างเดียวกันว่า จำเลยได้ยอมรับต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้แก้ไขตำแหน่งและเลขประจำตำแหน่งในเอกสารหมาย จ.2 ดังปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.13
ตามเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมานี้ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกับพวกปลอมเอกสาร ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่มีพยานเห็นจำเลยลบข้อความเดิมและพิมพ์ข้อความใหม่ลงไปในเอกสารหมาย จ.2ก็รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกปลอมเอกสารนั้น
สำหรับข้อนำสืบของจำเลยที่ปฏิเสธว่า จำเลยมิได้ไปที่กองกำลังพลในระหว่างเดือนมิถุนายน 2523 มิได้ติดตามเรื่อง และในวันที่ 3และวันที่ 4 กันยายน 2523 จำเลยมิได้พบกับพันตำรวจตรีอาภรณ์พันตำรวจเอกสุเทพ พันตำรวจเอกวาสนา และพลตำรวจตรีสนองนั้น ปรากฏในคำให้การชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.20 ที่จำเลยปฏิเสธว่ามิได้กระทำผิดว่า จำเลยได้ไปติดตามเรื่องและพบร้อยตำรวจตรีไพบูลย์ที่กองกำลังพลเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2523 และประมาณเดือนสิงหาคม 2523 จำเลยและพวกได้เป็นผู้นำเรื่องบรรจุแต่งตั้งกลับคืนจากกระทรวงมหาดไทยพันตำรวจโทบรรจงจึงได้นำจำเลยไปพบพันตำรวจเอกวาสนา ข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวข้างต้นจึงรับฟังไม่ได้ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ด้วยนั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงได้ความว่าเอกสารหมาย จ.2 เป็นบันทึกข้อความของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลขอบรรจุแต่งตั้งข้าราชการตำรวจรวมทั้งจำเลยตามคุณวุฒิถึงอธิบดีกรมตำรวจแต่ในขณะที่เอกสารดังกล่าวถูกส่งไปตามสายงานและค้างที่กองกำลังพลจำเลยและพวกได้ร่วมกันแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น ดังนี้ จะว่าจำเลยเป็นผู้ใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่กองกำลังพลโดยวิธีแนบเรื่องไปตามลำดับจนถึงอธิบดีกรมตำรวจหาได้ไม่ เพราะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กองกำลังพลที่จะเป็นผู้เสนอเอกสารดังกล่าวไปตามลำดับจนถึงอธิบดีกรมตำรวจอยู่แล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอมิให้ลดโทษและรอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้นศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยให้การรับต่อหน้านายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้นจะว่าไม่เป็นประโยชน์แก่คดีหาได้ไม่ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้แก่จำเลยจึงชอบแล้ว แต่ในส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอการลงโทษแก่จำเลยนั้นศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นเรื่องร้ายแรง และเป็นเรื่องที่ข้าราชการไม่พึงปฏิบัติ จึงสมควรลงโทษจำเลยเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่นต่อไปฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงเหลือโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์


-----

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4113/2539

บาดแผลที่ผู้ตายได้รับเป็นบาดแผลฉกรรจ์เมื่อผู้ตายวิ่งมาขอความช่วยเหลือแล้วผู้ตายก็เงียบเสียงไปพูดไม่ได้อีกขณะนำผู้ตายส่งโรงพยาบาลมีผู้ถามอาการผู้ตายผู้ตายส่งเสียงฮือแล้วไม่พูดอะไรการที่ผู้ตายวิ่งมาขอความช่วยเหลือและบอกถึงคนที่ทำร้ายตนในโอกาสแรกเช่นนี้แสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวว่าผู้ตายรู้ตัวว่าตนจะต้องตายและผู้ตายไม่มีเวลาที่จะคิดปรักปรำบุคคลอื่นโดยไม่เป็นความจริงดังนั้นคำพูดของผู้ตายที่พูดบอกก่อนตายจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้

