หลักการครองคน
หลักการครองคน ประกอบด้วยหลักธรรมดังต่อไปนี้
๑. รู้จักหลักปฏิบัติต่อกันด้วยดี ระหว่างผู้บังคับบัญชากับลูกน้อง หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ชื่อ “เหฏฐิมทิศ” มีเนื้อความว่า
“เหฏฐิมทิศ” คือ ทิศเบื้องต่ำ เจ้านาย หรือผู้บังคับบัญชา พึงบำรุงบ่าว คือผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยสถาน ๕ คือ
๑.๑ ด้วยการจัดงานให้ตามกำลัง กล่าวคือ มอบหมายหน้าที่การงานให้ตามกำลังความรู้ สติปัญญา ความสามารถ (Put the right man on the right job - รู้จักใช้คนให้ถูกกับงาน)
๑.๒ ด้วยการให้อาหารและบำเหน็จรางวัล กล่าวคือ เมื่อทำดี ก็รู้จักยกย่องชมเชย และ/หรือ สนับสนุน อุดหนุน ให้ได้รับบำเหน็จรางวัล เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งตามสมควรแก่ฐานะ เมื่อทำไม่ดี ก็ให้คำตักเตือน แนะนำ สั่งสอน ให้พัฒนาสมรรถภาพให้ดีขึ้น ถ้าไม่ยอมแก้ไขพัฒนาตนให้ดีขึ้น ก็ต้องตำหนิ และมีโทษตามกฎเกณฑ์ โดยชอบธรรม
๑.๓ ด้วยการรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ กล่าวคือ ต้องรู้จักดูแลสารทุกข์ สุกดิบของ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ไม่เป็นผู้แล้งน้ำใจ คือไม่ปฏิบัติกับลูกน้อง หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
๑.๔ ด้วยแจกของมีรสดีแปลกๆ ให้กิน หมายความว่า ให้รู้จักมีน้ำใจแบ่งปันของกิน ของใช้ดีๆ ให้ลูกน้อง
๑.๕ ด้วยปล่อยในสมัย คือ รู้จักให้ลูกน้อง หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้ลาพักผ่อนบ้าง
ส่วนบ่าว หรือลูกน้องผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เมื่อเจ้านาย หรือผู้บังคับบัญชา ทำนุบำรุงอย่างนี้แล้ว ก็พึงปฏิบัติอนุเคราะห์เจ้านาย ผู้บังคับบัญชาด้วยสถาน ๕ ตอบแทนด้วยเช่นกัน คือ
(๑) ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย คือ ให้รับสนองงานผู้บังคับบัญชาด้วยความขยันขันแข็ง ควรมาทำงานก่อนนาย หรือผู้บังคับบัญชา อย่างน้อย ก็มาให้ทันเวลาทำงาน ไม่มาสายกว่านาย หรือ สายกว่าเวลาทำงานตามปกติ
(๒) เลิกการทำงานทีหลังนาย คือ ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง แม้เลิก ก็ควรเลิก ทีหลังนาย หรือผู้บังคับบัญชา อย่างน้อยก็อยู่ทำงานให้เต็มเวลา ไม่หนีกลับก่อนเวลาเลิกงาน
(๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้ คือ มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ไม่คดโกงนาย หรือผู้บังคับ บัญชา ไม่คอร์รัปชั่น ไม่เรียกร้องต้องการโดยไม่เป็นธรรม หรือเกินเหตุ
(๔) ทำงานให้ดีขึ้น คือ ต้องรู้จักพัฒนาคุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถ และวิสัยทัศน์ในการ ทำงาน ให้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพสูง
(๕) นำคุณของนายไปสรรเสริญ คือ รู้จักนำคุณความดีของเจ้านาย ผู้บังคับบัญชา ไปยกย่อง สรรรเสริญ ตามความเป็นจริง ในที่และโอกาสอันสมควร
กล่าวโดยย่อ ผู้บังคับบัญชา กับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา พึงปฏิบัติต่อกัน ดังคำนักปกครอง นักบริหารแต่โบราณกล่าวว่า
“อยู่สูงให้นอนคว่ำ อยู่ต่ำให้นอนหงาย”