________________________________

โจทก์ ฟ้อง ว่า จำเลย ใช้ มีดปลายแหลม เป็น อาวุธ แทง ผู้ตายถึงแก่ความตาย โดย เจตนาฆ่า ขอให้ ลงโทษ ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้น พิพากษา ว่า จำเลย มี ความผิด ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 จำคุก 20 ปี
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกา วินิจฉัย ว่า ได้ความ จาก คำเบิกความ ของ นาย อุดม ว่า ขณะที่ พยาน รำวง กัน อยู่ ผู้ตาย วิ่ง มา ที่ พยาน และ พูด ว่า น้า ดม ช่วย ด้วย นาย เนา แทง ผม แล้ว แล้ว ผู้ตาย ก็ ล้ม และ เงียบ ไป จาก นั้น นาย กิตติกร กับพวก นำ ผู้ตาย ส่ง โรงพยาบาล และ ผู้ตาย ถึงแก่ความตาย ใน คืน นั้น กับ ได้ความ ตาม รายงาน การ ชันสูตรพลิกศพ ผู้ตาย ว่า ผู้ตายถูก แทง ด้วย ของ มีคม ที่ บริเวณ ราวนม ซ้าย ขนาด ยาว 2 เซนติเมตรลึก 0.5 เซนติเมตร ไม่ เข้า ทรวงอก และ มี บาดแผล ที่ ใต้ ชายโครง ซ้ายแนว เดียว กับ แผล แรก ขนาด ยาว 3 เซนติเมตร ทะลุ ถึง ใน ท้องมี ส่วน ของ ลำไส้ ทะลัก ออก มา สาเหตุ ที่ ทำให้ ตาย เนื่องจาก เสีย โลหิตมาก ใน ช่องท้อง เห็นว่า บาดแผล ที่ ผู้ตาย ได้รับ เป็น บาดแผล ฉกรรจ์โดยเฉพาะ บาดแผล ที่ 2 ทะลุ ช่องท้อง จน ลำไส้ ทะลัก ออก มา แสดง ว่าผู้ตาย ได้รับ บาดเจ็บ เป็น อย่างมาก เมื่อ ผู้ตาย วิ่ง มา ขอ ความ ช่วยเหลือจาก นาย อุดม แล้ว ผู้ตาย ก็ เงียบ เสียง ไป พูด ไม่ได้ อีก นาย กิตติกร ผู้นำ ผู้ตาย ส่ง โรงพยาบาล เบิกความ ว่า ระหว่าง ทาง ได้ ถาม อาการ ผู้ตายผู้ตาย ส่ง เสียง ฮือ แล้ว ไม่ พูด อะไร ดังนี้ เห็นว่า การ ที่ ผู้ตาย วิ่ง มาขอ ความ ช่วยเหลือ และ พูด กับ นาย อุดม ถึง คน ที่ ทำร้าย ตน ใน โอกาส แรก เช่นนี้ แสดง ให้ เห็น ได้ อยู่ ใน ตัว ว่า ผู้ตาย รู้ตัว ว่า ตน จะ ต้อง ตายและ ผู้ตาย คง ไม่มี เวลา ที่ จะ คิด ปรักปรำ บุคคลอื่น โดย ไม่เป็น ความจริงดังนั้น คำพูด ของ ผู้ตาย ที่ พูด บอก นาย อุดม ก่อน ตาย ดังกล่าว จึง มี น้ำหนัก ให้ รับฟัง ได้ ฎีกา ของ จำเลย ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

--------


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2537
พนักงานอัยการ จังหวัด พังงา
โจทก์
นาย สหัสหรือหัส ทองชิดหรือทองชิต กับพวก
จำเลย

ป.วิ.อ. มาตรา 227

คำบอกเล่าของผู้ตายที่บอกกับพยานขณะที่พยานเข้าไปช่วยห้ามเลือดที่คอของผู้ตายซึ่งถูกทำร้ายว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนทำร้ายผู้ตายนั้น ขณะนั้นผู้ตายยังรู้สึกตัวและไม่คิดว่าตนเองจะตายคำบอกเล่าดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟัง

________________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา33, 58, 80, 83, 91, 276, 288, 289 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 3 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 276 วรรคแรก, 289(7) ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด โดยให้ลงโทษฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา จำคุกคนละ 8 ปีกระทงหนึ่ง และฐานฆ่าผู้อื่น ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสามอีกกระทงหนึ่ง แต่เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้วจึงไม่อาจนำโทษจำคุกมารวมได้คงให้ลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 โดยถือว่าคดีมาสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา245 วรรคสอง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ นาง ส. ถูกคนร้ายพยายามข่มขืนกระทำชำเรา และใช้มีดเป็นอาวุธแทงถึงแก่ความตาย โดยผู้ตายมีบาดแผลถูกแทงด้วยของมีคมลึก 15 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร ตามรายงานชันสูตรศพของแพทย์ท้ายฟ้อง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ...การที่นายดำรงค์กับพวกระบุว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนร้าย ก็น่าจะสืบเนื่องมาจากคำบอกเล่าของผู้ตายซึ่งเรื่องนี้นายดำรงค์กับนางพิน เบิกความว่าเมื่อพยานทั้งสองไปถึงที่เกิดเหตุ ผู้ตายยังพูดได้ ผู้ตายบอกให้นางพินช่วยห้ามเลือดที่บริเวณคอและบอกว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนร้าย สำหรับนายพยูรเบิกความว่า เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ เห็นผู้ตายนอนอยู่ที่พื้นผู้ตายบอกนางพินให้ช่วยห้ามเลือดที่คอไม่ให้ออกมาก ผู้ตายยังคิดว่าตนเองไม่ตาย เห็นได้ว่า ขณะที่ผู้ตายบอกว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนร้าย ผู้ตายยังรู้สึกตัว และไม่คิดว่าตนเองจะตาย คำบอกเล่าของผู้ตายดังกล่าว จึงยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟัง พยานโจทก์ที่นำสืบมาไม่พอฟังลงโทษจำเลยทั้งสามได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน

-----------


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1554/2531
พนักงานอัยการ กรมอัยการ
โจทก์
นาย อนุรักษ์ หรือ ช้า ง หงษ์ตริกาล กับพวก
จำเลย

ป.วิ.อ. มาตรา 227

จำเลยทั้งสองเข้าไปพักในห้องเกิดเหตุกับผู้ตายเวลาประมาณ1 น. ออกจากห้องไปเวลาประมาณ 11 น. พบศพผู้ตายเวลาประมาณ13 น.เศษ แพทย์ทำการผ่าศพตรวจพิสูจน์เมื่อเวลา 18.40 น.สันนิษฐานว่าผู้ตาย ตายมาแล้วอย่างน้อย 12 ชั่วโมง อย่างมากไม่เกิน 15 ชั่วโมง ฉะนั้นเวลาที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นช่วงเวลาระหว่าง 4 ถึง 7 น. ของวันเดียวกันอันเป็นเวลาที่จำเลยทั้งสองยังมิได้ออกไปจากห้องที่เกิดเหตุ ไม่มีเหตุทำให้คิดได้ว่าจะมีผู้อื่นใดฆ่าผู้ตายพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีบ่งชี้อย่างใกล้ชิดว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมกันฆ่าผู้ตาย.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

________________________________

โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 20 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า '...ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามทางนำสืบของโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบโต้เถียงเป็นอย่างอื่นว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2525 เวลาประมาณระหว่าง 1นาฬิกา ถึง 3 นาฬิกา มีคนร้ายไม่ต่ำกว่า 2 คนร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายหญิงไม่ทราบชื่อจนถึงแก่ความตายในห้องพักเลขที่ 108 โรงแรมลัคกี้ ซอยสุขุมวิท 26 แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครโดยคนร้ายมีเจตนาฆ่าให้ตาย คืนวันเดียวกันนี้เวลาประมาณ 1นาฬิกา จำเลยทั้งสองได้ไปพักค้างคืนที่โรงแรมที่เกิดเหตุกับหญิงคนหนึ่ง และจำเลยทั้งสองได้ออกจากโรงแรมไปเมื่อเวลาประมาณ 10-11 นาฬิกา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่...
ในปัญหาที่ว่า จำเลยทั้งสองได้พาผู้ตายไปพักในห้องที่เกิดเหตุหรือไม่นั้นโจทก์มีประจักษ์พยานคือ นายสมบัติ สิงหะหรือสิงหา นายสุรชัย ไชยมี และนายรัศมี บัญชา พนักงานโรงแรมที่เกิดเหตุ ซึ่งต่างเบิกความว่าขณะที่ทำหน้าที่อยู่ เห็นจำเลยทั้งสองมากับผู้ตายและเข้าพักห้องที่เกิดเหตุ โดยพยานดังกล่าวต่างเบิกความว่า รู้จักจำเลยทั้งสองดี เพราะจำเลยทั้งสองเคยมาพักที่โรงแรมนี้หลายครั้ง มีไฟฟ้าสว่างจากทางเดินจากใต้บันไดขึ้นชั้นสองและในห้องพัก นายสมบัติเบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ตอนเข้าไปจอดรถจักรยานยนต์อยู่ใต้บันได และจำเลยที่ 2 กับผู้หญิงนั่งรถยนต์สี่ล้อเล็กเข้าไปแล้วเดินขึ้นบันไดไปชั้นสองด้วยกัน และนายสมบัติเป็นผู้ไปเปิดห้องพักให้จำเลยทั้งสอง โดยเปิดห้องที่เกิดเหตุนี้คนทั้งสามเข้าไปในห้องพักและสั่งอาหารและน้ำดื่ม แล้วนายสมบัติจึงไปสั่งอาหารและเครื่องดื่มให้ ส่วนนายสุรชัยเบิกความว่า เป็นผู้ยกน้ำและอาหารเข้าไปให้จำเลยในห้อง เมื่อเข้าไปมีไฟฟ้าเปิดสว่าง เห็นผู้ตายนอนอยู่บนเตียง และเห็นจำเลยทั้งสองชัดเจน พันตำรวจโทมารุต จันทร์นวล เบิกความว่า เมื่อไปตรวจห้องเกิดเหตุ และสอบถามนายสมบัติและนายสุรชัยถึงเรื่องผู้ที่มาพัก คนทั้งสองยืนยันว่าจำคนที่มาพักในห้องที่เกิดเหตุกับหญิงผู้ตายได้ เป็นคนที่มาพักเป็นประจำ ตลอดจนบอกถึงเครื่องแต่งกาย พาหนะคือรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขี่มาเป็นประจำ และรายละเอียดต่างๆ พันตำรวจโทมารุตได้บอกไว้ว่าหากชายดังกล่าวมาอีกให้แจ้งให้พยานทราบ ซึ่งต่อมาวันที่ 1ธันวาคม 2525 พยานก็ได้รับแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ไปพักที่โรงแรมเกิดเหตุกับหญิงคนหนึ่ง จึงได้ไปจับจำเลยที่ 1 