“อยู่สูงให้นอนคว่ำ” หมายความว่า เป็นผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชา หรือเป็นผู้นำคน พึง ดูแลเอาใจใส่ ทำนุบำรุง ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือลูกน้องด้วยดี คือด้วยความเป็นธรรม ตามหลักธรรมของ พระพุทธเจ้า ตามที่กล่าวข้างต้นนี้ เพื่อให้ลูกน้อง หรือผู้ใต้บังคับบัญชา มีขวัญกำลังใจในการสนองงาน ได้เต็มที่ อย่าให้ลูกน้อง หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เกิดความรู้สึกท้อถอย ว่าทำดีสักเท่าใด ผู้ใหญ่ ก็ไม่เหลียวแล ดังคำโบราณท่านว่า
มีปาก ก็มีเปล่า เหมือนเต่าหอย
เป็นผู้น้อย แม้ทำดี ไม่มีขลัง
หรืออย่าให้ลูกน้อง หรือผู้ใต้บังคับบัญชา เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า ผู้ใหญ่ไม่ ยุติธรรม มักเลือกปฏิบัติไม่เสมอกัน ดังคำที่ว่า
(เรา) ทำงานทั้งวัน ได้พันห้า
(ส่วนคนอื่น) เดินไปเดินมา ได้ห้าพัน
“อยู่ต่ำให้นอนหงาย” หมายความว่า ลูกน้อง หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ก็พึงปฏิบัติตน ต่อเจ้านาย หรือผู้บังคับบัญชาด้วยดี รับสนองงานท่านด้วยความยินดี ด้วยใจจริง และทำงานด้วย ความเข้มแข็ง ตามหลักธรรม คือ “เหฏฐิมทิศ” ดังที่กล่าวมาแล้ว
๒. เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ (Human Relation) ที่ดี ด้วยคุณธรรม คือ พรหมวิหารธรรม และสังคหวัตถุ
พรหมวิหารธรรม คุณธรรมเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ ๔ ประการ
(๑) เมตตา คือ ความรัก ปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นอยู่ดีมีสุข
(๒) กรุณา คือ ความสงสาร ปรารถนาให้ผู้มีทุกข์ เดือดร้อน ให้พ้นทุกข์
(๓) มุทิตา คือ ความพลอยยินดี ที่ผู้อื่นได้ดี ไม่คิดอิจฉาริษยากัน
(๔) อุเบกขา คือ ความวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายเมื่อผู้อื่นถึงซึ่งความวิบัติ โดยที่เราก็ช่วย อะไรไม่ได้ ก็ต้องปล่อยวางใจของเราเองด้วยปัญญา ตามพระพุทธพจน์ว่า “สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม”
สังคหวัตถุธรรม ๔ ประการ คือ
(๑) ทาน รู้จักให้ปัน สิ่งของ ของตน แก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน
(๒) ปิยวาจา รู้จักเจรจาอ่อนหวาน คือ กล่าวแต่วาจาที่สุภาพอ่อนโยน
(๓) อัตถจริยา รู้จักประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
(๔) สมานัตตตา เป็นผู้มีตนเสมอ คือ ไม่ถือตัวเย่อหยิ่ง จองหอง อวดดี
คุณธรรม ๔ ประการนี้ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้อื่นไว้ได้ และยังความสมัคร สมานสามัคคี ให้เกิดขึ้นระหว่างกันและกันด้วย หรือจะเรียกว่า เป็น “หลักธรรมมหาเสน่ห์” ก็ได้
หลักธรรมาภิบาล
หลักธรรมาภิบาล คือคุณธรรมของนักปกครองนักบริหารที่ดี (Good Governance) คือ
๒.๑ หลักความถูกต้อง คือ มีการพิจารณาวินิจฉัยปัญหา การทำการตัดสินใจ (Decision Making) และสั่งการ (Command) ด้วยความถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมือง และกฎระเบียบข้อบังคับ ขององค์กรที่ออกตามกฎหมาย ถูกต้องตามหลักศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีของสังคม ถูกต้อง ตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาหน่วยเหนือ และถูกต้องตรงประเด็นตามหลักวิชา และได้รับความพึงพอใจ จากชนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