โดยทั้งนายสมบัติและนายสุรชัยต่างได้ยืนยันว่าเป็นคนที่มากับผู้ตายในคืนเกิดเหตุ และเมื่อจำเลยที่ 1 พาไปที่บ้านจำเลยที่ 2พยานทั้งสองก็ยืนยันว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนที่มากับจำเลยที่ 1 และผู้ตายด้วย จำเลยทั้งสองเบิกความยอมรับว่า เคยไปพักที่โรงแรมเกิดเหตุเป็นประจำ ฉะนั้นข้อเท็จจริงนี้ ประกอบกับข้อที่มีแสงสว่าง และระยะเวลาที่พบเห็นนานพอสมควร กับข้อที่ได้ยืนยันต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันทีว่าจำคนร้ายได้ ทั้งได้ติดต่อให้เจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุม และชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับ แสดงว่าพยานจำคนร้ายได้ คดีจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้ไปพักที่ห้องเกิดเหตุในคืนเกิดเหตุกับผู้ตาย ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า ในคืนเกิดเหตุได้ไปพักอีกห้องหนึ่ง และผู้หญิงที่จำเลยทั้งสองไปพักด้วยเป็นนางสาวสุรีย์รัตน์ งามประเสริฐมิใช่ผู้ตาย โดยมีนางสาวสุรีย์รัตน์เบิกความเป็นพยานนั้นเห็นว่า นางสาวสุรีย์รัตน์ได้ให้การชั้นสอบสวนถึงสองครั้งครั้งแรกตามเอกสารหมาย จ.8 และครั้งหลังตามเอกสารหมาย จ.12 โดยในครั้งแรกให้การว่าคืนเกิดเหตุได้อยู่กับนายสมชาย เจริญเพชรซึ่งเป็นสามีที่ไม่ได้จดทะเบียน ต่อมาในภายหลังจึงได้ให้การใหม่ว่า คืนเกิดเหตุไต้ไปค้างคืนกับจำเลยทั้งสอง ซึ่งตรงกับคำเบิกความเป็นพยานต่อศาลเป็นการให้การกลับไปกลับมาขาดน้ำหนัก ทั้งนายสมชายเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าวันที่ 1 ธันวาคม2525 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ได้สอบถามว่า คืนเกิดเหตุนางสาวสุรีย์รัตน์อยู่ที่ใด พยานได้ตอบไปว่า ตั้งแต่เวลาประมาณ 1 นาฬิกาของวันที่ 29 พฤศจิกายน 2525นางสาวสุรีย์รัตน์อยู่กับพยาน โดยมีร้อยตำรวจตรีไพฑูรย์คุ้มสระพรหม เบิกความสนับสนุนความข้อนี้ ซึ่งตรงกับคำให้การฉบับแรกของนางสาวสุรีย์รัตน์ อันเป็นการให้การในเวลาที่ยังไม่มีโอกาสคิดปรุงแต่ง จึงฟังไม่ได้ว่า คืนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองไปพักที่โรงแรมที่เกิดเหตุกับนางสาวสุรีย์รัตน์ ส่วนในปัญหาที่ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันฆ่าผู้ตายหรือไม่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 1 นาฬิกา จำเลยทั้งสองได้ไปพักที่ห้องเกิดเหตุกับผู้ตาย และนายสมบัติเบิกความว่า คืนเกิดเหตุก่อนที่จำเลยทั้งสองจะเข้าพัก ไม่มีแขกเข้าพักในห้อง 108 มาก่อน และตลอดเวลาที่พยานอยู่ดูแลแขก คือจนถึงเวลา 6 นาฬิกา จำเลยทั้งสองกับผู้หญิงที่ไปพักมิได้ออกจากห้อง ซึ่งนายสุรชัยก็เบิกความยืนยันเช่นเดียวกันจำเลยทั้งสองก็เบิกความรับว่าได้ออกจากโรงแรมไปเมื่อเวลาประมาณ 11 นาฬิกา และปรากฏตามคำเบิกความของพันตำรวจตรีนายแพทย์สุขุม พันธ์เพ็ง ผู้ผ่าศพของผู้ตายออกตรวจพิสูจน์ ประกอบกับรายงานการตรวจศพท้ายฟ้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของพยานดังกล่าวว่า หญิงผู้ตายตายมาแล้วอย่างน้อย 12 ชั่วโมง อย่างมากไม่เกิน 15 ชั่วโมง โดยนับถึงเวลาเอาศพเข้าห้องเย็น ซึ่งปรากฏว่าโรงพยาบาลได้รับศพเวลา 18.40 นาฬิกาของวันที่ 29 พฤศจิกายน2525 ฉะนั้นเวลาที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นช่วงเวลาระหว่าง4 นาฬิกา ถึง 7 นาฬิกา ของวันเดียวกัน อันเป็นเวลาที่จำเลยทั้งสองยังมิได้ออกไปจากห้องเกิดเหตุ และไม่มีเหตุที่จะให้คิดได้ว่าจะมีผู้อื่นได้ฆ่าผู้ตาย พยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีดังกล่าวบ่งชี้ใกล้ชิดว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมกันฆ่าผู้ตาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้น'
พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.


( นิเวศน์ คำผอง - วิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์ - ไมตรี กลั่นนุรักษ์ )

--------

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1923/2536
พนักงานอัยการ จังหวัด สงขลา
โจทก์
นาย มงคล สุวัฒนะ
จำเลย

ป.อ. มาตรา 218
ป.วิ.อ. มาตรา 226

วันเกิดเหตุซึ่งเป็นเวลาใกล้ชิดกับเหตุเพลิงไหม้ จำเลยเป็นคนสุดท้ายที่เปิดประตูเข้าไปในสำนักงานที่ดิน โดยเข้าออกหลังเลิกงานซึ่งมีการปิดประตูหน้าต่างเรียบร้อยแล้วและเป็นเวลาก่อนเกิดเหตุไม่นาน ก่อนเกิดเหตุจำเลยถูกราษฎรฟ้องคดีอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการออก น.ส.3 ทับที่ดินผู้อื่น จำเลยย่อมต้องได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่อันเกี่ยวกับการมีอยู่ของเอกสารบางฉบับซึ่งอยู่ในความครอบครองของทางราชการ นับแต่จำเลยถูกฟ้องเป็นต้นมาจำเลยมีพฤติการณ์เข้าไปมีส่วนได้เสียกับแผนที่ระวาง ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญเกี่ยวข้องกับการออก น.ส.3 การเผาทำลายเอกสารครั้งนี้ย่อมเล็งเห็นเจตนาของผู้กระทำได้ว่ามุ่งหมายจะทำลายเอกสารทั้งหมด เพื่อไม่ต้องการให้เอกสารฉบับใดฉบับหนึ่ง ใช้เป็นพยานหลักฐานยันตนในการกระทำอันฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลยที่เข้าไปในสำนักงานที่ดินเป็นคนสุดท้ายก่อนเกิดเพลิงไหม้ไม่นาน แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิง แต่จากพยานแวดล้อมกรณีมีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิงเผาทรัพย์รายนี้เป็นเหตุให้ ส.ค.1 ประมาณ 30 แฟ้มและเพดานห้องบางส่วนบนอาคารสำนักงานที่ดินได้รับความเสียหาย จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218