๒.๒ หลักความเหมาะสม คือ รู้จักคิด พูด ทำ กิจการงาน และปฏิบัติงานได้เหมาะสม ถูกกาละ เทศะ บุคคล สังคม และสถานการณ์ (มีสัปปุริสธรรม)
สัปปุริสธรรม คือ คุณธรรมของสัตบุรุษ คือคนดีมีศีลธรรม มี ๗ ประการ คือ
๓.๑ ธัมมัญญุตา รู้จักเหตุ ได้แก่ ปัญญารู้เหตุแห่งทางเจริญ และทางเสื่อม เป็นต้น
๓.๒ อัตถัญญุตา รู้จักผล ได้แก่ ปัญญารู้ผล ที่เป็นมาแต่เหตุ หรือปัจจัยให้เกิดผลต่างๆ ตามที่เป็นจริง
๓.๓ อัตตัญญุตา รู้จักตน คือ รู้ภูมิธรรม ภูมิปัญญา และฐานะของตน ตามที่เป็นจริง แล้ววางตนให้เหมาะสมแก่ฐานะ
๓.๔ มัตตัญญุตา รู้จักประมาณตน ปฏิบัติตน วางตน ให้เหมาะสมแก่ฐานะ และรู้จัก ประมาณในการบริโภคใช้สอยทรัพย์ที่มีอยู่ และตามมีตามได้
๓.๕ กาลัญญุตา รู้จักกาล คือ รู้จักเวลา หรือโอกาสที่ควร และไม่ควรพูด หรือกระทำ การต่างๆ
๓.๖ ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน ว่ามีอัธยาศัยใจคอ ฐานะความเป็นอยู่ และขนบธรรมเนียม ประเพณีของหมู่ชนต่างๆ เพื่อให้รู้จักวางตัวให้เหมาะสม
๓.๗ ปุคลัญญุตา รู้จักบุคคล ว่ามีอัธยาศัยใจคอ มีภูมิธรรม ภูมิปัญญา และมีฐานะอย่างไร เพื่อปฏิบัติตน หรือวางตน ให้เหมาะสมตามฐานะของเราและของเขา
๒.๓ หลักความบริสุทธิ์ คือ มีการวินิจฉัย สั่งการ กระทำกิจการงาน ด้วยความบริสุทธิ์ใจ คือ ด้วยเจตนา ความคิดอ่าน ที่บริสุทธิ์
๒.๔ หลักความยุติธรรม คือ มีการวินิจฉัย สั่งการ และปฏิบัติต่อผู้อยู่ใต้ปกครอง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ด้วยความชอบธรรม บนพื้นฐานแห่งหลักธรรม หลักการ เหตุผล และข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และตรงประเด็น และด้วยความเที่ยงธรรม คือ ไม่อคติ หรือลำเอียงด้วยความหลงรัก หลงชัง ด้วยความกลังเกรง และด้วยความหลง ไม่รู้จริง คือขาดข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ และสมบูรณ์ เป็นเครื่อง ประกอบการวินิจฉัย ตัดสินใจ ให้ความเที่ยงธรรม
หลัก “ธรรมาภิบาล” นี้ เมื่อกระจายเป็นข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สำหรับพระราชา มหากษัตริย์ ที่ทรงใช้ปกครองพระราชอาณาจักร ให้อาณาประชาราษฎร์อยู่เย็นเป็นสุข ชื่อว่า “ทศพิธราชธรรม” อันผู้ปกครอง/ผู้บริหารประเทศชาติทุกระดับ และแม้ผู้บริหารองค์กรอื่นๆ พึงใช้ประกอบ การปฏิบัติงานของตน ให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนโดยส่วนรวม ได้เป็นอย่างดี
“ทศพิธราชธรรม” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณอันประเสริฐของเรา ได้ทรงถือ เป็นหลักปฏิบัติ ในการครองพระราชอาณาจักร ให้พสนิกรของพระองค์อยู่เย็นเป็นสุข เป็นที่ประจักษ์ตา ประจักษ์ใจแก่ชนชาวโลกเสมอมานั้น มี ๑๐ ประการ ตามพระพุทธภาษิตดังต่อไปนี้ คือ
๑) ทาน การให้
๒) ศีล การสังวรระวังกายและวาจา ให้เรียบร้อยดีไม่มีโทษ
๓) ปริจจาคะ การเสียสละ
๔) อาชชวะ ความซื่อตรง
๕) มัททวะ ความสุภาพอ่อนโยน
๖) ตปะ ความเพียรเพ่งเผากิเลส
๗) อักโกธะ ความไม่โกรธ
๘) อวิหิงสา การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตลอดทั้งสัตว์ให้ได้ทุกข์ยาก
๙) ขันติ ความอดทน
๑๐) อวิโรธนะ ความประพฤติปฏิบัติที่ไม่ผิดทำนองคลองธรรม และดำรงอาการคงที่ ไม่หวั่นไหว ด้วยอำนาจยินดียินร้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น