________________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 จำคุก 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง มีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นในห้องเก็บเอกสารซึ่งอยู่บนอาคารชั้นสองของสำนักงานที่ดินอำเภอจะนะ มีผู้เห็นเหตุการณ์เข้าช่วยดับเพลิงอยู่นานประมาณ 1 ชั่วโมงเพลิงจึงสงบลง ปรากฎว่าต้นเพลิงเกิดขึ้นที่ชั้นเก็บเอกสาร ส.ค.1ภายในห้องเก็บเอกสาร เป็นเหตุให้ ส.ค.1 ประมาณ 30 แฟ้ม และเพดานห้องบางส่วนได้รับความเสียหายตามภาพถ่ายหมาย จ.2 และ ป.จ.3ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เกี่ยวกับสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้... ข้อเท็จจริงมีน้ำหนักฟังได้ว่าสาเหตุเพลิงไหม้เกิดจากการวางเพลิง ปัญหาว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิงเผาทรัพย์รายนี้หรือไม่ ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยรับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ที่ดิน 4 ประจำสำนักงานที่ดินอำเภอจะนะมีหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน... ห้องเก็บเอกสารที่เกิดเพลิงไหม้อยู่บนอาคารชั้นสองมีประตูเหล็กยืดด้านหน้าใช้เป็นทางเข้าออกทางเดียว ส่วนกุญแจประตูมีด้วยกัน 5 ดอก ผู้ถือกุญแจมีนักการภารโรง เจ้าหน้าที่การเงินรวมทั้งจำเลยด้วย ก่อนเกิดเหตุโจทก์มีนายประเสริฐเพชรสุวรรณ นักการภารโรงของสำนักงานที่ดินอำเภอจะนะเบิกความว่า วันเกิดเหตุเลิกงานแล้วเวลาประมาณ 16.30 นาฬิกา พยานปิดหน้าต่างทุกบานของตัวอาคารทั้งหมดคงเหลือไว้แต่ประตูด้านหน้ารออยู่จนกระทั่งนายเฉลิมพล พฤกษพัฒนพงษ์ ออกจากสำนักงานเป็นคนสุดท้ายและเป็นคนปิดประตู พยานจึงกลับบ้านไป หลังจากนั้นโจทก์มีนายดาบตำรวจวิรัช จิระโร และนายศักดา ราชธำรอง นักการภารโรงของที่ว่าการอำเภอจะนะเบิกความยืนยันทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุเวลาระหว่าง 16.30-17.30 นาฬิกา พยานทั้งสองกับพวกเล่นตะกร้อกันอยู่บริเวณหน้าสำนักงานที่ดินอำเภอจะนะ ซึ่งอยู่ติดต่อกับหน้าที่ว่าการอำเภอจะนะ หลังจากนายเฉลิมพลปิดประตูสำนักงานที่ดินแล้วต่อมาเวลาประมาณ 17 นาฬิกา มีรถยนต์กระบะคันสีขาวแล่นเข้าไปจอดหน้าสำนักงานที่ดิน เห็นจำเลยเปิดประตูสำนักงานที่ดินเข้าไปนานประมาณ 5 นาที จึงกลับออกมาพร้อมกับปิดประตู แล้วนั่งรถยนต์กระบะคันดังกล่าวออกไป เสร็จจากเล่นตะกร้อแล้ว นายดาบตำรวจวิรัชกลับบ้านไป ส่วนนายศักดายังอยู่คอยเชิญธงชาติลงจากเสาธง จนกระทั่งเวลา 17.50 นาฬิกา จึงปรากฏเพลิงไหม้ขึ้นที่อาคารชั้นสองของสำนักงานที่ดิน ซึ่งนายศักดาอ้างว่ายังคงอยู่ช่วยดับเพลิงจนกระทั่งเพลิงสงบลง ตามคำพยานโจทก์ข้างต้นรูปคดีมีเหตุผลเชื่อได้ว่าพยานโจทก์ทั้งสองอยู่ในที่เกิดเหตุจริง ส่วนที่พยานโจทก์ทั้งสองอ้างว่าเห็นจำเลยเปิดปิดประตูเข้าออกสำนักงานที่ดินเป็นคนสุดท้ายในวันเกิดเหตุนั้น ได้ความตามคำพยานโจทก์ทั้งสองว่า รู้จักจำเลยดีในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการประจำสำนักงานที่ดิน ทั้งการเปิดปิดประตูหน้าสำนักงานที่ดินในแต่ละครั้งนั้นมีเสียงดังได้ยินเป็นระยะทางไกล เพราะเป็นประตูเหล็กยืดส่วนระยะการมองเห็นนั้น นายดาบตำรวจวิรัชเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จุดที่เล่นตะกร้ออยู่ห่างจากหน้าสำนักงานที่ดินประมาณ 20 เมตรเท่านั้น จึงย่อมเป็นการสมเหตุผลที่พยานโจทก์ทั้งสองจะอ้างได้ว่าเห็นจำเลยเข้าออกสำนักงานที่ดิน แม้ในขณะที่ตนกำลังเล่นตะกร้ออยู่ก็ตาม อนึ่ง เมื่อคำนึงว่าพยานโจทก์ทั้งสองไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีข้อควรระแวงว่าจะเบิกความปรักปรำกัน คำพยานโจทก์ทั้งสองจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง และข้อนี้แม้จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลโดยอ้างฐานที่อยู่ว่าวันเกิดเหตุจำเลยออกจากสำนักงานที่ดินไปพร้อมกับนายปานจิตร พลเพชรตั้งแต่เวลา 16.30 นาฬิกา และไม่ได้ย้อนกลับมาอีก ก็ไม่มีน้ำหนักพอฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันเกิดเหตุซึ่งเป็นเวลาใกล้ชิดกับเหตุเพลิงไหม้จำเลยเป็นคนสุดท้ายที่เปิดประตูเข้าไปในสำนักงานที่ดิน ดังนี้ แม้ในช่วงเวลา 16.30นาฬิกา จะมีเจ้าหน้าที่อื่นทยอยกันออกจากสำนักงานที่ดินก็ตามก็เป็นเวลาเลิกงานตามปกติ ทั้งยังได้ความว่า ทันทีที่เลิกงานก็มีการปิดประตูหน้าต่างโดยรอบแล้ว นายประเสริฐซึ่งเป็นนักการภารโรงเบิกความว่า ไม่ได้กลิ่นเหม็นไหม้ใดในขณะปิดหน้าต่างอาคารชั้นบนส่วนจำเลยนี้ต่างจากผู้อื่นโดยได้เข้าออกสำนักงานที่ดินหลังเลิกงานซึ่งมีการปิดประตูหน้าต่างเรียบร้อยแล้ว และเป็นเวลาก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ไม่นานการกระทำของจำเลยจึงส่อพิรุธในเบื้องต้นนอกจากนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยเท่าที่ผ่านมานั้น โจทก์มีนายสันติชัย สุวรรณะเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอ และร้อยตำรวจตรีนรินทร์ คำแก่น พนักงานสอบสวนเบิกความต้องกันว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยถูกราษฎรฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการออก น.ส.3 ทับที่ดินของผู้อื่นที่ตำบลนาทับ ตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.4 ปรากฏตามสำเนาคำฟ้องฉบับนี้ว่า จำเลยกับพวกถูกฟ้องเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน2532 อันเป็นเวลาก่อนเกิดเหตุคดีนี้ประมาณ 4 เดือน แม้ว่าโจทก์จะมิได้นำสืบถึงผลคดีดังกล่าวดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม ก็เชื่อได้ว่าจำเลยย่อมต้องได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่อันเกี่ยวกับการมีอยู่ของเอกสารบางฉบับซึ่งอยู่ในความครอบครองของทางราชการ ทั้งนี้โดยได้ความจากคำเบิกความของนายศิวโรจน์วัชรอดิสัย และนายประเสริฐ พยานโจทก์ทั้งสองว่า ศาลเคยมีหมายเรียกถึงสำนักงานที่ดินให้ส่งแผนที่ระวางตำบลนาทับไปให้แต่แผนที่ระวางดังกล่าวสูญหายไป จำเลยจึงออกอุบายใช้ให้นายศิวโรจน์แกล้งทำเป็นเอาแผนที่ระวางดังกล่าวไปรังวัดแล้วอ้างว่าถูกโจรปล้นเอาไป แต่นายศิวโรจน์ไม่ยอมทำตาม และจำเลยยังเคยใช้ให้นายประเสริฐไปแจ้งความว่าแผนที่ระวางดังกล่าวถูกคนร้ายลักเอาไปหรือมิฉะนั้นก็ให้แจ้งความว่าตกน้ำไป แต่นายประเสริฐก็ไม่ยอมทำตามเช่นเดียวกัน ความดังกล่าวจำเลยหาได้นำสืบปฏิเสธไม่ เห็นว่า นับแต่จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีในข้อหาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นต้นมา จำเลยมีพฤติการณ์เข้าไปมีส่วนได้เสียกับแผนที่ระวางตำบลนาทับ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญเกี่ยวข้องกับการออก น.ส.3 อนึ่ง การเผาทำลายเอกสารครั้งนี้ย่อมเล็งเห็นเจตนาของผู้กระทำได้ว่า มุ่งหมายที่จะทำลายเอกสารทั้งหมดเพื่อไม่ต้องการให้เอกสารฉบับใดฉบับหนึ่งใช้เป็นพยานหลักฐานยันตนในการกระทำอันฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกอบกับพฤติการณ์อันเป็นพิรุธของจำเลยที่เข้าไปในสำนักงานที่ดินเป็นคนสุดท้ายก่อนเกิดเพลิงไหม้ไม่นาน ดังวินิจฉัยมาข้างต้น กรณีดังกล่าวแม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิงดังที่จำเลยฎีกาก็ตามแต่จากพยานแวดล้อมกรณีดังกล่าว มีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิงเผาทรัพย์รายนี้ จึงมีความผิดตามฟ้อง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

------


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4589/2539
พนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรี
โจทก์
นาย สัญญา แก้วตาสาม
จำเลย

ป.วิ.อ. มาตรา 227

แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่ได้รู้เห็นขณะที่จำเลยเข้าไปในห้องนอนของนางน. ผู้ตายเพื่อฆ่าข่มขืนผู้ตายและพยายามฆ่าเด็กชายจ. แต่โจทก์มีพยานแวดล้อมคือพนักงานสอบสวนตรวจพบเส้นขนอวัยวะเพศของจำเลยตกอยู่ในห้องที่เกิดเหตุและที่ร่างกายของจำเลยพบร่องรอยของการต่อสู้เป็นบาดแผลรอยถูกเล็บมือข่วน2แห่งที่ปลายแขนซ้ายด้านนอกและด้านหน้าอีกทั้งตรวจค้นพบของกลางเป็นนาฬิกาข้อมือของจำเลยที่สายหนังมีรอยคราบโลหิตติดอยู่ดังนี้พยานแวดล้อมของโจทก์จึงสอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยตลอดเพียงพอฟังลงโทษจำเลยได้

________________________________

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้กุญแจเลื่อนขนาดใหญ่เป็นอาวุธตีนางนภา มีชนะ อย่างแรงตามบริเวณศีรษะและใบหน้าหลายครั้งโดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและจำเลยยังใช้กุญแจเลื่อนดังกล่าวเป็นอาวุธตีเด็กชายจิรพงษ์ อารยพันธ์ผู้เสียหายหลายครั้งโดยเจตนาฆ่า จำเลยกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะแพทย์ทำการรักษาผู้เสียหายทันท่วงที ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตายเพียงแต่ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบ 80
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบ 80 และ 90 ให้ลงโทษตามมาตรา 288 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกตลอดชีวิต
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้โดยจำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 เวลา19 นาฬิกา จำเลยกับพวกมาดื่มสุราที่บ้านนายโล้ง อารยพันธ์สามีผู้ตาย โดยนายโล้งร่วมดื่มด้วย ผู้ตายช่วยทำกับข้าวและกับแกล้มมาให้รับประทาน เวลา 20 นาฬิกา จำเลยกับพวกไปงานศพที่วัดสระกระโจม ส่วนนายโล้งสามีผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ตามไปเวลา 24 นาฬิกาของวันเดียวกัน เมื่อนายโล้งสามีผู้ตายกลับมาถึงบ้าน พบผู้ตายนอนตายอยู่บนเตียงในห้องนอนภายในบ้าน บริเวณศีรษะและใบหน้าถูกตีด้วยของแข็งไม่มีคมหลายแห่งทำให้กะโหลกใบหน้าแตก ขากรรไกรหัก ถึงแก่ความตายโดยเฉียบพลันและเด็กชายจิรพงษ์บุตรผู้ตาย ถูกตีที่ร่างกายหลายแห่งจนสลบ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า พยานแวดล้อมของโจทก์เพียงพอฟังลงโทษจำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาเชื่อว่าในคืนเกิดเหตุจำเลยเข้าไปในห้องนอนของผู้ตาย เพื่อประสงค์จะร่วมประเวณีกับผู้ตายจึงมีเส้นขนอวัยวะเพศของจำเลยหลุดหล่นตกอยู่ในห้องเกิดเหตุ เมื่อผู้ตายไม่ยินยอมย่อมจะหยิกข่วนต่อสู้ ป้องกันตน จำเลยจึงมีบาดแผลรอยถูกเล็บมือข่วน2 แห่ง ที่ปลายแขนซ้ายด้านนอกและด้านหน้า เมื่อผู้ตายต่อสู้ขัดขืนจำเลยจึงใช้ของแข็งไม่มีคมตีทำร้ายผู้ตายโดยแรงบริเวณศีรษะและใบหน้าทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยเฉียบพลัน ผลของการตีดังกล่าวทำให้โลหิตออกจากแผลผู้ตายกระจายกระเซ็นไปติดทั่วบริเวณหัวเตียงนอนหมอนและผ้าปูที่นอน รวมทั้งติดเป็นคราบที่สายหนังนาฬิกาของจำเลยด้วยพยานแวดล้อมของโจทก์ดังกล่าวสอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยตลอดจึงเพียงพอฟังลงโทษจำเลยได้ ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าเด็กชายจิรพงษ์ ผู้เสียหายนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน

-----

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2500
อัยการจังหวัดชัยนาท
โจทก์
น.ส.ลำภา บุญศรี หรือลำยวน พุ่มบุญศรี
จำเลย

ป.วิ.อ. มาตรา 132
กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 334(2)
ป.อ. มาตรา 368

พนักงานสอบสวนมีคำสั่งบังคับให้ผู้ต้องหาเขียนชื่อลงในกระดาษเปล่า เพื่อส่งไปพิสูจน์กับลายมือที่ผู้นั้นต้องหาในเรื่องก่อน ทั้งนี้ ว่าเพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐาน ฯลฯ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131,132 ดั่งนี้ ไม่เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 มิได้ระบุไว้เลยว่าให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งเช่นนั้นได้

________________________________

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยต้องหาว่ามีสุราผิดกฎหมายพนักงานสอบสวนออกคำสั่งบังคับให้จำเลยเขียนชื่อในกระดาษฟุลสแก๊ป 1 หน้าเพื่อส่งไปพิสูจน์กับลายมือของจำเลยในเรื่องก่อนที่จำเลยต้องหาว่ามีสุราผิดกฎหมายเหมือนกัน ทั้งนี้ว่าเพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐานเพื่อให้รู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131, 132 จำเลยขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่งบังคับนั้น จึงขอให้ลงโทษฐานขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงาน
จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 มิได้ระบุไว้เลยว่าให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งบังคับให้ผู้ต้องหาเขียนชื่อลงในกระดาษเปล่าได้ คำสั่งบังคับให้จำเลยทำเช่นนั้นจึงไม่เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่ปฏิบัติตามจึงไม่มีผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน พิพากษายืน

--------

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1251/2494
อัยการภูเขียว
โจทก์
นางจันทา หาญแท้
จำเลย

กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 334(2)
ป.วิ.อ. มาตรา 11, 131, 132, 158

ฟ้องกล่าวว่าจำเลยขัดคำสั่งของพนักงานสอบสวน ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือของจำเลยลงในแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือในฐานะเป็นผู้ต้องหาในคดีผิด พระราชบัญญัติยาสูบ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 334(2) เพียงเท่านี้ ยังไม่พอจะให้เข้าใจว่าเป็นการสั่งให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบเรื่องเคยต้องโทษหรือว่าเพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวนหลักฐาน อันเป็นข้อสาระสำคัญ ที่จะแสดงว่า ได้สั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 ฉะนั้นจึงยังลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้

----







พันตำรวจโทจักรกฤช ชูคง
ผบ.ร้อย ฝ่ายปกครอง ๑ (กองร้อยที่ ๔)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น